สารบัญเนตติ ห้วเรื่อง, เลขข้อ | เนตติไฟล์เดียว html, text

เนตติปกรณ์แปล ข้อ 004 (3. นิทเทสวาระ)

       [ 4 ] ในอุทเทสนั้น ข้าพเจ้าได้แสดงเนตติไว้โดยสังเขป
       หาระสังเขป
       1. อัสสาทะ (สุขโสมนัสเป็นต้นที่น่ายินดี และตัณหาอันเป็นเหตุยินดี), อาทีนวะ (ทุกข์โทมนัส), นิสสรณะ (การออกจากวัฏฏะและพ้นออกไป), ผล, อุบาย และ อาณัตติ (การแนะนำตักเตือน) ของพระพุทธเจ้า เพื่อประโยชน์แก่โยคีบุคคล (ผู้ปฏิบัติ) ชื่อว่า เทสนาหาระ
       2. การพิจารณาคำปุจฉาก็ดี พิจารณาคำวิสัชนาก็ดี พิจารณาการกล่าวที่สมควรกับคำปุจฉาของสูตรก็ดี พิจารณาอัสสาทะเป็นต้นของสูตรก็ดี ท่านเรียกว่า วิจยหาระ
       3. ศัพท์อันเป็นภูมิ และโคจร กล่าวคืออรรถของสูตรอันใดแห่งหาระทั้งปวง มีอยู่, การพิจารณาความสมควรและไม่สมควรแห่งศัพท์และอรรถเหล่านั้น ท่านเรียกว่า ยุตติหาระ
       4. การพิจารณาเหตุใกล้ของธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ตลอดจนธรรมทั้งปวงโดยนัยที่กล่าวแล้วนี้ ชื่อว่า ปทัฏฐานหาระ
       5. เมื่อท่านกล่าวธรรมอย่างหนึ่ง ธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่งมีลักษณะเหมือนกัน ธรรมเหล่านั้นทั้งปวง (แม้ไม่ได้กล่าวไว้) ก็เป็นอันท่านกล่าวแล้วสังวรรณนาพิเศษนั้นชื่อว่า ลักขณหาระ
       6. การวิเคราะห์ก็ดี การแสดงความประสงค์ (ของผู้แสดงธรรม มี พระพุทธเจ้า เป็นต้น) ก็ดี การแสดงเหตุแห่งความเป็นเทศนาก็ดี การสัมพันธ์บทหน้ากับบทหลังก็ดี โดยศัพท์ สังวรรณนาพิเศษนี้ชื่อว่า จตุพยูหหาระ
       7. เมื่อยกธรรมอันหนึ่งซึ่งเป็นปทัฏฐาน (เหตุใกล้) ในพระบาลีขึ้นสู่เทศนาแล้ว หาธรรมที่ซึ่งเป็นปทัฏฐานเหมือนกัน และหมุน (เทศนา) ไปในธรรมฝ่ายตรงกันข้าม สังวรรณนาพิเศษนั้นชื่อว่า อาวัฏฏหาระ
       8. หาระที่ท่านจำแนกธรรม, ปทัฏฐาน, ภูมิ และความเป็นสาธารณะ อสาธารณะ พึงทราบว่าเป็น วิภัตติหาระ
       9. เมื่อแสดงกุศลธรรมที่ควรเจริญ หรืออกุศลธรรมที่ควรละแล้วพลิกไปในธรรมที่ตรงกันข้ามนี้ชื่อว่า ปริวัตตนหาระ
       10. ธรรม (คือ อรรถของบท) อันหนึ่ง มีคำไวพจน์หลายอย่าง ซึ่งท่านกล่าวไว้ในพระบาลี ผู้ฉลาดในพระบาลีย่อมรู้ได้ สังวรรณนาพิเศษ (ที่มีลักษณะการใช้คำไวพจน์) นั้นชื่อว่า เววจนหาระ
       11. พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมอย่างหนึ่ง (มี ขันธ์ เป็นต้น) ด้วยบัญญัติหลายประการ, อาการที่ให้รู้ด้วยบัญญัติหลายประการนั้น พึงทราบว่าเป็น ปัญญัตติหาระ
       12. สังวรรณนาพิเศษที่หยั่งลงในปฏิจจสมุปบาท, อินทรีย์, ขันธ์, ธาตุ และ อายตนะ ชื่อว่า โอตรณหาระ
       13. การพิจารณาความหมดจดและไม่หมดจด แห่งอรรถที่ถูกปรารภในคำถามคำตอบ และคำที่ท่านยกขึ้นสู่คาถานั้น ชื่อว่า โสธนหาระ
       14. ธรรมเหล่าใดถูกแสดงโดยสามัญและโดยพิเศษ ธรรมเหล่านั้น อันท่านไม่ต้องคำนึงถึงการจำแนกแจกแจง สังวรรณนานี้ชื่อว่า อธิฏฐานหาระ
