สารบัญเนตติ ห้วเรื่อง, เลขข้อ | เนตติไฟล์เดียว html, text

เนตติปกรณ์แปล ข้อ 043 (12. โอตรณหารวิภังค์)

       [43] "การเคลื่อนไป ย่อมมีแก่บุคคลผู้อันตัณหาและทิฏฐิอาศัย การเคลื่อนไป ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัย เมื่อการเคลื่อนไปไม่มี ปัสสัทธิย่อมมี เมื่อปัสสัทธิมีอยู่ ความยินดีย่อมไม่มี เมื่อความยินดีไม่มีอยู่ การมาและการไปย่อมไม่มี เมื่อการมาการไปไม่มี จุติและการเกิดก็ย่อมไม่มี เมื่อจุติและการเกิดไม่มี โลกนี้ก็ไม่มี โลกหน้าก็ไม่มีระหว่างโลกทั้ง 2 ก็ไม่มี ปฏิจจสมุปบาทนี้นั่นแลเป็นที่สุดแห่งทุกข์" ดังนี้ ฯ
       คำว่า "นิสฺสิตสฺส จลิตํ" อธิบายว่า ชื่อว่านิสสัย (ความประพฤติที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน) มี 2 อย่าง คือ ตัณหานิสสัย และ ทิฏฐินิสสัย ในธรรมทั้ง 2 นั้น เจตนาของบุคคลผู้กำหนัดแล้ว อันใด เจตนาธรรมนี้ ชื่อว่า ตัณหานิสสัย ฯ เจตนาของบุคคลผู้หลงอันใด เจตนาธรรมนี้ ชื่อว่า ทิฏฐินิสสัย ฯ ก็เจตนาเป็นสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยนามรูปจึงมี ปฏิจจสมุปบาททั้งปวงเป็นไปด้วยอาการอย่างนี้ เทศนาที่หยั่งลงนี้ชื่อว่า โอตรณาด้วยปฏิจจสมุปบาททั้งหลาย ฯ
       ในตัณหานิสสัยและทิฏฐินิสสัยนั้น เวทนาของบุคคลผู้กำหนัด อันใด เวทนานี้เป็นสุขเวทนา (คือ นอนเนื่องในสุขเวทนา) เวทนาของบุคคลผู้หลง อันใด เวทนานี้เป็นอทุกขมสุขเวทนา (คือ นอนเนื่องอยู่ในอทุกขมสุข) เวทนาทั้ง 2 นี้เป็นเวทนาขันธ์ เทศนาที่หยั่งลงนี้ ชื่อว่า โอตรณาด้วยขันธ์ทั้งหลาย ฯ
       ในขันธ์นั้น สุขเวทนาเป็นอินทรีย์ 2 คือ สุขินทรีย์ และโสมนัสสินทรีย์ส่วนอทุกขมสุขเวทนาเป็นอุเบกขินทรีย์ เทศนาที่หยั่งลงนี้ ชื่อว่า โอตรณาด้วยอินทรีย์ทั้งหลาย ฯ อินทรีย์เหล่านั้นนั่นแหละ หยั่งลงในสังขาร สังขารเหล่าใดมีอาสวะเป็นองค์แห่งการเกิด สังขารเหล่านั้นสงเคราะห์ในธรรมธาตุเทศนาที่หยั่งลงนี้ ชื่อว่า โอตรณาด้วยธาตุทั้งหลาย ฯ ธรรมธาตุนั้น นับเนื่องในธัมมายตนะ อายตนะใดมีอาสวะเป็นองค์แห่งการเกิด เทศนาที่หยั่งลงนี้ชื่อว่า โอตรณาด้วยอายตนะทั้งหลาย ฯ
       คำว่า "การเคลื่อนไป ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่อาศัย" ความว่า บุคคลอันตัณหาไม่อาศัย ด้วยอำนาจสมถะ หรือบุคคลผู้อันทิฏฐิไม่อาศัย ด้วยอำนาจวิปัสสนา วิปัสสนาอันใด อันนี้ เป็นวิชชา เพราะความเกิดขึ้นแห่งวิชชา อวิชชาจึงดับ เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับปฏิจจสมุปบาททั้งปวงเป็นไปอย่างนี้ เทศนาที่หยั่งลงนี้ ชื่อว่า โอตรณาด้วยปฏิจจสมุปบาททั้งหลาย ฯ
