สารบัญเนตติ ห้วเรื่อง, เลขข้อ | เนตติไฟล์เดียว html, text

เนตติปกรณ์แปล ข้อ 005 (1. เทสนาหารวิภังค์)

       [ 5 ] ในบรรดาหาระ 16 เหล่านั้น เทสนาหาระเป็นไฉน ? คาถาที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า “อสฺสาเททีนวตา (อัสสาทะ อาทีนวะ)” เป็นต้นนั้น ชื่อว่า เทสนาหาระ. เทศนาแสดงอะไร ? แสดงอัสสาทะ (สุขโสมมนัสอิฏฐารมณ์ที่น่ายินดี และตัณหา อันเป็นเหตุยินดี), อาทีนวะ (โทษ มี ทุกข์ โทมนัส เป็นต้น), นิสสรณะ (อริยมรรคและนิพพานที่ออกจากวัฏฏะ), ผล (ผลแห่งเทศนา), อุบาย (ปุพพภาคปฏิปทา อันเป็นข้อปฏิบัติเบื้องต้นแห่งอริยมรรค) และ อาณัตติ (การแนะนำหรือตักเตือนเวไนยบุคคล) ดังที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราจะแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จะประกาศพรหมจรรย์ พร้อมด้วยอรรถะและพยัญชนะ อันบริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง แก่เธอทั้งหลาย”
       หาระ คือ วิธีที่ช่วยขจัดความหลง ความสงสัย ความเข้าใจผิดในพระพุทธพจน์. เทสนาหาระ คือ วิธีอธิบายพระพุทธพจน์โดยจำแนกเป็นอรรถ 6 มี อัสสาทะ เป็นต้น แล้วนำไปสงเคราะห์ลงในสัจจะ 4 วิภังค์ คือ การจำแนกแจกแจงให้เข้าใจอย่างละเอียด ดังนั้น หารวิภังค์จึงหมายถึงการอธิบายหาระแต่ละอย่างโดยละเอียด ได้แก่การแสดงหาระเดียว โดยยกสูตรมาเป็นตัวอย่างหลาย ๆ สูตร
       ในคาถาว่า “อสฺสาเททีนวตา (อัสสาทะ อาทีนวะ)” เป็นต้นนั้น อัสสาทะเป็นไฉน ? คาถาว่า
       สัตว์โลกย่อมปรารถนาสิ่งใด ถ้าสิ่งนั้นสำเร็จแก่เขาผู้ต้องการวัตถุกาม (สิ่งที่น่าใคร่) เขาย่อมมีใจยินดีแน่แท้ เพราะได้วัตถุกามนั้น
       นี้ชื่อว่า อัสสาทะ
       ในคาถาว่า “อสฺสาทาทีนวตา (อัสสาทะ อาทีนวะ)” เป็นต้นนั้น อาทีนวะเป็นไฉน ? คาถาว่า
       หากว่ากามเหล่านั้นของสัตว์ผู้ต้องการวัตถุกาม และเกิดความพอใจแล้วนั้น เสื่อมไป เขาย่อมถึงความวิปริต เหมือนถูกยิงด้วยลูกศร
       นี้ชื่อว่า อาทีนวะ
       ในคาถาว่า “อสฺสาทาทีนวตา (อัสสาทะ อาทีนวะ)” เป็นต้นนั้น นิสสรณะเป็นไฉน ? คาถาว่า
       บุคคลใดหลีกเว้นกามทั้งหลาย เหมือนทำเท้าของตนหลีกศีรษะงู (ที่พบในทาง) ฉะนั้น บุคคลนั้นเป็นผู้มีสติ ย่อมล่วงพ้นตัณหานี้ได้ในโลก
       นี้ชื่อว่า นิสสรณะ
       ในคาถาว่า “อสฺสาทาทีนวตา (อัสสาทะ อาทีนวะ)” เป็นต้นนั้น อัสสาทะเป็นไฉน ? คาถาว่า