       15. ปัจจยธรรม (มี อวิชชา เป็นต้น) เหล่าใดยังปัจจยุปปันนธรรม (มี สังขาร เป็นต้น) อันใดให้เกิดขึ้น โดยความเป็นสหชาตปัจจัย และปัจจัยที่สืบ ๆ กันมา สังวรรณนาพิเศษที่ชักเหตุ (มี อวิชชา เป็นต้น อันต่างโดชนก เป็นต้น) นั้นมาพรรณนา ชื่อว่า ปริกขารหาระ
       16. ธรรม (มี ศีล เป็นต้น) เหล่าใดเป็นมูลของธรรม (มี สมาธิ เป็นต้น) เหล่าใด พึงยกธรรม (มี ศีล เป็นต้น) เหล่านั้นขึ้นโดยความเป็นปทัฏฐานของธรรม (มี สมาธิ เป็นต้น) เหล่านั้น. ศัพท์เหล่าใดมีอรรถเหมือนกัน ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว พึงยกศัพท์เหล่านั้นขึ้นโดยความเป็นคำไวพจน์ของกันและกัน นี้ชื่อว่า สมาโรปนหาระ
       นัยสังเขป
       17. สังวรรณนาพิเศษที่นำตัณหา และอวิชชาเข้าไป (ในฝ่ายสังกิเลส) และนำสมถะ วิปัสสนา (ปัญญา) เข้าไป (ในฝ่ายโวทาน) โดยประกอบสัจจะทั้ง 4 นี้ชื่อว่า นันทิยาวัฏฏนัย
       18. สังวรรณนานัยใดย่อมนำอกุศลธรรมทั้งหลายพร้อมทั้งมูลของตน (คือ โลภะ โมหะ โทสะ) ไป (สู่ฝ่ายสังกิเลส) และนำกุศลธรรมทั้งหลายพร้อมทั้งกุศลมูล (คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ) ไป (สู่ฝ่ายโวทาน) โดยประกอบกับสัจจะทั้ง 4 อย่างแท้จริง ไม่ผิดพลาด ท่านเรียกนัยว่า ติปุกขละ
       19. สังวรรณนานัยใดย่อมนำกิเลสธรรมทั้งหลายไป ด้วยวิปัลลาส 4 และนำปฏิปัตติ ปฏิเวธสัทธรรมทั้งหลายไป ด้วยอินทรีย์ 5 (มี สัทธา เป็นต้น) โดยประกอบกับสัจจะทั้ง 4 บัณฑิตผู้รู้นัยเรียกนัยนั้นว่า สีหวิกกีฬิตะ
       20. กุศลและอกุศลธรรมที่กล่าวไว้ในเวยยากรณะ (การวิสัชนาอรรถแห่งพระสูตร) ในพระบาลีนั้น ๆ ย่อมถูกพิจารณาด้วยใจ ท่านเรียกการพิจารณากุศลและอกุศลด้วยใจนั้นว่า ทิสาโลจนะ
       21. บุคคลพิจารณา (ทิสาธรรมเหล่านั้น) ด้วยทิสาโลจนนัย แล้วยกออกจากสูตร นำกุศลธรรมและอกุศลธรรมทั้งปวงไปเชื่อมต่อกันด้วยดี นัยนี้ชื่อว่า อังกุสะ
       22. ท่านประกอบหาระ 16 เป็นเบื้องแรก แล้วพิจารณาความเป็นทิสาของอัตถนัยด้วยทิสาโลจนนัย แล้วแสดงพระสูตร (พระบาลี) ด้วยอัตถนัย 3 ประการ รวมทั้งอังกุสนัย
       บท 12
       23. อักขระ (อักษรที่ยังไม่สำเร็จเป็นบท), บท (บท 4 คือ นาม, อาขยาต, อุปสรรค, นิบาต), พยัญชนะ (วากยะที่แสดงอรรถซึ่งมีหลายบท), นิรุตติ (คำวิเคราะห์) นอกจากนั้นนิทเทส (คำขยายความ) และอาการ (ส่วนแห่งวากยะ) เป็นที่ 6 ทั้งหมดนี้เป็นพยัญชนะบท
       24. อรรถของพระสูตรและกิริยาการให้รู้ความหมายย่อมถูกแสดงด้วยอรรถบท 6 เหล่านี้ คือ สังกาสนะ (การแสดงโดยสังเขป), ปกาสนะ (การแสดงในเบื้องต้น), วิวรณะ (การไขความ), วิภชนะ (การจำแนก), อุตตานีกัมมะ (การทำให้ปรากฏชัด หรือการทำให้เข้าใจง่าย), ปัญญัตติ (การให้รู้โดยประการต่าง ๆ)
       25. อรรถแห่งพระพุทธพจน์ย่อมประกอบด้วยบท 9 (หรือด้วย 9 ส่วน) คือ นัยที่นับได้ 3 ถ้วน และบทที่นับได้ 6 ถ้วน แห่งอรรถะ (อรรถนัย 3, อรรถบท 6).
       26. เมื่อรวมทั้ง 2 อย่างแล้ว เนตติมีประมาณ 33 คือ อรรถมี 9 (หรือ 9 ส่วน) พยัญชนะมี 24 (คือ หาระ 16, พยัญชนบท 6, กัมมนัย 2)
       นิทเทสวาระ จบ
       4. ปฏินิทเทสวาระ
       1. เทสนาหารวิภังค์
[สารบัญ] | หน้าค้นหา
(ไม่สงวนลิขสิทธิ์)