สารบัญเนตติ ห้วเรื่อง, เลขข้อ | เนตติไฟล์เดียว html, text

เนตติปกรณ์แปล ข้อ 028 (6. จตุพยูหหารวิภังค์)

       [28] ในปปัญจธรรมเป็นต้นเหล่านั้น อกุศลเจตนาซึ่งกลุ้มรุมจิตด้วยอำนาจแห่งวีติกกมะ พึงให้ทิฏฐธัมมเวทนียะ หรืออุปปัชชเวทนียะ หรืออปราปริยเวทนียะฉันใด ตัณหาก็ให้ผล 3 อย่าง ฉันนั้น คือ ให้ทิฏฐธัมมเวทนียะ หรืออุปปัชชเวทนียะ หรือ อปราปริยเวทนียะ ฯ สมดังพระดำรัสที่ตรัสว่า "บุคคลใด ย่อมทำกรรมใด ที่ทำด้วยความโลภ ด้วยกาย หรือ ด้วยวาจา หรือด้วยใจ บุคคลนั้น ย่อมเสวยวิบากของกรรมนั้น ในทิฏฐธัมมเวทนียะนี้ หรือในอุปปัชชเวทนียะนี้ หรือในอปราปริยเวทนียะนี้" ดังนี้ ฯ
       พระพุทธพจน์นี้ ย่อมสมควรโดยการสืบต่อเบื้องต้นและเบื้องปลาย ฯ
       ในการสืบต่อนั้น ปริยุฏฐานแห่งตัณหา เป็นกรรมอันบุคคลพึงเสวยผลในอัตภาพปัจจุบัน หรือในอัตภาพที่จะเกิดขึ้น หรือว่าในภพต่อ ๆ ไป ฉันใดกรรมก็ย่อมให้ผล 3 อย่าง ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ
       พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า "หากว่า คนพาลมีปกติฆ่าสัตว์ ฯลฯ เป็นมิจฉาทิฏฐิ กระทำกรรมใดเขาย่อมเสวยวิบากแห่งกรรมนั้น ในอัตภาพปัจจุบันนี้ หรือในภพที่จะเกิดขึ้น หรือในภพต่อ ๆ ไป" ดังนี้ พระพุทธพจน์นี้ก็ประกอบในการสืบต่อเบื้องต้นและเบื้องปลาย ฯ
       ในการสืบต่อนั้น ปริยุฏฐานแห่งตัณหาอันบุคคลพึงละได้ด้วยกำลังแห่งการพิจารณา มีอสุภะและอนิจจะเป็นต้น (ตทังคปหานะ) สังขารที่ปรุงแต่งด้วยปปัญจธรรมนั้น พึงละได้ด้วยทัสสนะ (ปฐมมรรค) ตัณหาวิจริต 36 พึงละได้ด้วยกำลังแห่งการเจริญมรรคในเบื้องบน ตัณหาแม้ทั้ง 3 อันบุคคลย่อมละได้ด้วยประการฉะนี้ ฯ ความไม่มีแห่งตัณหาใด ความไม่มีนี้ บัณฑิตกล่าวว่า เป็นสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ (นิพพานธาตุที่มีวิบากขันธ์เหลืออยู่) และความไม่มีแห่งตัณหานี้ ชื่อว่า อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ เพราะการแตกแห่งกาย ฯ
       สภาวะเครื่องผูกพัน ท่านเรียกว่า เป็นเครื่องเนิ่นช้า (ปปัญจะ) เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "เพราะดำริถึงรูปที่พึงรู้ได้ด้วยจักษุ อันเป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน จึงทำให้เนิ่นช้า" ดังนี้ และเหมือนอย่างที่ตรัสว่า "ดูกร ราธะ เธอจงเป็นผู้ไม่อาลัยในรูปที่เป็นไปล่วงแล้ว อย่ายินดีรูปที่ยังไม่มาถึง จงปฏิบัติเพื่อความหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับเพื่อสละ เพื่อสละคืน ซึ่งรูปที่เป็นปัจจุบัน" ดังนี้ ฯ พระพุทธพจน์นี้ย่อมประกอบด้วยความสืบต่อทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลาย ฯ