       วิปัสสนานั้นนั่นแหละ เป็นปัญญาขันธ์ เทศนาที่หยั่งลงนี้ ชื่อว่า โอตรณาด้วยขันธ์ทั้งหลาย ฯ วิปัสสนานั่นแหละ เป็น 2 อินทรีย์ คือ วิริยินทรีย์ และปัญญินทรีย์ เทศนาที่หยั่งลงนี้ ชื่อว่า โอตรณาด้วยอินทรีย์ทั้งหลาย ฯ
       วิปัสสนานั้นนั่นแหละ นับเนื่องในสังขาร สังขารเหล่าใด ไม่มีอาสวะและไม่เป็นองค์แห่งการเกิด สังขารเหล่านั้นสงเคราะห์ในธรรมธาตุ เทศนาที่หยั่งลงนี้ ชื่อว่า โอตรณาด้วยธาตุทั้งหลาย ฯ ธรรมธาตุนั้นหยั่งลงในธัมมายตนะ อายตนะใดไม่มีอาสวะ และไม่เป็นองค์แห่งการเกิด เทศนาที่หยั่งลงนี้ ชื่อว่า โอตรณาด้วยอายตนะทั้งหลาย ฯ
       คำว่า "ปสฺสทฺธิยา สติ" ได้แก่ ปัสสัทธิ 2 อย่าง คือ ความสงบอันเป็นไปทางกาย และความสงบอันเป็นไปทางใจ กายิกสุข อันใด นี้ชื่อว่า กายปัสสัทธิเจตสิกสุขอันใด นี้ชื่อว่า เจตสิกปัสสัทธิ ฯ บุคคลผู้มีกายอันสงบแล้ว ย่อมเสวยสุข จิตของผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น ผู้มีจิตตั้งมั่นแล้วย่อมรู้ตามความเป็นจริง บุคคลเมื่อรู้ตามความเป็นจริงย่อมเบื่อหน่าย เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้นเพราะหมดความยินดี ญาณในจิตที่หลุดพ้นแล้วว่า เราหลุดพ้นแล้ว ย่อมรู้ว่า ชาติสิ้นแล้ว การประพฤติพรหมจรรย์จบแล้ว กิจที่ควรกระทำ เราทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดังนี้ ฯ
       บุคคลนั้น ย่อมไม่น้อมไปในรูปทั้งหลาย ย่อมไม่น้อมไปในเสียงทั้งหลายย่อมไม่น้อมไปในกลิ่นทั้งหลาย ย่อมไม่น้อมไปในรสทั้งหลาย ย่อมไม่น้อมไปในโผฏฐัพพะทั้งหลาย ย่อมไม่น้อมไปในธรรมทั้งหลาย เพราะความสิ้นราคะ เพราะความสิ้นโทสะ เพราะความสิ้นโมหะ เมื่อจะบัญญัติ พึงประกาศสัตว์ผู้ไปแล้วอย่างนั้น ว่า กำลังยืนอยู่ กำลังเที่ยวไปด้วยรูปใด แต่เพราะความสิ้นไปแห่งรูปนั้น เพราะคลายกำหนัด เพราะความดับ เพราะสละ เพราะสละคืน เป็นสัตว์พ้นแล้วในการนับว่ารูป (เพราะ) สัตว์ผู้ไปแล้วอย่างนั้นไม่ถึงแล้วซึ่งการนับว่า"มีอยู่" ดังนี้บ้าง ไม่เข้าถึงแล้วว่า "ไม่มีอยู่" ดังนี้บ้าง ไม่เข้าถึงแล้วว่า "มีอยู่ไม่มีอยู่" ดังนี้บ้าง ไม่เข้าถึงแล้วว่า "มีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่" ดังนี้บ้าง โดยที่แท้ สัตว์นั้นสุขุมคือยากที่ใคร ๆ จะเข้าใจได้ เป็นสัตว์มีคุณไม่มีประมาณ อันบุคคลไม่พึงนับ ย่อมถึงซึ่งการนับว่า สัตว์นั้นสงบแล้วทีเดียว เพราะความสิ้นไปแห่งราคะ เพราะความสิ้นไปแห่งโทสะ เพราะความสิ้นไปแห่งโมหะ ฯ
