สารบัญเนตติ ห้วเรื่อง, เลขข้อ | เนตติไฟล์เดียว html, text

เนตติปกรณ์แปล ข้อ 031 (7. อาวัฏฏหารวิภังค์)

       [31] มิจฉัตตะ 8 คือ มิจฉาทิฏฐิ 1 มิจฉาสังกัปปะ 1 มิจฉาวาจา 1 มิจฉากัมมันตะ 1 มิจฉาอาชีวะ 1 มิจฉาวายามะ 1 มิจฉาสติ 1 และมิจฉาสมาธิ 1ชื่อว่า บาปทั้งปวง ฯ มิจฉัตตะนี้ ท่านเรียกว่า บาปทั้งปวง ฯ กิริยาที่ไม่กระทำการไม่กระทำ การไม่ประพฤติตามซึ่งมิจฉัตตะ 8 เหล่านี้ กิริยาที่ไม่กระทำเป็นต้นนี้ ท่านเรียกว่า การไม่ทำบาปทั้งปวง ฯ
       เมื่อมิจฉัตตะ 8 อันบุคคลละได้แล้ว สัมมัตตะ 8 ย่อมถึงพร้อม ฯ กิริยาที่กระทำ การกระทำ การประพฤติตามสัมมัตตะ 8 การถึงพร้อมด้วยบททั้ง 3 นี้ ท่านเรียกว่า การยังกุศลให้ถึงพร้อม ฯ คำว่า "การชำระจิตให้ผ่องแผ้ว"ดังนี้ ได้แก่ ย่อมแสดงถึงการกระทำ คือ การเจริญมรรคที่เป็นอดีต เมื่อจิตผ่องแผ้ว ย่อมยังขันธ์ 5 ให้ผ่องแผ้ว สมดังพระดำรัส ที่ตรัสไว้ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์จักอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อความหมดจดแห่งจิต" ดังนี้จริงอยู่ การยังจิตให้ผ่องแผ้วมี 2 อย่าง ได้แก่ การละนิวรณ์และการถอนขึ้นซึ่งอนุสัยฯ ภูมิที่ยังจิตให้ผ่องแผ้วก็มี 2 คือ ทัสสนภูมิและภาวนาภูมิ ฯ
       บรรดาธรรมทั้งหลายที่พระองค์ทรงแสดงแล้ว ในคาถานั้น ขันธปัญจกะใดยังจิตให้ผ่องใสโดยการแทงตลอดด้วยปริญญา ขันธปัญจกะนี้ เป็นทุกขสัจจะขันธปัญจกะที่ยังจิตให้ผ่องใสจากตัณหาและสังกิเลสใด ตัณหาและสังกิเลสนี้เป็นสมุทยสัจจะ ขันธปัญจกะที่ยังจิตให้ผ่องใสด้วยองค์แห่งอริยมรรคใดมรรคนี้เป็นมัคคสัจจะ ขันธปัญจกะใดผ่องแผ้วแล้วโดยบรรลุถึงอสังขตธาตุอสังขตธาตุธรรมนี้ เป็นนิโรธ คือ เป็นนิโรธสัจจะ ฯ สัจจะ 4 เหล่านี้ พระองค์ทรงยกขึ้นแสดงด้วยอำนาจแห่งความหมุนไปแห่งสภาคะและวิสภาคะ ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า "การไม่ทำบาปทั้งปวง" ดังนี้ ฯ
       พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ธรรมแล ย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม เหมือนร่มคันใหญ่มีประโยชน์ในฤดูฝนนี้ นี้เป็นอานิสงส์ในธรรมอันบุคคลประพฤติดีแล้วเพราะผู้มีปกติประพฤติธรรมย่อมไม่ไปสู่ทุคติ" ดังนี้ ฯ
       ชื่อว่า ธรรมมี 2 อย่าง คือ อินทริยสังวรและมรรค ชื่อว่า ทุคติ ก็มี 2 อย่าง คือ อบายภูมิทั้งหลาย ชื่อว่าทุคติ เพราะการเปรียบเทียบกับเทวดาหรือมนุษย์ และการเกิดทั้งปวง ชื่อว่า ทุคติ เพราะเปรียบกับพระนิพพาน ฯ
       ในบาทแรกแห่งคาถานั้น การที่บุคคลไม่ยังศีลสังวรให้ขาด อันใด นี้ชื่อว่า ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว ย่อมรักษาตนจากอบายทั้งหลาย ฯ โดยประการตามที่กล่าวนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย คติของบุคคลผู้มีศีลมี 2 อย่าง คือ เทวดาและมนุษย์" ฯ
       เรื่องนายคามณีนายคามณีชื่อว่า อสิพันธกบุตร ในนิคมชื่อว่านาลันทา ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกพราหมณ์ชาวปัจฉาภูมิ มีคณโฑน้ำติดตัว ประดับพวงมาลัยสาหร่าย อาบน้ำทุกเช้าเย็น บำเรอไฟ พราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่ายังสัตว์ที่ตายแล้ว ทำกาละแล้วให้เป็นขึ้น ให้รู้ชอบชวนให้เข้าสวรรค์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า สามารถกระทำให้สัตว์โลกทั้งหมด เมื่อตายไป พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ได้หรือ"พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ดูกรนายคามณี ถ้าอย่างนั้น เราจักย้อนถามท่านในข้อนี้ ปัญหาควรแก่ท่านโดยประการใด ท่านพึงพยากรณ์ปัญหาข้อนั้นโดยประการนั้นท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษในโลกนี้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ มากไปด้วยอภิชฌา มีจิตพยาบาท มีความเห็นผิด หมู่มหาชนมาประชุมกันแล้วพึงสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือเดินเวียนรอบผู้นั้นว่า ขอบุรุษนี้ เมื่อตายไปจงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นเมื่อตายไป พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เพราะเหตุแห่งการสวดวิงวอน เพราะเหตุแห่งการสรรเสริญ หรือเพราะเหตุแห่งการประนมมือเดินเวียนรอบ ดังนี้หรือ"นายคามณี