สารบัญเนตติ ห้วเรื่อง, เลขข้อ | เนตติไฟล์เดียว html, text

เนตติปกรณ์แปล ข้อ 050 (16. สมาโรปนหารวิภังค์)

       [50] บรรดาหาระ 16 นั้น หาระ คือ สมาโรปนะ เป็นไฉน
       คาถาว่า "เย ธมฺมา ยํมูลา เย เจกตฺถา ปกาสิกตา มุนินา" เป็นต้น ชื่อว่าสมาโรปนหาระ ฯ
       ปทัฏฐานทั้งหลาย (ธรรมที่เป็นเหตุ) มีประมาณเท่าไร ย่อมหยั่งลง (ประชุม)ในปทัฏฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ปทัฏฐานเหล่าใด ที่ไม่ได้กล่าวไว้ในพระสูตรพึงแสวงหาปทัฏฐานเหล่านั้นแล้วยกขึ้นด้วยหาระ คือ สมาโรปนะนี้ เหมือนปทัฏฐานจำนวนมาก ย่อมหยั่งลงในหาระคืออาวัฏฏะ ฉะนั้น ฯ ในหาระ คือสมาโรปนะที่พึงยกขึ้นเหล่านั้น สมาโรปนะ (คือการยกขึ้น) มี 4 อย่าง คือปทัฏฐาน 1 เววจนะ 1 ภาวนา 1 ปหานะ 1 ฯ
       ในสมาโรปนะ 4 เหล่านั้น สมาโรปนะ ด้วยปทัฏฐาน เป็นไฉน
       "สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํพุทฺธานสาสนํ" การไม่ทำบาปทั้งปวง การยังกุศลให้ถึงพร้อม การยังจิตให้ผ่องแผ้ว นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ฯ
       ด้วยพระพุทธพจน์ตามที่กล่าวนี้ อะไรเป็นปทัฏฐานแห่งคำสอนนั้น สุจริต 3 คือ กายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต สุจริต 3 นี้ เป็นปทัฏฐานแห่งคำสอนในปทัฏฐาน คือ หมวด 3 แห่งสุจริตนั้น สุจริตอันเป็นไปทางกาย และทางวาจาอันใด นี้เป็นศีลขันธ์ ในมโนสุจริต คือ อนภิชฌา (ความไม่เพ่งเล็ง) และอัพยาบาท อันใด นี้เป็นสมาธิขันธ์ และสัมมาทิฏฐิ อันใด นี้เป็นปัญญาขันธ์หมวด 3 แห่งขันธ์นี้เป็นปทัฏฐาน ในหมวด 3 แห่งขันธ์นั้น ศีลขันธ์และสมาธิขันธ์ เป็นสมถะ ปัญญาขันธ์ เป็นวิปัสสนา หมวด 2 แห่งสมถะและวิปัสสนานี้เป็นปทัฏฐาน ในหมวด 2 ชื่อว่า เจโตวิมุตติ เพราะสำรอกราคะ เป็นผลของสมถะ ชื่อว่า ปัญญาวิมุตติ เพราะสำรอกอวิชชา เป็นผลของวิปัสสนาหมวด 2 นี้ เป็นปทัฏฐานแห่งคำสอน ฯ
       วนะ (ป่า) เป็นปทัฏฐานแห่งสิ่งที่เกิดในป่า (วนถะ) ฯ
       ก็อะไร ชื่อว่า ป่า อะไร ชื่อว่า สิ่งที่เกิดในป่า ฯ กามคุณ 5 ชื่อว่า ป่าตัณหา ชื่อว่า สิ่งที่เกิดในป่า นี้ชื่อว่า ปทัฏฐาน ฯ การถือซึ่งนิมิตว่า "หญิง" หรือว่า "ชาย" ชื่อว่า ป่า ฯ การถืออนุพยัญชนะ แห่งอวัยวะน้อยใหญ่เหล่านั้น ว่า"ตาสวย หูสวย จมูกสวย ลิ้นสวย กายสวย" ดังนี้ ชื่อว่า สิ่งที่เกิดในป่า (วนถะ)นี้ ชื่อว่า ปทัฏฐาน ฯ
       อายตนะทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอก 6 อันยังมิได้รู้โดยรอบแล้ว ชื่อว่าป่า สังโยชน์อาศัยอายตนะทั้ง 2 นั้นเกิดขึ้นอันใด นี้ชื่อว่า สิ่งที่เกิดในป่า นี้ชื่อว่าปทัฏฐาน ฯ อนุสัย ชื่อว่า ป่า ปริยุฏฐาน ชื่อว่า สิ่งที่เกิดในป่า นี้ชื่อว่า ปทัฏฐานฯ
       เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "จงตัดป่าและสิ่งที่เกิดในป่า"การยกขึ้นแสดงนี้ ชื่อว่า สมาโรปนะ โดยปทัฏฐาน ฯ
[สารบัญ] | หน้าค้นหา
(ไม่สงวนลิขสิทธิ์)