       อนึ่ง ธรรมเครื่องเนิ่นช้าใด สังขารทั้งหลายเหล่าใด และความยินดียิ่งซึ่งรูปอันเป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันใด สภาวะนี้ทั้งหมด มีเนื้อความเป็นอย่างเดียวกัน ฯ อีกอย่างหนึ่ง พระธรรมเทศนาอันหาประมาณมิได้ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยบททั้งหลายอันประกอบกันและกัน บัณฑิต เทียบเคียงพระสูตรกับพระสูตรอย่างนี้แล้ว ประกอบสนธิโดยเบื้องต้นและเบื้องปลายแล้วอธิบายพระสูตรเถิด ฯ
       อนึ่ง สนธิเบื้องต้นและเบื้องปลายนี้ มี 4 อย่าง คือ อัตถสนธิ 1พยัญชนสนธิ 1 เทสนาสนธิ 1 และนิทเทสสนธิ 1 ฯ
       บรรดาสนธิ 4 เหล่านั้น อัตถสนธิ (การต่ออรรถะ) ได้แก่ บท 6 คือ
       1. สังกาสนา การบอก,
       2. ปกาสนา การประกาศ,
       3. วิวรณา การเปิดเผย,
       4. วิภชนา การจำแนก,
       5. อุตตานีกัมมตา การทำให้ตื้น,
       6. ปัญญัตติ บัญญัติ ฯ
       พยัญชนสนธิ (การต่อพยัญชนะ) ได้แก่ บท 6 คือ
       1. อักขระ ตัวอักษร,
       2. บท ส่วน พากย์,
       3. พยัญชนะ ทำอรรถะให้ปรากฏ,
       4. อาการ การจำแนก,
       5. นิรุตติ ภาษา,
       6. นิทเทส การอธิบาย ฯ
       เทสนาสนธิ (แสดงลักษณะนิพพานธาตุ) ว่า บุคคลผู้ได้ฌานอาศัยปฐวีเป็นอารมณ์เพ่งอยู่ ก็ย่อมไม่รู้ อาศัยอาโปเป็นอารมณ์เพ่งอยู่ ก็ย่อมไม่รู้อาศัยเตโชเป็นอารมณ์เพ่งอยู่ ก็ย่อมไม่รู้ อาศัยวาโยเป็นอารมณ์เพ่งอยู่ ก็ย่อมไม่รู้ ฯลฯ บุคคลได้อรูปฌาน อาศัยอากาสานัญจายตนะ ... อาศัยวิญญาณัญจายตนะ ... อาศัยอากิญจัญญายตนะ ... อาศัยเนวสัญญานาสัญญายตนะเพ่งอยู่ก็ย่อมไม่รู้ บุคคลอาศัยสันดานแห่งสัตว์ในโลกนี้ ... อาศัยสันดานแห่งสัตว์ในปรโลกเพ่งอยู่ ก็ย่อมไม่รู้ บุคคลเว้นสันดานทั้ง 2 แล้ว วัตถุใด อันตนเห็นแล้ว(ทิฏฺฐํ) อันตนได้ยินแล้ว (สุตํ) อันตนทราบแล้ว (มุตํ) และธัมมารมณ์มีอาโปเป็นต้น อันตนรู้แจ้งแล้ว (วิญฺญาตํ) ที่บุคคลถึงแล้ว อันแสวงหาแล้ว ไม่แสวงหาแล้ว หรือ วัตถุใด อันเป็นอารมณ์ของวิตก ของวิจาร หรืออันบุคคลคิดด้วยใจอันใด บุคคลอาศัยวัตถุแม้นั้นเพ่งอยู่ ก็ย่อมไม่รู้ ฯ แต่พระขีณาสพนี้ เพ่งอยู่ด้วยฌานในผลสมบัติ ย่อมรู้เพราะความที่ตัณหาทิฏฐิ และมานะท่านละได้แล้ว ชื่อว่า ย่อมรู้ด้วยจิตที่ไม่อาศัยตัณหา ทิฏฐิและมานะนั้น ที่ใคร ๆ ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์รู้ไม่ได้เพ่งอยู่ ฯ