กราบทูลว่า "ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ"พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ดูกรนายคามณี เปรียบเหมือนบุรุษโยนหินก้อนหนาใหญ่ลงในห้วงน้ำลึก หมู่มหาชนพึงมาประชุมกันแล้วสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือเดินเวียนรอบหินนั้นว่า ขอจงโผล่ขึ้นเถิดท่านก้อนหิน ขอจงลอยขึ้นเถิดท่านก้อนหิน ขอจงขึ้นบกเถิดท่านก้อนหิน ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ก้อนหินนั้นพึงโผล่ขึ้น พึงลอยขึ้น หรือพึงขึ้นบก เพราะเหตุแห่งการสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือเดินเวียนรอบของหมู่มหาชนบ้างหรือ"นายคามณีทูลว่า "ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ"พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ดูกรนายคามณี ฉันนั้นเหมือนกัน บุรุษคนใดฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ มากไปด้วยอภิชฌา มีจิตพยาบาท มีความเห็นผิด หมู่มหาชนพึงมาประชุมกันแล้วสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือเดินเวียนรอบบุรุษนั้นว่า ขอบุรุษนี้เมื่อตายไป จงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ก็จริง ถึงอย่างนั้น บุรุษนั้น เมื่อตายไป พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ฯ"ว่าด้วยสัตว์ผู้เข้าถึงสวรรค์"ดูกรนายคามณี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษในโลกนี้เว้นปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท ปิสุณาวาจาผรุสวาจา สัมผัปปลาปะ ไม่มากไปด้วยอภิชฌา มีจิตไม่พยาบาท มีความเห็นชอบ หมู่มหาชนพึงมาประชุมกันแล้วสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือ เดินเวียนรอบบุรุษนั้นว่า ขอบุรุษนี้ เมื่อตายไป จงเข้าถึงอบาย ทุคติวินิบาต นรก ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นเมื่อตายไป พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะเหตุแห่งการสวดวิงวอน สรรเสริญหรือเพราะเหตุแห่งการประนมมือเดินเวียนรอบของหมู่มหาชนบ้างหรือ "นายคามณีทูลว่า "ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ"พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ดูกรนายคามณี เปรียบเหมือนบุรุษลงยังห้วงน้ำลึกแล้ว พึงทุบหม้อเนยใส หรือหม้อน้ำมัน ก้อนกรวดหรือก้อนหินที่มีอยู่ในหม้อนั้น พึงจมลง เนยใสหรือน้ำมันที่มีอยู่ในหม้อนั้นพึงลอยขึ้น หมู่มหาชนพึงมาประชุมกันแล้วสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือเดินเวียนรอบเนยใสหรือน้ำมันนั้นว่า ขอจงจมลงเถิดท่านเนยใสและท่านน้ำมัน ขอจงดำลงเถิดท่านเนยใสและท่านน้ำมัน ขอจงลงภายใต้เถิดท่านเนยใสและท่านน้ำมันท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เนยใสและน้ำมันนั้น พึงจมลง พึงดำลง พึงลงภายใต้ เพราะเหตุแห่งการสวดวิงวอน สรรเสริญ หรือเพราะเหตุแห่งการประนมมือเดินเวียนรอบ ของหมู่มหาชนบ้างหรือ"นายคามณีทูลว่า "ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ"พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ดูกรนายคามณี ฉันนั้นเหมือนกัน บุรุษใดเว้นจากปาณาติบาตอทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท ปิสุณาวาจา ผรุสวาท สัมผัปปลาปะ ไม่มากไปด้วยอภิชฌา มีจิตไม่พยาบาท มีความเห็นชอบหมู่มหาชนจะมาประชุมแล้วสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือเดินเวียนรอบบุรุษนั้นว่า ขอบุรุษนี้ เมื่อตายไป จงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาตนรก ก็จริง ถึงอย่างนั้น บุรุษนั้นเมื่อตายไป พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ฯ
       ด้วยคำตามที่กล่าวนี้ ธรรมที่่บุคคลประพฤติดีแล้ว ย่อมรักษาให้พ้นจากอบายทั้งหลาย ฯ"ในคาถานั้น ความคมกล้า คือ ความที่อริยมรรคเป็นธรรมมีประมาณยิ่งอันใด ธรรมนี้ประพฤติดีแล้ว ย่อมรักษาให้พ้นจากการเกิดทั้งหลายทั้งปวง ฯ
       ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "เพราะเหตุนั้น ภิกษุมีความดำริชอบเป็นโคจร มุ่งสัมมาทิฏฐิเป็นเบื้องหน้า รู้ความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแล้ว ครอบงำถีนมิทธะพึงละทุคติทั้งปวงได้" ดังนี้ ฯ
[สารบัญ] | หน้าค้นหา
(ไม่สงวนลิขสิทธิ์)