สารบัญเนตติ ห้วเรื่อง, เลขข้อ | เนตติไฟล์เดียว html, text

เนตติปกรณ์แปล ข้อ 000 (1. สังคหวาระ)

       [0] ชาวโลกพร้อมทั้งทวยเทพผู้รักษาโลก ย่อมนอบน้อมบูชาพระพุทธเจ้า ผู้ประเสริฐพระองค์ใดในกาลทุกเมื่อ บัณฑิตทั้งหลายพึงทราบคำสอนอันประเสริฐ ของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐพระองค์นั้น
       (ศาสนาทั้ง 3 ประการ เรียกว่าคำสอนอันประเสริฐ, ในบรรดาศาสนา 3 ประการเหล่านั้น ปริยัติศาสนาชื่อว่า สูตร). สูตรมี 12 บท, สูตรทั้งปวงนั้นจัดเป็นพยัญชนบท (ศัพท์) และอรรถบท (อรรถ) ซึ่งทั้ง 2 อย่างนั้น พึงทราบโดยสังเขปว่า ศัพท์คืออะไร อรรถคืออะไร
       คัมภีร์เนตติที่มีหาระ 16, นัย 5, มูลบท 18 ซึ่งช่วยให้เข้าใจปริยัติศาสนานี้ พระมหากัจจายนเถระได้แสดงไว้
       หาระทั้งทั้งหลายช่วยในการพิจารณาศัพท์ของสูตร, นัย 3 อย่าง (คือ นันทิยาวัฏฏนัย ติปุกขลนัย สีหวิกกีฬิตนัย) ช่วยในการพิจารณาอรรถของสูตร, หาระ และ นัย ทั้ง 2 อย่างนั้น สามารถนำไปใช้ในสูตรทั้งปวงได้, คัมภีร์เนตติที่เป็นสังวรรณนาสูตรนี้ ย่อมขยายความตามสมควรแก่สังวัณเณตัพพสูตร (สูตรที่ควรขยาย)
       ผู้ศึกษาพึงทราบพระบาลีและอรรถแห่งพระบาลีทั้งสองอย่างนั้น. ในการศึกษานั้น หาระ และนัยที่จะกล่าวเป็นลำดับต่อไปนี้ เป็นเครื่องช่วยให้เข้าใจ อรรถแห่งพระพุทธพจน์ อันมีองค์ 9
       สังคหวาระ จบ
       สังคหวาระ คือ คำที่กล่าวโดยย่อ ซึ่งเป็นบทนำของคัมภีร์ ในสังคหวาระนี้ท่านแสดงการนอบน้อมบูชา พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้ชอบโดยพระองค์เอง แล้วทรงประกาศศาสนาไว้ในโลก นอกจากนี้ยังแสดงโครงสร้างของคัมภีร์เนตติด้วย
       คำว่า โลก ในที่นี้หมายถึงหมู่สัตว์ ส่วนผู้รักษาโลก ได้แก่ท้าวมหาราช 4 พระองค์ คือ พระอินทร์ พระยม ท้าววรุณ และท้าวกุเวร อีกนัยหนึ่ง ได้แก่บุคคลผู้มีคุณธรรม 2 อย่าง คือ หิริ และโอตตัปปะ
       พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศศาสนาไว้ 3 ประการ คือ ปริยัติศาสนา ปฏิบัติศาสนา และปฏิเวธศาสนา ใน 3 อย่างนั้น ปริยัติศาสนาชื่อว่า สูตร (หรือพระบาลี) สูตรทั้งปวงแบ่งออกเป็น 12 บท หรือ 12 ส่วน คือ พยัญชนะ (ศัพท์) 6 และอรรถะ 6. พยัญชนะ คือ ถ้อยคำที่ให้รู้ความหมาย ส่วนอรรถะ คือ เนื้อความของสูตรและกิริยาที่ให้รู้ความหมาย สำหรับรายละเอียดจะแสดงในนิทเทสวาระข้างหน้า
       ปริยัติศาสนา หมายถึงหลักธรรมคำสอนในขั้นของการศึกษา นับว่ามีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นรากฐานแห่งการปฏิบัติและการบรรลุผล แต่ปริยัติศาสนานั้นมีความละเอียดลึกซึ้ง มิใช่คนทั่วไปจะเข้าใจได้ง่าย เมื่อไม่เข้าใจชัดก็ปฏิบัติไม่ถูก ดังนั้นพระมหากัจจายนเถระผู้ประกอบด้วยปฏิสัมภิทาญาณแตกฉานในพระไตรปิฎก และได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นผู้เลิศในทางขยายความย่อให้พิสดาร จึงรจนาคัมภีร์เนตตินี้ขึ้นเพื่ออธิบายขยายความ แนะแนวพระไตรปิฎกให้ทราบพุทธประสงค์ และเข้าใจปริยัติศาสนาอย่างถูกต้องชัดเจน คัมภีร์เนตตินี้ประกอบด้วย หาระ 16, นัย 5, มูลบท 18
       คัมภีร์นี้ชื่อว่า “เนตติ” เพราะสามารถนำเวไนยสัตว์ทั้งหลายไปสู่มรรคผลนิพพาน หรือเป็นเครื่องแนะนำ หรือเป็นที่แนะนำเวไนยสัตว์ทั้งหลายไปสู่มรรคผลนิพพาน ดังมีวิเคราะห์ว่า นยตีติ เนตติ เนตฺติ = คัมภีร์ใดย่อมนำเวไนยสัตว์ทั้งหลายไปสู่มรรคผลนิพพาน เพราะเหตุนั้น คัมภีร์นั้น ชื่อว่า เนตติ หรือ นยนฺติ เอตายาติ เนตฺติ = บุคคลผู้แสดงธรรมทั้งหลายย่อมแนะนำเวไนยบุคคลด้วยคัมภีร์นี้ เพราะเหตุนั้น คัมภีร์นั้น ชื่อว่า เนตติ หรือ นียนฺติ เอตฺถาติ เนตฺติ = เวไนยบุคคลทั้งหลายอันบุคคลผู้แสดงธรรมย่อมแนะนำคัมภีร์นี้ เพราะเหตุนั้น คัมภีร์นั้น ชื่อว่า เนตติ
       พระพุทธพจน์นั้นประกอบด้วยอรรถะและพยัญชนะ ดังมีคำที่กล่าวไว้ว่า "สาตฺถํ สพฺยญฺชนํ เกวลปริปุณฺณํ ปริสุทฺธํ พฺรหฺมจริยํ ปกาเสสิ = พระพุทธเจ้าทรงประกาศพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง พร้อมด้วยอรรถะและพยัญชนะ” ฉะนั้นถ้าได้ศึกษาให้เข้าใจทั้งอรรถะและพยัญชนะ ก็จะทำให้ทราบพุทธประสงค์ และมองเห็นแนวทางแห่งการปฏิบัติ คัมภีร์เนตตินี้ช่วยให้เข้าใจพระพุทธพจน์
       2. อุทเทสวาระ
[สารบัญ] | หน้าค้นหา
(ไม่สงวนลิขสิทธิ์)