สารบัญเนตติ ห้วเรื่อง, เลขข้อ | เนตติไฟล์เดียว html, text

เนตติปกรณ์แปล ข้อ 037 (10. เววจนหารวิภังค์)

       [37] บรรดาหาระ 16 นั้น หาระ คือ เววจนะ เป็นไฉน
       นิทเทสว่า "ถ้อยคำ มีอย่างต่าง ๆ มากในพระสูตร โดยปริยายแห่งธรรม มีกาม 6 บทนั้น กาม 4 บทแรก มุ่งถึง วัตถุกาม กาม 2 บทหลัง มุ่งถึงกิเลสกาม ฯ
       ความหมายอย่างเดียวกัน" เป็นต้น เป็นเววจนหาระ ฯ
       พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมอย่างหนึ่ง โดยเววจนะ (คำไวพจน์)ซึ่่งแทนกันและกันได้ เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า "อาสา (ความหวัง) ปิหา (ความปรารถนา) อภินันทนา (ความยินดียิ่ง) สรา คือ ตัณหาที่ซ่านไปตั้งอยู่ในอเนกธาตุ ตัณหาที่มีความไม่รู้เป็นมูลธรรมชาติที่เกิดก่อน และธรรมชาติที่กระซิบทั่ว ตัณหาทั้งหมดพร้อมทั้งมูลรากอันเรากระทำให้สิ้นแล้ว" ดังนี้ ฯ
       ความหวังซึ่งประโยชน์อันมี (ในอนาคต) อันใด ย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้ปรารถนาว่า ประโยชน์จักมาถึงแน่แท้ ตัณหานี้ท่านเรียกชื่อว่า อาสา ฯ ความปรารถนาซึ่งประโยชน์อันกำลังเป็นไป หรือเห็นสิ่งที่ดีกว่าแล้วปรารถนาว่า ขอเราพึงเป็นเช่นนี้ อันใด ตัณหานี้ท่านเรียกชื่อว่า ปิหา ฯ การรักษาประโยชน์ที่สำเร็จ ชื่อว่า อภินันทนา คือ ย่อมยินดียิ่ง (สนุกสนาน) กับญาติที่รัก หรือย่อมยินดียิ่งซึ่งธรรม (มีรูปที่เป็นอติอิฏฐารมณ์เป็นต้น) หรือย่อมยินดีซึ่งสัตว์และสังขารโดยความไม่ปฏิกูลด้วยอำนาจวิปลาส ฯ
       คำว่า "อเนกธาตุ" ได้แก่ จักขุธาตุ รูปธาตุ จักขุวิญญาณธาตุ โสตธาตุ สัททธาตุ โสตวิญญาณธาตุ ฆานธาตุ คันธธาตุ ฆานวิญญาณธาตุชิวหาธาตุ รสธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ กายธาตุ โผฏฐัพพธาตุ กายวิญญาณธาตุ มโนธาตุ ธัมมธาตุ มโนวิญญาณธาตุ ฯ (โดยย่อ 18 ธาตุ) ฯ
       คำว่า "สรา" (แปลว่า ซ่านไป) ได้แก่ บางคนมีตัณหาน้อมไปในรูป (ติดในรูป) บางคนมีตัณหาน้อมไปในเสียง บางคนมีตัณหาน้อมไปในกลิ่น บางคนมีตัณหาน้อมไปในรส บางคนมีตัณหาน้อมไปในโผฏฐัพพะ บางคนมีตัณหาน้อมไปในธรรม ฯ
       ในธาตุ 6 มีรูปธาตุเป็นต้นนั้น โทมนัส 6 อันอาศัยเรือน โสมนัส 6อาศัยเรือน และโทมนัส 6 อาศัยเนกขัมมะ โสมนัส 6 อาศัยเนกขัมมะ รวม 24 บทเหล่านี้เป็นฝ่ายแห่งตัณหา เป็นคำไวพจน์ของตัณหา ฯ อุเบกขา 6ที่อาศัยเรือน นี้เป็นฝ่ายแห่งทิฏฐิ ฯ
[สารบัญ] | หน้าค้นหา
(ไม่สงวนลิขสิทธิ์)