สารบัญเนตติ ห้วเรื่อง, เลขข้อ | เนตติไฟล์เดียว html, text

เนตติปกรณ์แปล ข้อ 027 (6. จตุพยูหหารวิภังค์)

       [27] บรรดาบท 4 นั้น นิทานะเป็นไฉน
       นายธนิยะคนเลี้ยงโค กล่าวกะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "คนย่อมเพลิดเพลิน เพราะอุปธิทั้งหลาย เปรียบเหมือนคนมีบุตรย่อมเพลิดเพลินเพราะบุตร คนมีโคย่อมเพลิดเพลินเพราะโค ฉะนั้นคนใดไม่มีอุปธิ คนนั้นย่อมไม่เพลิดเพลินเลย"พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "คนย่อมเศร้าโศกเพราะอุปธิทั้งหลาย เปรียบเหมือนคนมีบุตรย่อมเศร้าโศกเพราะบุตร คนมีโคย่อมเศร้าโศกเพราะโค ฉะนั้น คนใดไม่มีอุปธิ คนนั้นย่อมไม่เศร้าโศกเลย" ดังนี้บัณฑิตย่อมทราบด้วยนิทานะ (การณะ) นี้ ด้วยวัตถุ (อุปธิ) นี้ว่า ในที่นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงอุปธิที่บุคคลถือเอาในภายนอก ฉะนั้น ฯ อุปธิภายในเหมือนอย่างมารผู้มีบาป ยังศิลาใหญ่ให้ตกไปจากภูเขาคิชฌกูฏ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "แม้ถึงว่าท่านจะพึงกลิ้งภูเขาคิชฌกูฏหมดทั้งสิ้น ความหวั่นไหวก็จะไม่พึงมีแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้หลุดพ้นแล้วโดยชอบแน่แท้" ฯ
       "ถึงแม้ท้องฟ้าจะพึงแตก แผ่นดินพึงแยก สัตว์ทั้งหลายพึงสะดุ้งกลัวกันหมดก็ตามที แม้ถึงว่าหอกหรือหลาวจะจ่ออยู่ที่อกก็ตามเถิดพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไม่ทรงทำการป้องกัน ในเพราะอุปธิทั้งหลาย"ดังนี้ ฯ
       บัณฑิตย่อมทราบด้วยนิทานะนี้ ด้วยวัตถุนี้ว่า ในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส อุปธิ คือ กาย ดังนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า "นักปราชญ์ทั้งหลาย ไม่กล่าวเครื่องผูกซึ่งเกิดแต่เหล็ก เกิดแต่ไม้และเกิดแต่หญ้าปล้องว่ามั่นคง แต่สัตว์ผู้หลงแล้ว กำหนัดแล้วในแก้วมณีและกุณฑล และความเยื่อใยในบุตรและภรรยาเหล่าใด" ดังนี้ ฯ
       บัณฑิตย่อมทราบด้วยนิทานะนี้ ด้วยวัตถุนี้ว่า ในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสการละตัณหาในวัตถุทั้งหลายอันเป็นภายนอก ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสต่อไปว่า "นักปราชญ์ทั้งหลาย กล่าวเครื่องผูก อันถ่วงลง อันหย่อนอันเปลื้องได้โดยยากนั้นว่ามั่นคง นักปราชญ์ทั้งหลาย ตัดเครื่องผูกแม้นั้นแล้ว เป็นผู้ไม่มีความห่วงใย ละกามสุขแล้ว ย่อมเว้นรอบ" ดังนี้ ฯ
       บัณฑิตย่อมทราบด้วยนิทานะนี้ ด้วยวัตถุนี้ว่า ในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสการละตัณหา อันเป็นวัตถุอันเป็นไปในภายนอก ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "จงพิจารณาดูอัตภาพนี้ อันกระสับกระส่าย ไม่สะอาด เป็นของเน่าเปื่อย มีกลิ่นเหม็นซึ่งอาศัยกาย มีสิ่งปฏิกูลไหลออกอยู่ทั้งกลางวันทั้งกลางคืน อันชนพาลทั้งหลายปรารถนายิ่งนัก" ดังนี้ ฯ
       บัณฑิตย่อมทราบด้วยนิทานะนี้ ด้วยวัตถุนี้ว่า ในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสการละตัณหา ด้วยสามารถแห่งความสิเนหาในวัตถุอันเป็นไปในภายในดังนี้ ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "พวกเธอ จงตัดความเยื่อใยในตนเสีย เหมือนบุคคลถอนดอกโกมุทที่เกิดในสารทกาล (ฤดูใบไม้ร่วง) ด้วยมือ จงพอกพูนทางแห่งสันติทีเดียวเพราะพระนิพพานอันพระสุคตแสดงแล้ว" ดังนี้ ฯ
