สารบัญเนตติ ห้วเรื่อง, เลขข้อ | เนตติไฟล์เดียว html, text

เนตติปกรณ์แปล ข้อ 011 (2. วิจยหารวิภังค์)

       [ 11 ] ในบรรดาหาระเหล่านั้น วิจยหาระเป็นไฉน ? คาถาที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า “ยํปุจฺฉิตญฺจ วิสฺสชฺชิตญฺจ (การพิจารณาคำถามก็ดี การพิจารณาคำตอบก็ดี)” เป็นต้นนั้น ชื่อว่า วิจยหาระ
       วิจยหาระ พิจารณาอะไร ? พิจารณา บท, คำถาม, คำตอบ, คำหน้ากับคำหลัง, อัสสาทะ, อาทีนวะ, นิสสรณะ, ผลแห่งเทศนา, อุบาย, อาณัตติ, อนุคีติ (การกล่าวโดยสมควร) และ พระสูตร 9 ประการ มี สุตตะ เคยยะ เป็นต้นทั้งปวง. เหมือนอะไร? เหมือนที่ท่านพระอชิตะทูลถามปัญหาพระผู้มีพระภาคในปารายนสูตร
       พระอชิตะทูลถามว่า
       สัตว์โลกถูกอะไรห่อหุ้มไว้, สัตว์โลกย่อมไม่ปรากฎ เพราะธรรมอะไร, พระองค์กล่าวอะไรว่าเป็นเครื่องฉาบทาสัตว์โลกนั้น, อะไรเป็นภัยใหญ่ของสัตว์โลกนั้น1
       1. ขุ. สุ. 25/1039/531, ขุ. จูฬ. 30/1/25
       4 ประโยคเหล่านี้เป็นคำถาม. อรรถที่ถูกถามด้วย 4 ประโยคนั้นเป็นปัญหาอันหนึ่ง. เพราะเหตไร ? เพราะกำหนดเอาวัตถุที่ตั้งคือโลกอันหนึ่ง สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า พระอชิตะถามถึงที่ตั้งคือโลกด้วยประโยคว่า “เกนสฺสุ นิวุโตโลโก (สัตว์โลกถูกอะไรห่อหุ้มไว้)” ถามถึงการไม่ปรากฏแห่งโลกด้วยประโยคว่า “เกนสฺสุ นปฺปกาสติ (สัตว์โลกย่อมไม่ปรากฏเพราะธรรมอะไร)” ถามถึงการฉาบทาโลกด้วยประโยคว่า “กิสฺสาภิเลปนํ พฺรูสิ (พระองค์กล่าวอะไรว่าเป็นเครื่องฉาบทาสัตว์โลก)” ถามถึงภัยใหญ่ของโลกนั้นด้วยประโยคว่า “กึ สุ ตสฺส มหพฺภยํ (อะไรเป็นภัยใหญ่ของสัตว์โลกนั้น)” โลก มี 3 คือ กิเลสโลก (กล่าวคืออบายสัตว์) ภวโลก (กล่าวคือสัตว์ที่นอกจากอบายสัตว์) และ อินทรียโลก (กล่าวคือสัตว์ที่สมบูรณ์ด้วยอินทรีย์ มี สัทธา เป็นต้น ที่สามารถทำให้ถึงวิมุติ)
       ในคำปุจฉานั้น มีวิสัชนา ดังนี้ :-
       พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
       สัตว์โลกถูกอวิชชาห่อหุ้มไว้, สัตว์โลกย่อมไม่ปรากฏ
        เพราะความสงสัย เพราะความประมาท, เรากล่าวตัณหาว่า