       เมื่อจะบัญญัติ พึงประกาศสัตว์ผู้ไปแล้วอย่างนั้นว่า กำลังยืนอยู่ กำลังเที่ยวไป ด้วยเวทนาใด ฯลฯ ด้วยสัญญาใด ฯลฯ ด้วยสังขารทั้งหลายเหล่าใดฯลฯ ด้วยวิญญาณใด แต่เพราะความสิ้นไปแห่งวิญญาณนั้น เพราะคลายกำหนัดเพราะความดับ เพราะสละ เพราะสละคืน ซึ่งเป็นสัตว์พ้นแล้ว ในการนับว่าวิญญาณ เพราะสัตว์ผู้ไปแล้วอย่างนั้น ไม่เข้าถึงแล้วซึ่งการนับว่า "มีอยู่"ดังนี้บ้าง ไม่เข้าถึงแล้วซึ่งการนับว่า "ไม่มีอยู่" ดังนี้บ้าง ไม่เข้าถึงแล้วซึ่งการนับว่า "มีอยู่ ไม่มีอยู่" ดังนี้บ้าง ไม่เข้าถึงแล้วซึ่งการนับว่า "มีอยู่ก็ไม่ใช่ไม่มีอยู่ก็มิใช่" ดังนี้บ้าง โดยที่แท้ สัตว์นั้นสุขุม คือยากที่ใคร ๆ จะเข้าใจได้เป็นสัตว์มีคุณไม่มีประมาณ อันบุคคลไม่พึงนับ แต่ย่อมถึงซึ่งการนับว่า สัตว์นั้นสงบแล้ว เพราะสิ้นราคะ เพราะสิ้นโทสะ เพราะสิ้นโมหะ ฯ
       คำว่า "อาคติ" ได้แก่ ผู้มาในโลกนี้คำว่า "คติ" ได้แก่ สัตว์ละภพนี้ไป ฯ อธิบายว่า แม้การมาและการไปก็ย่อมไม่มี ฯ
       คำว่า "เนวิธ" แปลว่า ในโลกนี้ก็ไม่มี ได้แก่ อายตนะภายใน 6 ฯ คำว่า"น หุรํ" แปลว่า ในโลกอื่นก็ไม่มี ได้แก่ อายตนะภายนอก 6 ฯ คำว่า"น อุภยมนฺตเรน" แปลว่า ระหว่างโลกทั้ง 2 ก็ไม่มี ได้แก่ ย่อมไม่เห็นตนในธรรมทั้งหลายที่ตั้งขึ้นด้วยผัสสะ ฯ
       คำว่า "เอเสวนฺโต ทุกฺขสฺส" แปลว่า นี้เป็นที่สุดแห่งทุกข์ ได้แก่ ปฏิจจสมุปบาท อธิบายว่า ปฏิจจสมุปบาทนั้น มี 2 คือ โลกียะและโลกุตตระ ฯ ใน 2อย่างนั้น โลกียปฏิจจสมุปบาทว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขารทั้งหลายจนกระทั่งถึง ชรา มรณะ ฯ โลกุตตรปฏิจจสมุปบาทว่า ความไม่เดือดร้อนย่อมเกิดแก่ผู้มีศีล จนกระทั่งถึงญาณรู้ว่า กิจอย่างอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ฯ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า"การเคลื่อนไปย่อมมีแก่ผู้อาศัย การเคลื่อนไป ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่อาศัย ฯลฯ ปฏิจจสมุปบาทนี้นั่นแหละเป็นที่สุดแห่งทุกข์" ดังนี้ ฯ
[สารบัญ] | หน้าค้นหา
(ไม่สงวนลิขสิทธิ์)