       บัณฑิตย่อมทราบด้วยนิทานะนี้ ด้วยวัตถุนี้ว่า ในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสการละตัณหา ด้วยสามารถแห่งความสิเนหาในวัตถุอันเป็นไปในภายใน ฯ
       บทนี้ ชื่อว่า นิทานะ ฯ
       บรรดาบท 4 นั้น สนธิเบื้องต้นและเบื้องปลาย เป็นไฉน
       พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า "สัตว์ทั้งหลายผู้มืดมนเพราะกาม ถูกตัณหาซึ่งเป็นดุจข่ายปกคลุมไว้แล้ว ถูกเครื่องมุง คือตัณหาปกปิดไว้แล้ว ถูกเครื่องผูก คือกามคุณผูกไว้แล้วด้วยความประมาท ย่อมไปสู่ชรา และมรณะเหมือนปลาที่ปากไซ เหมือนลูกโคที่ยังดื่มนมไปตามแม่โค ฉะนั้น" ดังนี้ ฯ
       สนธินี้ท่านกล่าวว่า กามตัณหา กามตัณหานั้นย่อมประกอบไว้โดยเบื้องต้นและเบื้องปลาย เป็นไฉน เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า "บุคคล ผู้อันราคะย้อมแล้วย่อมไม่รู้อรรถะ บุคคลผู้อันราคะย้อมแล้วย่อมไม่เห็นธรรม ราคะย่อมครอบงำนรชนเมื่อใด เมื่อนั้นความมืดตื้อย่อมมี" ดังนี้ ฯ
       ตัณหานั้นนั่นเอง ตรัสเรียกว่า ปุพพาปรสนธิ เพราะกระทำความมืดและกระทำการปกคลุมสัตว์ไว้ คือ ตัณหานั้นนั่นแหละ ท่านกล่าวไว้โดยปริยุฏฐาน ด้วยบททั้ง 2 นี้ว่า "สัตว์ทั้งหลายผู้มืดมนเพราะกาม ถูกตัณหาซึ่งเป็นดุจข่ายปกคลุมแล้ว ถูกเครื่องมุงคือตัณหาปกปิดแล้ว" และคำว่า "บุคคลผู้อันราคะย้อมแล้วย่อมไม่รู้อรรถะ ผู้อันราคะย้อมแล้วย่อมไม่เห็นธรรม" ดังนี้ ฯ
       ความไม่รู้อันใด อันกระทำซึ่งความมืด นี้พึงเป็นสมุทัย และตัณหาใดท่านกล่าวว่านำไปเกิดในภพใหม่ ตัณหานี้ก็พึงเป็นสมุทัย ฯ ก็บทใด ที่ตรัสว่า กามบทเหล่านี้ เป็นกิเลสกาม ฯ บทใด ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ถูกตัณหาซึ่งเป็นดุจข่ายปกคลุมไว้" ดังนี้ ด้วยบทนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงแสดงการกลุ้มรุมจิตแห่งกามเหล่านั้นนั่นแหละด้วยการประกอบเพราะฉะนั้นจึงกล่าวว่า เครื่องผูกคือตัณหา ด้วยสามารถแห่งกิเลส และด้วยสามารถแห่งการกลุ้มรุมจิต ฯ คนใด เช่นกับคนที่เป็นไปกับตัณหามีประการตามที่กล่าวแล้ว คนเช่นนั้น ย่อมไปสู่ชราและมรณะ นี้เป็นคำอธิบายการสืบต่อเบื้องต้นและเบื้องปลาย ในคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ตัณหา ย่อมนำไปสู่ชราและมรณะ" ตามคาถาที่ตั้งไว้ ฉะนี้ ฯ
       พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานนี้ว่า "ผู้ใด ไม่มีกิเลสเครื่องให้เนิ่นช้า และตัณหานอนเนื่องอยู่ ก้าวล่วงแล้วซึ่งที่ต่อ คือตัณหา และลิ่ม คืออวิชชาได้ สัตวโลกแม้ทั้งเทวโลกผู้เป็นไปกับตัณหา ย่อมไม่รู้ซึ่งมุนีผู้ไม่มีตัณหานั้น ผู้เที่ยวไปอยู่ในโลก"ดังนี้ ฯ
       ตัณหา ทิฏฐิ และมานะ ชื่อว่า ปปัญจะ (คือ ธรรมให้เนิ่นช้า) สังขารทั้งหลาย ที่ชื่อว่า ปปัญจะ เพราะอันตัณหา ทิฏฐิและมานะนั้นปรุงแต่งแล้วตัณหาที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน ด้วยอรรถะว่าละไม่ได้ และได้ชื่อว่า ฐิติเพราะเป็นเหตุให้สัตว์ตั้งอยู่ ปริยุฏฐานแห่งตัณหา และตัณหาที่ท่านกล่าวว่า ท่องเที่ยวไป 36 ที่เป็นดุจข่าย ชื่อว่า สันตานะ (การสืบต่อ) โมหะ ชื่อว่า ลิ่ม ฯ
       บุคคลใดก้าวล่วงอกุศลทั้งปวงนี้ คือ ปปัญจธรรม สังขารอันปปัญจธรรมนั้นปรุงแต่งแล้ว ฐิติคือการนอนเนื่องอยู่แห่งตัณหา สันตานะแห่งตัณหา และลิ่ม คือโมหะ บุคคลนี้ บัณฑิตเรียกว่า ผู้ไม่มีตัณหา ฉะนี้แล ฯ
[สารบัญ] | หน้าค้นหา
(ไม่สงวนลิขสิทธิ์)