        เป็นเครื่องฉาบทาสัตว์โลก, ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น 1
       1. ขุ. สุ. 25/1040/531, ขุ. จูฬ. 30/2/26
       4 ประโยคเหล่านี้ ( ที่กล่าวไว้ในคาถาปุจฉา) ท่านวิสัชนาแล้วด้วย 4 ประโยคเหล่านี้ (ที่กล่าวไว้ในคาถาวิสัชนา) ประโยคที่ 1 (ที่กล่าวไว้ในคาถาปุจฉา) ท่านวิสัชนาด้วยประโยคที่ 1 (ที่กล่าวไว้ในคาถาวิสัชนา) ประโยคที่ 2 ท่านวิสัชนาด้วยประโยคที่ 2, ประโยคที่ 3 ท่านวิสัชนาด้วยประโยคที่ 3, ประโยคที่ 4 ท่านวิสัชนาด้วยประโยคที่ 4
       ในปัญหาว่า “เกนสฺสุ นิวุโต โลโก (สัตว์โลกถูกอะไรห่อหุ้มไว้)” มีคำวิสัชนาว่า “อวิชฺชา นิวุโต โลโก (สัตว์โลกถูกอวิชชาห่อหุ้มไว้)”, สัตว์โลกถูกนิวรณ์ทั้งหลายห่อหุ้มไว้ จริงอย่างนั้น สัตว์ทั้งปวงมีอวิชชาห่อหุ้ม สมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “เรากล่าวธรรมอย่างหนึ่ง คือ อวิชชา ว่าเป็นเครื่องห่อหุ้มสัตว์ที่ติดอยู่ในอารมณ์ทั้งปวง สัตว์ผู้มีลมปราณทั้งปวง สัตว์ผู้เติบโตทั้งปวง เพราะเป็นเหตุแห่งกามฉันทนิวรณ์เป็นต้น. แท้จริงสัตว์ทั้งปวงมีอวิชชาเป็นเครื่องห่อหุ้ม ภิกษุทั้งหลายเรากล่าวว่า นิวรณ์ย่อมไม่มีแก่สัตว์ทั้งหลายเพราะการดับ เพราะการสละ เพราะการสลัดอวิชชา โดยประการทั้งปวง”. เพราะเหตุนั้นแล คำวิสัชนา (ว่า อวิชฺชาย นิวุโต โลโก) แห่งประโยคที่ 1 (ว่า เกนสฺสุ นิวุโต โลโก) อันท่านประกอบแล้ว
       ในปัญหา (ข้อที่ 2) ว่า “เกนสฺสุ นปฺปกาสติ (สัตว์โลกย่อมไม่ปรากฏเพราะธรรมอะไร)” มีคำวิสัชนาว่า “วิจิจฺฉา ปมาทา นปฺปกาสติ (สัตว์โลกย่อมไม่ปรากฏเพราะความสงสัย เพราะความประมาณ)”. บุคคลที่ถูกนิวรณ์ณ์ทั้งหลายห่อหุ้มย่อมสงสัย ท่านเรียกว่า วิวิจฺฉา. บุคคลที่สงสัยย่อมไม่เชื่อ (ผลแห่งกรรม) เมื่อไม่เชื่อ (ผลแห่งกรรม) ย่อมไม่เพียรพยายามเพื่อละอกุศลธรรมทั้งหลาย และเพื่อกระทำให้ประจักษ์กุศลธรรมทั้งหลาย. บุคคลนั้นประกอบความประมาทเนือง ๆ เป็นผู้ประมาทอยู่ในศาสนานี้ ไม่ยังกุศลธรรมที่สะอาดหมดจดให้เกิดขึ้น. กุศลธรรม มี ศีล สมาธิ เป็นต้น เหล่านั้นที่ตนไม่ทำให้เกิดขึ้น ย่อมไม่ปรากฏแก่บุคคลผู้ประมาทนั้น สมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า