       เหมือนมารผู้มีบาป แสวงหาอยู่ซึ่งวิญญาณของกุลบุตรชื่อโคธิกะย่อมไม่รู้ ย่อมไม่เห็น เพราะกุลบุตรนั้นมีธรรมเครื่องเนิ่นช้าอันตนก้าวล่วงแล้วเพราะละตัณหา แม้ที่อาศัยของทิฏฐิก็ไม่มี ก็วิญญาณของกุลบุตรโคธิกะฉันใดวิญญาณของท่านพระวักกลิก็ฉันนั้น อันใคร ๆ ในโลก ทั้งเทวโลก มารโลกพรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ย่อมไม่รู้เพราะความที่จิตอันกิเลสไม่อาศัยแล้ว การเทียบเคียงอรรถะแห่งพระสูตรทั้ง 2 นี้ ชื่อว่า เทสนาสนธิ ฯ
       บรรดาสนธิเหล่านั้น นิทเทสสนธิ เป็นไฉน
       บุคคลผู้มีจิตอาศัย พึงแสดงโดยฝ่ายอกุศล บุคคลผู้มีจิตไม่อาศัยพึงแสดงโดยฝ่ายกุศล บุคคลมีจิตอาศัย พึงแสดงโดยกิเลส บุคคลผู้มีจิตไม่อาศัยพึงแสดงโดยโวทานะ บุคคลผู้มีจิตอาศัย พึงแสดงโดยความเป็นไปในสังสารบุคคลมีจิตไม่อาศัย พึงแสดงโดยความไม่เป็นไปแห่งสังสาร ฯ บุคคลผู้มีจิตอาศัย พึงแสดงโดยตัณหาและอวิชชา บุคคลผู้มีจิตไม่อาศัย พึงแสดงโดยสมถะและวิปัสสนา บุคคลผู้มีจิตอาศัย พึงแสดงโดยอหิริกะและอโนตตัปปะบุคคลผู้มีจิตไม่อาศัย พึงแสดงโดยหิริและโอตตัปปะ บุคคลผู้มีจิตอาศัย พึงแสดงโดยความไม่มีสติและสัมปชัญญะ บุคคลผู้มีจิตไม่อาศัย พึงแสดงโดยสติและสัมปชัญญะ บุคคลผู้มีจิตอาศัย พึงแสดงโดยอโยนิโส (ความไม่รู้) และอโยนิโสมนสิการ บุคคลผู้มีจิตไม่อาศัย พึงแสดงโดยความรู้และโยนิโสมนสิการบุคคลผู้มีจิตอาศัย พึงแสดงโดยความเกียจคร้านและความเป็นคนว่ายากบุคคลผู้มีจิตไม่อาศัย พึงแสดงโดยวิริยารัมภะและความเป็นคนว่าง่าย บุคคลผู้มีจิตอาศัย พึงแสดงโดยความไม่มีศรัทธาและความประมาท บุคคลผู้มีจิตไม่อาศัย พึงแสดงโดยศรัทธาและความไม่ประมาท ฯ บุคคลผู้มีจิตอาศัย พึงแสดงโดยความไม่ฟังพระสัทธรรมและความไม่สังวร บุคคลผู้มีจิตไม่อาศัย พึงแสดงโดยการฟังพระสัทธรรมและสังวร ฯ บุคคลผู้มีจิตอาศัย พึงแสดงโดยอภิชฌาและพยาบาท บุคคลผู้มีจิตไม่อาศัย พึงแสดงโดยความไม่มีอภิชฌาและความไม่พยาบาท ฯ บุคคลผู้มีิจิตอาศัย พึงแสดงโดยนิวรณ์ทั้งหลายและสังโยชน์ทั้งหลาย บุคคลผู้มีจิตไม่อาศัย พึงแสดงโดยเจโตวิมุตติอันสำรอกราคะและปัญญาวิมุตติอันสำรอกอวิชชา ฯ บุคคลผู้มีจิตอาศัย พึงแสดงโดยอุทเฉททิฏฐิและสัสสตทิฏฐิ บุคคลผู้มีจิตไม่อาศัย พึงแสดงโดยนิพพานธาตุที่เป็นสอุปาทิเสสะและอนุปาทิเสสะ ฯ
       การเทียบเคียงต่อนิทเทสกับนิทเทส ด้วยสามารถแห่งจิตอาศัย แห่งนิทเทสแรกมีอกุศลเป็นต้นกับนิทเทสหลังมีสังกิเลสเป็นต้น และด้วยสามารถแห่งจิตไม่อาศัย แห่งนิทเทสแรกมีกุศลเป็นต้นกับนิทเทสหลังมีโวทานะเป็นต้นนี้ ชื่อ ว่า นิทเทสสนธิ ฯ เพราะเหตุนั้น ท่านพระมหากัจจายนะ จึงกล่าว จตุพยูหะว่า "เนรุตตะ อธิปปายะ นิทานะ และสนธิ" ดังนี้ ฯ
       จบ จตุพยูหหารวิภังค์
       7. อาวัฏฏหารวิภังค์
[สารบัญ] | หน้าค้นหา
(ไม่สงวนลิขสิทธิ์)