สารบัญเนตติ ห้วเรื่อง, เลขข้อ | เนตติไฟล์เดียว html, text

เนตติปกรณ์แปล ข้อ 055 (2. วิจยหารสัมปาตะ)

       [55] กสิณายตนะมี 10 คือ ปฐวีกสิณ อาโปกสิณ เตโชกสิณ วาโยกสิณนีลกสิณ ปีตกสิณ โลหิตกสิณ โอทาตกสิณ อากาสกสิณ (คือ ปฐมอรูปฌานที่เป็นไปในกสิณุคฆาฏิมากาส) วิญญาณกสิณ (คือ อรูปฌานที่ 2 ซึ่งมีอรูปวิญญาณที่ 1 เป็นอารมณ์) ฯ ในกสิณายตนะ 10 นั้น ปฐวีกสิณ อาโปกสิณ เตโชกสิณวาโยกสิณ นีลกสิณ ปีตกสิณ โลหิตกสิณ โอทาตกสิณ อันใด กสิณทั้ง 8 นี้เป็นสมถะ ฯ อากาสกสิณและวิญญาณกสิณอันใด ทั้ง 2 นี้ ท่านกล่าวว่า เป็นวิปัสสนา (เพราะภาวะแห่งวิปัสสนาธิฏฐาน) ฯ โดยอาการอย่างนี้ อริยมรรคทั้งปวงอันเรากล่าวแล้วโดยอาการใด ๆ ก็พึงประกอบด้วยสมถะและวิปัสสนาโดยอาการนั้นๆ ฯ สมถะ (สมถาธิฏฐาน) และวิปัสสนาธรรมเหล่านี้ ท่านสงเคราะห์ไว้ด้วยธรรม 3 คือ ด้วยอนิจจานุปัสสนา ทุกขานุปัสสนา อนัตตานุปัสสนา ฯ พระโยคีนั้น เมื่อยังสมถะวิปัสสนาให้เจริญ ย่อมยังวิโมกขมุขทั้ง 3ให้เจริญ ฯ เมื่อยังวิโมกขมุขทั้ง 3 ให้เจริญ ย่อมยังขันธ์ 3 (มีศีลขันธ์เป็นต้น)ให้เจริญ ฯ เมื่อยังขันธ์ 3 ให้เจริญ ย่อมยังอริยมรรคประกอบด้วยองค์ 8ให้เจริญ ฯ
       วิโมกขมุข 3
       บุคคลผู้ราคจริต เมื่อศึกษาด้วยอธิจิตตสิกขา เมื่อละอกุศลมูลคือโลภะเมื่อเข้าถึงซึ่งผัสสะอันเป็นเหตุแห่งสุขเวทนา เมื่อกำหนดรู้ซึ่งสุขเวทนา เมื่อนำออกซึ่งมลทินคือราคะ เมื่อสลัดออกซึ่งธุลีคือราคะ เมื่อคายออกซึ่งพิษร้ายคือราคะ เมื่อให้ดับซึ่งไฟคือราคะ เมื่อถอนลูกศรคือราคะ เมื่อสางซึ่งชัฏคือราคะย่อมนำออกไป ด้วยอนิมิตตวิโมกขมุข คือ อนิจจานุปัสสนา ฯ
       บุคคลผู้โทสจริต เมื่อศึกษาด้วยอธิศีลสิกขา เมื่อละอกุศลมูลคือโทสะเมื่อเข้าถึงผัสสะอันเป็นเหตุแห่งทุกขเวทนา เมื่อกำหนดรู้ทุกขเวทนา เมื่อนำออกซึ่งมลทินคือโทสะ เมื่อสลัดออกซึ่งธุลีคือ โทสะ เมื่อคายพิษร้ายคือโทสะเมื่อให้ดับซึ่งไฟคือโทสะ เมื่อถอนลูกศรคือโทสะ เมื่อสางซึ่งชัฏคือโทสะ ย่อมออกไปด้วย อัปปณิหิตวิโมกขมุข คือ ทุกขานุปัสสนา ฯ
       บุคคลผู้โมหจริต เมื่อศึกษาด้วยอธิปัญญาสิกขา เมื่อละอกุศลมูลคือโมหะเมื่อเข้าถึงผัสสะอันเป็นเหตุแห่งอทุกขมสุขเวทนา เมื่อกำหนดรู้ซึ่งอทุกขมสุขเวทนา เมื่อนำออกซึ่งมลทินคือโมหะ เมื่อสลัดออกซึ่งธุลีคือโมหะ เมื่อคายพิษร้ายคือโมหะ เมื่อให้ดับซึ่งไฟคือโมหะ เมื่อถอนลูกศรคือโมหะ เมื่อสางซึ่งชัฏคือโมหะ ย่อมออกไปด้วยสุญญตวิโมกขมุข คือ อนัตตานุปัสสนา ฯ