       สัตบุรุษทั้งหลายแม้อยู่ไกลก็ย่อมปรากฏ (แก่บัณฑิตทั้งหลาย) เหมือนภูเขา หิมวันต์ แม้อยู่ไกลก็เห็นได้ฉะนั้น อสัตบุรุษทั้งหลาย (แม้อยู่ใกล้) ย่อมไม่ปรากฏ (แก่บัณฑิตทั้งหลาย) ในศาสนานี้ เหมือนลูกศรที่เขายิงไปในเวลากลางคืน ฉะนั้น สัตบุรุษเหล่านั้น ย่อมปรากฏด้วยคุณ ชื่อเสียง และบริวาร1
       1. ขุ. ธ. 25/304/69
       เพราะเหตุนั้นแล คำวิสัชนาแห่งประโยคที่ 2 อันท่านประกอบแล้ว (เช่นนั้น)
       ในปัญหา (ข้อที่ 3) ว่า “กิสฺสาภิเลปนํ พฺรูสิ (พระองค์กล่าวอะไรว่าเป็นเครื่องฉาบทาสัตว์โลก)” มีคำว่าวิสัชนาว่า “ชปฺปาภิเลปนํ พฺรูมิ (เรากล่าวตัณหาว่าเป็นเครื่องฉาบทาสัตว์โลก)” ตัณหา ท่านเรียกว่า ชัปปา. ตัณหานั้นฉาบทาด้วยอาการอย่างไร ? ด้วยอาการดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
       สัตว์โลกผู้มีราคะย่อมไม่รู้อรรถที่เป็นผล ย่อมไม่เห็นเหตุ. ราคะย่อมเบียด เบียนบุคคลใด ความมืดอย่างยิ่งย่อมมีแก่บุคคลนั้นในกาลนั้น2
       2. ขุ. อิติ. 25/88/305, ขุ. มหา. 29/5,156,195/12,302,399, ขุ. จูฬ. 30/128/263
       สัตว์โลกชื่อว่าถูกตัณหาฉาบทา เพราะเหตุว่า ตัณหานั้นทำบุคคผู้ติดอยู่ในอารมณ์ให้ติดในอารมณ์ยิ่งขึ้นแล้วเบียดเบียนด้วยอาการดังกล่าวนั้น
       เพราะเหตุนั้นแล คำวิสัชนาแห่งประโยคที่ 3 อันท่านประกอบแล้ว (เช่นนั้น)
       ในปัญหา (ข้อที่ 4) ว่า “กึสุ ตสฺส มหพฺภยํ (อะไรเป็นภัยใหญ่ของสัตว์โลกนั้น)”
       มีคำวิสัชนาว่า “ทุกขมสฺส มหพฺภยํ (ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของสัตว์โลกนั้น)” ทุกข์มี 2 อย่าง คือ กายิกทุกข์ (ทุกข์ทางกาย) และ เจตสิกทุกข์ (ทุกข์ทางใจ). ทุกข์ที่เกิดขึ้นในกายวิญญาณจัดเป็นทุกข์, ทุกข์ที่เกิดในโทสมูลจิตจัดเป็นโทมนัส. เพราะเหตุที่สัตว์ทั้งปวงหวาดกลัวทุกข์ ฉะนั้นภัยที่เสมอเหมือนกับทุกข์ย่อมไม่มี. ทุกขตา (ความเป็นทุกข์) มี 3 อย่าง คือ ความเป็นทุกขทุกข์ กล่าวคือทุกขเวทนา, ความเป็นทุกข์แห่งสังขารธรรม, ความเป็นวิปริณามทุกข์อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลง.
