สารบัญเนตติ ห้วเรื่อง, เลขข้อ | เนตติไฟล์เดียว html, text

เนตติปกรณ์แปล ข้อ 044 (12. โอตรณหารวิภังค์)

       [44] พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า"ความโศกก็ดี ความร่ำไรก็ดี ความทุกข์ก็ดี แต่ละอย่างมากมายในโลกนี้ เพราะอาศัยสัตว์ หรือสังขารอันเป็นที่รัก เมื่อไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รัก ความโศก ความร้องไห้ร่ำไร และความทุกข์เหล่านี้ย่อมไม่มี เพราะเหตุนั้นแล ผู้ใด ไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รักในโลกไหน ๆ ผู้นั้นเป็นผู้มีความสุข ปราศจากความโศก เพราะเหตุนั้น ผู้ปรารถนาความไม่โศก อันปราศจากกิเลสดุจธุลี ไม่พึงทำสัตว์ หรือสังขารให้เป็นที่รักในโลกไหน ๆ" ดังนี้ ฯ ข้อว่า"ความโศกก็ดี ความร่ำไรก็ดี ความทุกข์ก็ดี แต่ละอย่างมากมายในโลกนี้ เพราะอาศัยสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รัก" นี้เป็นทุกขเวทนา ฯ
       ข้อว่า "เมื่อไม่มีสัตว์ หรือสังขารอันเป็นที่รัก ความโศก ความร้องไห้ร่ำไรและความทุกข์เหล่านี้ ย่อมไม่มี" นี้เป็นสุขเวทนาฯ เวทนา ได้แก่ เวทนาขันธ์ เทศนาที่หยั่งลงนี้ ชื่อว่า โอตรณาด้วยขันธ์ทั้งหลาย ฯ
       เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงมีอุปาทานเพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัยจึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมีชรามรณะ ชรามรณะทั้งปวงมีด้วยอาการอย่างนี้ เทศนาที่หยั่งลงนี้ชื่อว่า โอตรณาด้วยปฏิจจสมุปบาททั้งหลาย ฯ
       บรรดาเวทนาเหล่านั้น สุขเวทนาเป็นอินทรีย์ 2 คือ สุขินทรีย์และโสมนัสสินทรีย์ ทุกขเวทนาเป็นอินทรีย์ 2 คือ ทุกขินทรีย์และโทมนัสสินทรีย์เทสนาที่หยั่งลงนี้ ชื่อว่า โอตรณาด้วยอินทรีย์ทั้งหลาย ฯ อินทรีย์เหล่านั้นนั่นแหละหยั่งลงในสังขาร สังขารเหล่าใด มีอาสวะและเป็นองค์แห่งภพสังขารเหล่านั้นสงเคราะห์ด้วยธัมมธาตุ นี้ชื่อว่า โอตรณาด้วยธาตุทั้งหลาย ฯ
       ธัมมธาตุนั้นนับเนื่องในธัมมายตนะ อายตนะใด มีอาสวะเป็นองค์แห่งภพนี้ชื่อว่า โอตรณาด้วยอายตนะทั้งหลาย ฯ
       ข้อว่า "เพราะเหตุนั้นแล ผู้ใด ไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รักในกาลไหน ๆ ผู้นั้นเป็นผู้มีความสุขปราศจากความโศก เพราะเหตุนั้น ผู้ปรารถนาความไม่โศก อันปราศจากกิเลสดุจธุลี ไม่พึงทำสัตว์หรือสังขารให้เป็นที่รักในกาลไหน ๆ" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นการละตัณหา ฯ เพราะความดับแห่งตัณหาอุปาทานจึงดับ เพราะความดับแห่งอุปาทานภพจึงดับ ชรามรณะทั้งปวงย่อมดับด้วยอาการอย่างนี้ นี้ชื่อว่า โอตรณาด้วยปฏิจจสมุปบาททั้งหลาย ฯ
       การละตัณหานั้นนั่นแหละเป็นสมถะ สมถะนั้นเป็นอินทรีย์ 2 คือ สตินทรีย์และสมาธินทรีย์ นี้ชื่อว่า โอตรณาด้วยอินทรีย์ทั้งหลาย ฯ สมถะนั้นนั่นแหละเป็นสมาธิขันธ์ นี้ชื่อว่า โอตรณาด้วยขันธ์ทั้งหลาย ฯ สมถะนั้นนั่นแหละนับเนื่องในสังขาร สังขารเหล่าใด ไม่มีอาสวะและไม่เป็นองค์แห่งภพ สังขารเหล่านั้นสงเคราะห์ในธัมมธาตุ นี้ชื่อว่า โอตรณาด้วยธาตุทั้งหลาย ฯ
       ธัมมธาตุนั้น นับเนื่องในธัมมายตนะ อายตนะใด ไม่มีอาสวะและไม่เป็นองค์แห่งภพ นี้ชื่อว่า โอตรณาด้วยอายตนะทั้งหลาย ฯ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "เยเกจิ โสกา" เป็นต้น ฯ
       พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ถ้าว่าวัตถุกาม จะสำเร็จแก่สัตว์ผู้ปรารถนาอยู่ไซร้ สัตว์ปรารถนาสิ่งใดได้สิ่งนั้นแล้ว ก็ย่อมมีใจเอิบอิ่ม (ปีติมโน) แน่แท้ ฯ ถ้าเมื่อสัตว์นั้นปรารถนาอยู่ เกิดความอยากได้แล้ว กามเหล่านั้นย่อมเสื่อมไปไซร้ สัตว์นั้นย่อมย่อยยับเหมือนลูกศรแทง ฉะนั้น ฯ ผู้ใดงดเว้นกามทั้งหลายเหมือนอย่างบุคคลเว้นศีรษะงูด้วยเท้าของตน ผู้นั้นเป็นผู้มีสติ ย่อมก้าวล่วงตัณหาในโลกนี้ได้" ดังนี้ ฯ
       ในคาถาเหล่านั้น ความเป็นผู้มีใจเอิบอิ่มนี้ ได้แก่ ความยินดี ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ในกาลใด สัตว์นั้นย่อมย่อยยับเหมือนลูกศรแทง" นี้เป็นปฏิฆะ ฯ
       ก็ความยินดีและปฏิฆะ เป็นฝ่ายแห่งตัณหา ก็แล อายตนะทั้งหลายมี 10 รูป เป็นปทัฏฐาน (เป็นเหตุใกล้) แห่งตัณหา นี้ชื่อว่า โอตรณาด้วยอายตนะทั้งหลาย ฯ
       อายตนะที่มีรูป 10 รูปเหล่านั้นนั่นแหละ เป็นรูปกาย ประกอบด้วยนามทั้ง 2 นั้น เรียกว่า นามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัยจึงมีผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงมีตัณหา พุทธวจนะนี้ทั้งปวงย่อมเป็นไปด้วยอาการอย่างนี้นี้ชื่อว่า โอตรณาด้วยปฏิจจสมุปบาททั้งปวง ฯ
       นามรูปนั้นนั่นแหละ เป็นธาตุ 18 นี้ชื่อว่า โอตรณาด้วยธาตุทั้งหลาย ฯ
       ในนามรูปนั้น รูปกายอันใด นี้เป็นอินทรีย์ที่เป็นรูป 5 นามกายอันใดนี้อินทรีย์ที่เป็นอรูป 5 อินทรีย์เหล่านี้ เป็น 10 อย่าง นี้ชื่อว่า โอตรณาด้วยอินทรีย์ทั้งหลาย ฯ
       ในคาถานั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ในกาลใด ผู้ใด งดเว้นกามเหมือนอย่างบุคคลเว้นศีรษะงูด้วยเท้าของตน ผู้นั้น เป็นผู้มีสติ ย่อมก้าวล่วงตัณหาในโลกนี้ได้" ดังนี้คาถานี้ เป็นสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ เทศนาที่หยั่งลงนี้ ชื่อว่า โอตรณาด้วยธาตุทั้งหลาย ฯ
       สอุปาทิเสสนิพพานธาตุนั้นนั่นแหละ เป็นวิชชา เพราะความเกิดขึ้นแห่งวิชชา อวิชชาจึงดับ เพราะความดับแห่งอวิชชา สังขารจึงดับ คำทั้งปวง ย่อมเป็นไป ด้วยอาการอย่างนี้ นี้ชื่อว่า โอตรณาด้วยปฏิจจสมุปบาททั้งหลาย ฯ วิชชานั้นนั่นแหละเป็นปัญญาขันธ์ นี้ชื่อว่า โอตรณาด้วยขันธ์ทั้งหลาย ฯ
       วิชชานั้นนั่นแหละ เป็นอินทรีย์ 2 คือ วิริยินทรีย์และปัญญินทรีย์ นี้ชื่อว่าโอตรณาด้วยอินทรีย์ทั้งหลาย ฯ วิชชานั้นนั่นแหละ นับเนื่องในสังขาร สังขารเหล่าใด ไม่มีอาสวะและไม่มีองค์แห่งภพ สังขารเหล่านั้นสงเคราะห์ด้วยธัมมธาตุนี้ชื่อว่า โอตรณาด้วยธาตุทั้งหลาย ฯ
       ธัมมธาตุนั้น นับเนื่องในธัมมายตนะ อายตนะใดไม่มีอาสวะและไม่มีองค์แห่งภพ นี้ชื่อว่า โอตรณาด้วยอายตนะทั้งหลาย ฯ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "กามํ กามยมานสฺส" เป็นต้น ฯ
       ด้วยคำมีประมาณเท่านี้ อินทรีย์ ขันธ์ ธาตุ และอายตนะ อาศัยการประชุมลงและการหยั่งลง พึงให้อินทรีย์ ขันธ์ ธาตุ และอายตนะอาศัยหยั่งลงอย่างนี้ ด้วยเหตุนั้นท่านพระมหากัจจายนะ จึงกล่าวว่า "โย จ ปฏิจฺจสมุปฺปาโท"เป็นต้น ฯ
       จบ โอตรณหารวิภังค์
       13. โสธนหารวิภังค์
[สารบัญ] | หน้าค้นหา
(ไม่สงวนลิขสิทธิ์)