       บรรดาวิโมกขมุข 3 นั้น สุญญตวิโมกขมุข (ทางหรือทวารแห่งสุญญตวิโมกข์) มีปัญญาเป็นประธาน อนิมิตตวิโมกขมุขมีสมาธิเป็นประธาน อัปปณิหิตวิโมกขมุขมีศีลเป็นประธาน บุคคลนั้น เมื่อยังวิโมกขมุข 3 ให้เจริญ ชื่อว่าย่อมยังขันธ์ 3 ให้เจริญ เมื่อยังขันธ์ 3 ให้เจริญ ชื่อว่า ย่อมเจริญซึ่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์ 8 ในอริยมรรคประกอบด้วยองค์ 8 นั้น สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะและสัมมาอาชีวะ อันใด นี้ชื่อว่า ศีลขันธ์ สัมมาวายามะ สัมมาสติสัมมาสมาธิ อันใด นี้ชื่อว่า สมาธิขันธ์ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ อันใด นี้ชื่อว่า ปัญญาขันธ์ ฯ
       ในขันธ์ 3 นั้น ศีลขันธ์และสมาธิขันธ์ เป็นสมถะ ปัญญาขันธ์ เป็นวิปัสสนา บุคคลใดย่อมยังสมถวิปัสสนาให้เจริญ องค์แห่งภพ (อุปปัตติภพ) 2 คือกายและจิตของบุคคลนั้น ย่อมถึงซึ่งความเจริญ บาททั้ง 2 คือ ศีลและสมาธิเป็นปฏิปทาให้ถึงความดับภพ ฯ ภิกษุนั้น ชื่อว่า เป็นผู้มีกายอบรมแล้ว มีศีลอบรมแล้ว มีจิตอบรมแล้ว มีปัญญาอบรมแล้ว เมื่อกายอันบุคคลนั้นอบรมอยู่ธรรมทั้ง 2 คือ สัมมากัมมันตะและสัมมาวายามะ ย่อมถึงซึ่งความเจริญ เมื่อศีล อันบุคคลนั้นอบรมอยู่ ธรรมทั้ง 2 คือ สัมมาวาจา สัมมาอาชีวะ ย่อมถึงซึ่งความเจริญ เมื่อจิตอันบุคคลนั้นอบรมอยู่ ธรรมทั้ง 2 คือ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ย่อมถึงซึ่งความเจริญ เมื่อปัญญา อันบุคคลนั้นอบรมอยู่ ธรรมทั้ง 2 คือสัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ ย่อมถึงซึ่งความเจริญ ฯ
       ในธรรมทั้ง 2 นั้น สัมมากัมมันตะอันเป็นกายสุจริต เจตนาอันใด สัมมาวายามะที่เป็นไปกับกายสุจริตนั้น อันใด พึงเป็นไปทางกาย พึงเป็นไปทางใจ ในมรรคทั้ง 2 นั้น มรรคใดสงเคราะห์ทางกาย มรรคนั้นเมื่อกายอันบุคคลอบรมแล้วย่อมถึงความเจริญ มรรคใด สงเคราะห์เข้าในจิต มรรคนั้นเมื่อจิตอันบุคคลอบรมแล้ว ย่อมถึงความเจริญ ฯ
       พระโยคีนั้นเมื่อยังสมถะและวิปัสสนาให้เจริญ ย่อมถึงอธิคม 5 อย่าง คือเป็นผู้บรรลุเร็วพลัน (ขิปปาธิคม) เป็นผู้บรรลุวิมุตติ (วิมุตตาธิคม) เป็นผู้บรรลุใหญ่ (มหาธิคม) เป็นผู้บรรลุไพบูลย์ (วิปุลาธิคม) เป็นผู้บรรลุไม่เหลือ (อนวเสสาธิคม) ในอธิคมเหล่านั้น ขิปปาธิคม มหาธิคมและวิปุลาธิคม ย่อมมีด้วยสมถะวิมุตตาธิคมและอนวเสสาธิคม ย่อมมีด้วยวิปัสสนา ฯ
[สารบัญ] | หน้าค้นหา
(ไม่สงวนลิขสิทธิ์)