สารบัญเนตติ ห้วเรื่อง, เลขข้อ | เนตติไฟล์เดียว html, text

เนตติปกรณ์แปล ข้อ 009 (1. เทสนาหารวิภังค์)

       [ 9 ] ธรรมเทศนานั้น ย่อมแสดงอะไร ? แสดงสัจจะทั้ง 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค. อาทีนวะ และ ผล ชื่อว่า ทุกขสัจจะ, อัสสาทะ ชื่อว่า สมุทัยสัจจะ, นิสสรณะ ชื่อว่า นิโรธสัจจะ, อุบาย และ อาณัตติ ชื่อว่า มรรคสัจจะ ย่อมแสดงสัจจะทั้ง 4 เหล่านี้ เทศนานี้ชื่อว่า ธรรมจักรสูตร
       ดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราได้แสดงธรรมจักรอันยอดเยี่ยม ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี ว่า “หมู่เตภูมกธรรม นี้ ชื่อว่า ทุกขสัจจะ” ซึ่งสมณะ (ภิกษุ) ก็ดี พราหมณ์ก็ดี เทวดาก็ดี มารก็ดี พรหมก็ดี บุคคลใดบุคคลหนึ่งก็ดีในโลก ไม่สามารถแสดงได้” ดังนี้เป็นต้น ทั้งหมดนี้ชื่อว่า ธรรมจักร.1
       1. วิ. มหา. 4/13–17/13–16, สํ. มหา. 19/1081/367–370, ขุ. ปฏิ. 31/30/358–361
       ในเทศนานั้น บทไม่มีประมาณ, อักษรไม่มีประมาณ, วากยะ (พฺยญฺชน) ไม่มีประมาณ, ส่วนแห่งวากยะที่จำแนกแล้ว (นิทเทส) ไม่มีประมาณ. การแสดงโดยสังเขป การแสดงในเบื้องต้น การขยายความ การจำแนก การทำให้เข้าใจง่าย การให้รู้โดยประเภทแห่งอรรถ กล่าวคือสัจจะ 4 นั้นแล ไม่มีประมาณ. พึงทราบทุกขอริยสัจนี้ด้วยประการฉะนี้
       ภิกษุทั้งหลาย เราได้แสดงธรรมจักรอันยอดเยี่ยม ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสีว่า “ตัณหานี้ชื่อว่า สมุทัยสัจจะ อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์, นิพพานนี้ชื่อ ทุกขนิโรธสัจจะ อันเป็นที่ดับทุกข์, มรรค อันมีองค์ 8 นี้ชื่อว่า มรรคสัจจะ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงนิพพานอันเป็นที่ดับทุกข์” ซึ่งสมณะก็ดี พราหมณ์ก็ดี เทวดาก็ดี มารก็ดี พรหมก็ดี บุคคลใดบุคคลหนึ่งก็ดีในโลก ไม่สามารถแสดงได้
       ในเทศนานั้น บทไม่มีประมาณ อักษรไม่มีประมาณ วากยะ (พฺยญฺชน) ไม่มีประมาณ, ส่วนแห่งวากยะที่จำแนกแล้ว (อาการ), วิเคราะห์ (เนรุตฺต), คำขยายความวิเคราะห์ (นิทเทส) ไม่มีประมาณ. การแสดงโดยสังเขป, การแสดงในเบื้องต้น, การขยายความ, การจำแนก, การทำให้เข้าใจง่าย, การให้รู้โดยประเภทแห่งอรรถ กล่าวคือสัจจะ 4 นั้นแล ไม่มีประมาณ พึงทราบทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้ ด้วยประการฉะนี้.
       ในบรรดาพยัญชนบท 6 เหล่านั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอรรถโดยสังเขป ด้วยอักษรทั้งหลาย ทรงแสดงอรรถในเบื้องต้นด้วยบททั้งหลาย ทรงขยายความด้วยวากยะทั้งหลาย ทรงจำแนกอรรถด้วยส่วนแห่งวากยะทั้งหลาย ทรงทำความเข้าใจง่ายด้วยวิเคราะห์ทั้งหลาย ทรงให้รู้อรรถโดยประเภทด้วยคำขยายความวิเคราะห์ทั้งหลาย
       ในบรรดาพยัญชนบท 6 เหล่านั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอรรถที่ประสงค์โดยสังเขป ด้วยอักษรและบททั้งหลาย ทรงแสดงโดยไม่สังเขปไม่พิสดาร ด้วยวากยะและส่วนแห่งวากยะทั้งหลาย ทรงกระทำให้พิสดาร ด้วยวิเคราะห์ และขยายความวิเคราะห์ทั้งหลาย
       ในบรรดาเทศนาทั้งหลาย มี อุคฺฆฏน (การยกหัวข้อ) เป็นต้นเหล่านั้น การแสดงโดยสังเขป เป็นเบื้องต้นแห่งเทศนา, การแสดงโดยไม่สังเขปไม่พิสดาร เป็นท่ามกลางแห่งเทศนา, การแสดงโดยพิสดารเป็นที่สุดแห่งเทศนา. พระสูตร พระอภิธรรม และพระวินัยนั้น เมื่อพระองค์ทรงแสดงโดยสังเขป ย่อมแนะนำอุคฆฏิตัญญูบุคคล เพราะฉะนั้นท่านจึงเรียกพระสูตร พระอภิธรรม และพระวินัยนั้นว่า “อาทิกลฺยาณ (มีความงามในเบื้องต้น)” เมื่อทรงแสดงโดยไม่สังเขปไม่พิสดาร ย่อมแนะนำวิปัญจิตัญญูบุคคล เพราะฉะนั้นท่านจึงเรียกพระสูตร พระอภิธรรม และพระวินัยนั้นว่า “มชฺเฌกลฺยาณ (มีความงามในท่ามกลาง)”. เมื่อทรงแสดงโดยพิสดาร ย่อมแนะนำเนยยบุคคล เพราะฉะนั้นท่านจึงเรียกพระสูตร พระอภิธรรม และพระวินัยนั้นว่า “ปริโยสานกลฺยาณ (มีความงามในที่สุด)
[สารบัญ] | หน้าค้นหา
(ไม่สงวนลิขสิทธิ์)