       ในบรรดาทุกข์ 3 ประการเหล่านั้น สัตว์โลกย่อมพ้นจากทุกขทุกข์ โดยบางส่วนในบางครั้งบางคราว บางสัมปัตติภพ, ย่อมพ้นจากวิปริณามทุกข์แบบนั้นเหมือนกัน, การพ้นจากทุกข์เช่นนั้นเกิดจากเหตุอะไร ? เพราะเหตุที่สัตว์ทั้งหลายในโลกเป็นผู้มีโรคน้อยและมีอายุยืน ฉะนั้นจึงพ้นจากทุกข์เช่นนั้นได้, แต่สัตว์โลกพ้นจากสังขารทุกข์ได้ด้วยนิพพานธาตุอันไม่มีวิบากนามขันธ์กฏัตตารูป เหลืออยู่. เพราะฉะนั้น (พระผู้มีพระภาคจึงตรัสคำนี้) ว่า “ทุกฺขมสฺส มหพฺภยํ (ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของสัตว์โลกนั้น)” คำวิสัชนาแห่งประโยคที่ 4 อันท่านประกอบแล้ว ฉะนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสคำวิสัชนาว่า “อวิชฺชาย นิวุโต โลโก (สัตว์โลกถูกอวิชชาห่อหุ้มไว้)”
       พระอชิตะทูลถามว่า
       กระแส (คือ ตัณหา) ทั้งหลายย่อมไหลไปในอายตนะทั้งปวง
       (มี รูป เป็นต้น) อะไรเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย ขอพระองค์จงทรงบอกการสังวรกล่าวคือการป้องกันกระแสทั้งหลาย บุคคลย่อมปิดกั้นกระแสทั้งหลายได้ด้วยธรรมอะไร1
       1. ขุ. สุ. 25/1041/531, ขุ. จูฬ. 30/3/30
       4 ประโยคเหล่านี้เป็นคำถาม อรรถที่ถูกกล่าวด้วยคาถาเหล่านั้นเป็นปัญหา 2 ข้อ เพราะเหตุไร ? เพราะเหตุที่อรรถอันถูกกล่าวด้วยคาถาเหล่านี้ ถูกถามแล้วด้วยศัพท์ที่อาศัยหลายอย่าง ฉะนั้นจึงมีปัญหา 2 ข้อ
       พระอชิตะประสงค์จะถามว่า สัตว์โลกที่ถูกภัยต่าง ๆ (มีการสูญเสียญาติเป็นต้นเบียดเบียนเช่นนั้น) และมีความเศร้าหมองเร่าร้อนเช่นนั้น จะหมดจดและพ้นจากสังสารวัฏได้อย่างไร ดังคำที่ท่านกล่าวไว้อย่างนั้น
       คำว่า “สวนฺติ สพฺพธิ โสตา (กระแส คือ ตัณหา ทั้งหลายย่อมไหลไปในอายตนะทั้งปวง)” หมายความว่า กระแส (คือ ตัณหา) ของบุคคลผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น มี อภิชฌา พยาบาท และความประมาทมากย่อมไหลไป. ในบรรดาธรรม (มี อภิชฌา เป็นต้น) เหล่านั้น ธรรมชาตินี้ (คือ ตัณหา) ถูกกล่าวว่าเป็น โลภะ เป็นอกุศลมูล. ธรรมชาติใดชื่อว่า พยาบาท ธรรมชาตินี้ถูกกล่าวว่าเป็น โทสะ เป็นอกุศลมูล. ธรรมชาติใดชื่อว่า ปมาท ธรรมชาตินี้ถูกกล่าวว่าเป็น โมหะ เป็นอกุศลมูล. ตัณหาทั้งหลาย คือ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา ของบุคคลผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น ย่อมไหลไปในอายตนะภายนอก 6 ด้วยธรรม 3 ประการ ดังกล่าวนั้น
       สมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า
       ภิกษุทั้งหลาย คำว่า “สวติ (ไหลไป)” นี้แลเป็นชื่อของอายตนะภายใน 6. จักษุ (ตา) ย่อมไหลไปในรูปารมณ์ที่น่าพอใจ ย่อมขัดเคืองในรูปารมณ์ที่ตนไม่ชอบใจ. โสตะ (หู) ย่อมไหลไปในสัททารมณ์ที่น่าพอใจ ย่อมขัดเคืองในสัททารมณ์ที่ตนไม่ชอบใจ. ฆานะ (จมูก) ย่อมไหลไปในคันธารมณ์ที่น่าพอใจ ย่อมขัดเคืองในคันธารมณ์ที่ตนไม่ชอบใจ. ชิวหา (ลิ้น) ย่อมไหลไปในรสารมณ์ที่น่าพอใจ ย่อมขัดเคืองในรสารมณ์ที่ตนไม่ชอบใจ. กายย่อมไหลไปในโผฏฐัพพารมณ์ที่น่าพอใจ ย่อมขัดเคืองในโผฏฐัพพารมณ์ที่ตนไม่ชอบใจ. ใจย่อมไหลไปในธัมมารมณ์ที่น่าพอใจ ย่อมขัดเคืองในธัมมารมณ์ที่ตนไม่ชอบใจ. ย่อมไหลไปโดยอาการทั้งปวงอย่างนี้. เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า “สวนฺติ สพฺพธิ โสตา (กระแส คือ ตัณหา ทั้งหลายย่อมไหลไปในอายตนะทั้งปวง)”
       พระอชิตะถามถึงวิธีละปริยุฏฐานกิเลสด้วยคำว่า “โสตานํ กึ นิวารณํ (อะไรเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย)” การละปริยุฏฐานกิเลสนี้เป็นความหมดจด ถามถึงวิธีตัดอนุสัยกิเลสอย่างเด็ดขาดด้วยคำว่า “โสตานํ สํวรํ พฺรูหิ, เกน โสตา ปิธียเร (ขอพระองค์จงทรงบอกการสังวรกล่าวคือการป้องกันกระแสทั้งหลาย บุคคลย่อมปิดกั้นกระแสทั้งหลายได้ด้วยธรรมอะไร)” การตัดอนุสัยกิเลสอย่างเด็ดขาดนี้เป็นเหตุออกจากวัฏสงสาร
       คำวิสัชนาในปัญหา 2 ข้อนี้ พึงทราบดังนี้ :-
       พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
       (ดูก่อนอชิตะ) กระแส (คือ ตัณหา) เหล่าใดย่อมไหลไปในโลก สติเป็นเครื่องกั้นกระแส (คือ ตัณหา) เหล่านั้น เรากล่าว (สตินั้นแหละ) ว่าเป็นเครื่องป้องกันกระแสทั้งหลาย (ในขณะแห่งมรรค) กระแสเหล่านั้นพึงถูกปิดกั้นด้วยมรรค ปัญญา1
       1. ขุ. สุ. 25/1042/532, ขุ. จูฬ. 30/4/31
       เมื่อบุคคลเจริญกายคตาสติ กระทำให้มากแล้ว จักขุ (ตา) ย่อมไม่ดึงไปในรูปารมณ์ที่น่าพอใจ ย่อมไม่ขัดเคืองในรูปารมณ์ที่ตนไม่ชอบใจ. โสตะ (หู) ย่อมไม่ดึงไปในสัททารมณ์ที่น่าพอใจ ย่อมไม่ขัดเคืองในสัททารมณ์ที่ตนไม่ชอบใจ. ฆานะ (จมูก) ย่อมไม่ดึงไปในคันธารมณ์ที่น่าพอใจ ย่อมไม่ขัดเคืองในคันธารมณ์ที่ตนไม่ชอบใจ. ชิวหา (ลิ้น) ย่อมไม่ดึงไปในรสารมณ์ที่น่าพอใจ ย่อมไม่ขัดเคืองในรสารมณ์ที่ตนไม่ชอบใจ. กาย ย่อมไม่ดึงไปในโผฏฐัพพารมณ์ที่น่าพอใจ ย่อมไม่ขัดเคืองในโผฏฐัพพารมณ์ที่ตนไม่ชอบใจ. ใจ ย่อมไม่ดึงไปในธัมมารมณ์ที่น่าพอใจ ย่อมไม่ขัดเคืองในธัมมารมณ์ที่ตนไม่ชอบใจ เพราะเหตุไร ? เพราะป้องกันรักษาอินทรีย์ทั้งหลาย (มี จักขุ เป็นต้น) ไว้ดีแล้ว กระแสทั้งหลาย มีตัณหาเป็นต้นเหล่านั้น บุคคลจะป้องกันได้ดี ด้วยธรรมอะไร ? ด้วยการรักษาคือสติ เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า “สติ เตสํ นิวารณํ (สติเป็นเครื่องกั้นกระแส คือ ตัณหา เหล่านั้น)”
       บุคคลย่อมละอนุสัยทั้งหลายได้ด้วยปัญญา เมื่อละอนุสัยแล้วก็เป็นอันละปริยุฏฐานกิเลสด้วย. เพราะเหตุไร ? เพราะอนุสัยถูกละแล้ว เปรียบเหมือน เมื่อถอนรากถอนโคนต้นไม้ที่มีลำต้นจนหมดสิ้นไป ฉันใด เมื่ออนุสัยถูกละแล้ว ความสืบต่อแห่งปริยุฏฐานกิเลสก็เป็นอันขาดสิ้นถูกปิดกั้น ฉันนั้นเหมือนกัน. ถูกปิดกั้นด้วยอะไร ? ด้วยปัญญา. เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “ปญฺญาเยเต ปิธียเร (กระแสเหล่านั้นพึงถูกปิดกั้นด้วยมรรคปัญญา)”
       พระอชิตะทูลถามว่า
       ข้าแต่พระผู้นิรทุกข์ ปัญญาและสติ (ที่พระองค์ตรัสแล้ว) ก็ดี นามรูป (ที่นอก จาก 2 อย่างนั้น) ก็ดี ทั้งหมดนี้ย่อมดับสนิทในที่ไหน. พระองค์อันข้าพเจ้าถามแล้ว ขอจงตรัสบอกที่ดับนี้ (แก่ข้าพระองค์)1
       1. ขุ. สุ. 25/1043/532, ขุ. จูฬ. 30/5/34
       พระผู้มีพระภาคบอกว่า
       ดูก่อนอชิตะ เราจะตอบปัญหาที่ถามนั้นแก่เธอ. นามและรูปย่อมดับสนิทอย่างไม่เหลือในที่ใด หมู่นามรูปทั้งปวงนี้ย่อมดับสนิทด้วยการดับแห่งวิญญาณในที่นั้น2
       2. ขุ. สุ. 25/1044/532, ขุ. จูฬ. 30/6/35
       พระอชิตะนี้ย่อมถามถึงอนุสนธิ (การสืบต่อ) ในปัญหา. เมื่อถามอนุสนธิ ชื่อว่า ถามอะไร ? ถามถึงอนุปาทิเลสนิพพานธาตุ (นิพพานที่ไม่มีวิบากนามขันธ์กฎัตตารูปเหลืออยู่) อนึ่งสัจจะ 3 คือ ทุกขสัจจะ, สมุทัยสัจจะ, มรรคสัจจะ เป็นสังขตะ (ถูกปัจจัยปรุงแต่ง) มีความดับเป็นธรรมดา ส่วนนิโรธสัจจะ ชื่อว่า อสังขตะ (ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง) ในบรรดาสัจจะเหล่านั้น สมุทัยสัจจะถูกละในภูมิ 2 คือ ทัสสนภูมิ และภาวนาภูมิ. โสดาปัตติมรรคละ สังโยชน์ 3 คือ สักกายทิฏฐิ, วิจิกิจฉา, สีลัพพตปรามาส. มรรคเบื้องบน 3 ละสังโยชน์ 7 คือ กามฉันท์, พยาบาท, รูปราคะ, อรูปราคะ, มานะ, อุทธัจจะ, และ อวิชชา อย่างไม่มีเหลือ. ในธาตุ 3 (กามภูมิ, รูปภูมิ, อรูปภูมิ) มีสังโยชน์ 10 คือ สังโยชน์เบื้องต่ำ (โอรัมภาคิยะ) 5, สังโยชน์เบื้องสูง (อุทธัมภาคิยะ) 5
[สารบัญ] | หน้าค้นหา
(ไม่สงวนลิขสิทธิ์)