       ความปรารถนาเนือง ๆ ซึ่งนา ไร่ เงินทอง วัว ม้า บรุษทาส (คนรับใช้) สตรี พวกพ้อง หรือกามคุณอีกหลายอย่าง
       นี้ชื่อว่า อัสสาทะ
       ในคาถาว่า “อสฺสาทาทีนวตา (อัสสาทะ อาทีนวะ)” เป็นต้นนั้น อาทีนวะเป็นไฉน ? คาถาว่า
       กิเลสทั้งหลาย (ที่ชื่อว่า อพละ) ย่อมครอบงำบุคคลผู้ปรารถนาเนือง ๆ ซึ่งกามนั้น อันตรายทั้งหลาย (ที่ปรากฎและไม่ปรากฎ) ย่อมเบียดเบียนบุคคลผู้แสวงหากามนั้น. ทุกข์ (มีชาติทุกข์ เป็นต้น) ย่อมติดตามบุคคลผู้ถูกอันตรายเหล่านั้นครอบงำไป เหมือนน้ำไหลเข้าไปสู่เรือที่แตก ฉะนั้น
       นี้ชื่อว่า อาทีนวะ
       ในคาถาว่า “อสฺสาทาทีนวตา (อัสสาทะ อาทีนวะ)” เป็นต้นนั้น นิสสรณะเป็นไฉน ? คาถาว่า
       เพราะฉะนั้นบุคคลเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ พึงหลีกเว้นกามทั้งหลาย. เมื่อละกามเหล่านั้นแล้วพึงข้ามโอฆะทั้ง 4 ได้ เหมือนบุคคลวิดน้ำออกจากเรือ (ที่หนักด้วยน้ำ) แล้วไปถึงฝั่ง (โดยไม่ยาก) ฉะนั้น
       นี้ชื่อว่า นิสสรณะ
       ในคาถาว่า “อสฺสาทาทีนวตา (อัสสาทะ อาทีนวะ)” เป็นต้นนั้น ผลเป็นไฉน ? คาถาว่า
       กุศลธรรมย่อมรักษาผู้มีปกติประพฤติธรรม ดุจร่มใหญ่ที่ช่วยกันฝนในเวลาฝนตก ฉะนั้น นี้เป็นอานิสงส์ในธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว ผู้มีปกติประพฤติธรรมย่อมไม่ไปสู่ทุคติ
       นี้ชื่อว่า ผล
       ในคาถาว่า “อสฺสาทาทีนวตา (อัสสาทะ อาทีนวะ)” เป็นต้นนั้น อุบายเป็นไฉน ? คาถาว่า
       เมื่อบุคคลพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา เมื่อนั้นย่อมเบื่อหน่ายในวัฏทุกข์ การเบื่อหน่ายในวัฏทุกข์นี้ เป็นเหตุให้ถึงพระนิพพาน
       นี้ชื่อว่า อุบาย
       ในคาถาว่า “อสฺสาทาทีนวตา (อัสสาทะ อาทีนวะ)” เป็นต้นนั้น อาณัตติเป็นไฉน ? คาถาว่า
       บัณฑิตผู้มีปัญญาในสัตว์โลก พึงเว้นจากบาป (ทุจริต 3) ดุจบุคคลผู้มีตาดี เมื่อมีความบากบั่นเดินทางอยู่ พึงเว้นทางที่ขรุขระ ฉะนั้น
       นี้ชื่อว่า อาณัตติ
       เทศนา “ดูก่อนโมฆราช เธอจงพิจารณาดูโลกโดยความเป็นของว่างเปล่า” ชื่อว่า อาณัตติ
       เทศนาว่า “สทา สโต (เป็นผู้มีสติเจริญกรรมฐานทุกเมื่อ)” ชื่อว่า อุบายเทศนา
       บุคคลถอนแล้ว (ตัดขาดแล้ว) ซึ่งสักกายทิฏฐิ (ด้วยมรรคญาณ) พึงเป็นผู้ข้ามพ้นวิสัยแห่งมัจจุราชได้ด้วยวิธีอย่างนี้
       นี้ชื่อว่า ผล
[สารบัญ] | หน้าค้นหา
(ไม่สงวนลิขสิทธิ์)