สารบัญเนตติ ห้วเรื่อง, เลขข้อ | เนตติไฟล์เดียว html, text

เนตติปกรณ์แปล ข้อ 029 (7. อาวัฏฏหารวิภังค์)

       [29] บรรดาหาระ 16 นั้น หาระคือ อาวัฏฏะ เป็นไฉน
       เทศนาว่า "ท่านทั้งหลาย จงริเริ่ม จงก้าวหน้าจงประกอบความเพียรในพระพุทธศาสนาจงกำจัดเสนาแห่งมัจจุ เหมือนช้างพลายกำจัดเรือนไม้อ้อ ฉะนั้น" เป็นต้นในนิทเทสว่า "เอกมฺหิ ปทฏฺฐาเน" เป็นต้น นี้ชื่อว่า หาระ คือ อาวัฏฏะ ฯ
       คำว่า "ท่านทั้งหลาย จงริเริ่ม จงก้าวหน้า" นี้ เป็นปทัฏฐาน (เหตุให้เกิดขึ้น) แห่งวิริยะ ฯ คำว่า "จงประกอบความเพียรในพระพุทธศาสนา"นี้ เป็นปทัฏฐานแห่งความเพียร อันเป็นไปกับสมาธิ ฯ คำว่า "จงกำจัดเสนาแห่งมัจจุ เหมือนช้างพลายกำจัดเรือนไม้อ้อ ฉะนั้น" นี้ เป็นปทัฏฐานแห่งปัญญา ฯ
       คำว่า "ท่านทั้งหลาย จงริเริ่ม จงก้าวหน้า" ดังนี้ เป็นปทัฏฐานของวิริยินทรีย์ คำว่า "จงประกอบความเพียรในพระพุทธศาสนา" ดังนี้ เป็นปทัฏฐานของสมาธินทรีย์ คำว่า "จงกำจัดเสนาแห่งมัจจุ เหมือนช้างกำจัดเรือนไม้อ้อฉะนั้น" ดังนี้ เป็นปทัฏฐานของปัญญินทรีย์ ฯ ปทัฏฐานเหล่านี้ เป็นเทศนา ฯ
       เหตุในการประกอบ (ความเพียร) ของสัตว์ทั้งหลายผู้ไม่ประกอบ(คือผู้มีญาณไม่แก่กล้า) และความริเริ่มของสัตว์ทั้งหลายผู้ประกอบอยู่(ผู้มีญาณแก่กล้า) ฯ
       ในการไม่ประกอบและการประกอบทั้ง 2 นั้น สัตว์เหล่าใด มีญาณไม่แก่กล้า ย่อมไม่ประกอบ สัตว์ผู้ไม่ประกอบนั้น เป็นผู้มีความประมาทเป็นมูลย่อมไม่ประกอบเพราะความประมาทใด ความประมาทนั้น มี 2 อย่าง คือ มีตัณหาเป็นมูล และมีอวิชชาเป็นมูล ฯ ในความประมาททั้ง 2 นั้น สัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นมูล บุคคลผู้ประมาทใด อันความไม่รู้หุ้มห่อแล้ว ย่อมไม่รู้ฐานะที่ควรรู้ว่า "ขันธ์ 5 เหล่านี้ มีความเกิดขึ้นและมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา" ความประมาทอันมีความไม่รู้นี้ ชื่อว่า ความประมาทมีอวิชชาเป็นมูล ฯ ความประมาทใดมีตัณหาเป็นมูล ความประมาทนั้นมี 3 อย่าง คือ สัตว์ผู้มีความอยาก(ผู้ดิ้นรน) แสวงหาอยู่เพื่อโภคะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้นเพื่อให้เกิดขึ้น ย่อมถึงความประมาทใด ความประมาทนี้ 1 สัตว์ผู้มีความอยากรักษาอยู่ เพื่อให้โภคะทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้ว ตั้งอยู่ ย่อมถึงความประมาทใด อันมีการรักษาเป็นนิมิต ความประมาทนี้ 1 สัตว์ผู้มีความอยากบริโภคอยู่ซึ่งโภคะที่มีอยู่ย่อมถึงความประมาทใดอันมีการบริโภคเป็นนิมิต ความประมาทนี้ 1 เพราะฉะนั้นความประมาทที่มีตัณหาเป็นมูลจึงมี 3 อย่าง ความประมาท 4 อย่างนี้ คือ ความประมาทด้วยอวิชชาอย่าง 1 ด้วยตัณหา 3 อย่าง มีอยู่ในโลก ฯ
       ในอวิชชาและตัณหานั้น นามกาย (คือการประชุมแห่งนามมีผัสสะเป็นต้น)เป็นปทัฏฐานแห่งอวิชชา ฯ รูปกาย (คือ การประชุมแห่งรูปมีปฐวีเป็นต้น)เป็นปทัฏฐานแห่งตัณหา ฯ ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะความยึดมั่นของตัณหาตั้งอยู่แล้วในสัตว์ทั้งหลาย ด้วยสามารถแห่งการยึดถือว่า เป็นเรา เป็นของเราในรูปธรรมทั้งหลาย เพราะฉะนั้น รูปกายจึงเป็นปทัฏฐาน (เหตุให้เกิดขึ้น)แห่งตัณหา ความหลงใหลในอรูปธรรมทั้งหลาย ตั้งอยู่แล้วในหมู่สัตว์ เพราะความที่ธรรมทั้งหลายมีผัสสะเป็นต้น มีภาวะของตนละเอียดยิ่ง และเพราะการแยกฆนะแห่งอารมณ์ โดยกิจที่สืบต่อและการประชุมกันกระทำได้โดยยากเพราะฉะนั้น อรูปกายจึงเป็นปทัฏฐานแห่งอวิชชา ฯ
       ในรูปกายและนามกายเหล่านั้น รูปขันธ์ ชื่อว่า รูปกาย (การประชุมแห่งรูป) อรูปขันธ์ 4 ชื่อว่า นามกาย (การประชุมแห่งนาม) ฯ ขันธ์ 5 เหล่านี้
       ชื่อว่า มีอุปาทาน ด้วยอุปาทาน เป็นไฉน
       ขันธ์ 5 นี้ ชื่อว่า มีอุปาทาน ด้วยตัณหาที่เป็นอุปาทาน และอวิชชาที่เป็นอุปาทาน ฯ ในตัณหาและอวิชชานั้น ตัณหาเป็นอุปาทาน 2 อย่าง คือ กามุปาทานและสีลัพพตุปาทาน ฯ อวิชชาเป็นอุปาทาน 2 อย่าง คือ ทิฏฐุปาทานและอัตตวาทุปาทาน ฯ โลกียขันธ์ เป็นขันธ์ที่มีอุปาทาน 4 เหล่านี้ ขันธปัญจกะที่มีอุปาทานนี้ ชื่อว่า ทุกขสัจจะ ฯ อุปาทาน 4 เหล่าใด เป็นเหตุแห่งทุกข์หมวด 4 แห่งอุปาทานนี้ ชื่อว่า สมุทัยสัจจะ ฯ ขันธ์ 5 ที่มีอุปาทานเป็นทุกข์เพราะเป็นวัตถุแห่งทุกข์ ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมทรงแสดงธรรมอันสมควรแก่เวไนยสัตว์ มีคำว่า "ท่านทั้งหลาย จงริเริ่ม" เป็นต้น เพื่อการกำหนดรู้และเพื่อการละขันธ์ 5 ที่มีอุปาทานเหล่านั้น คือ เพื่อการกำหนดรู้ทุกข์ เพื่อการละสมุทัย ฯ
[สารบัญ] | หน้าค้นหา
(ไม่สงวนลิขสิทธิ์)