สารบัญเนตติ ห้วเรื่อง, เลขข้อ | เนตติไฟล์เดียว html, text

เนตติปกรณ์แปล ข้อ 104 (+สาสนปัฏฐาน)

       [104] ในพระสูตร 16 นั้น สูตรชื่อว่า อเสกขภาคิยะเป็นไฉน
       พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า"จิตของบุคคลใด เปรียบด้วยภูเขาหิน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ไม่กำหนัด ในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ไม่โกรธเคือง ในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความโกรธเคือง จิตของผู้ใดอบรมแล้วอย่างนี้ ทุกข์จักถึงผู้นั้น แต่ที่ไหน" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า อเสกขภาคิยสูตร
       สารีปุตตสูตรที่ 10 ท่านพระสารีบุตรเถระ นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรงพิจารณาความสงบระงับของตนอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบ ได้เปล่งอุทานว่า
       "ภิกษุผู้มีจิตสงบระงับ มีตัณหาอันจะนำไปในภพตัดขาดแล้ว ชาติสงสารสิ้นแล้ว พ้นจากเครื่องผูกแห่งมาร" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า อเสกขภาคิยสูตร
       พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า"พราหมณ์ใด มีบาปธรรมอันลอยแล้ว ไม่ตวาดผู้อื่นว่า หึ หึ ไม่มีกิเลสเพียงดังน้ำฝาด มีตนอันสำรวมแล้ว ถึงที่สุดแห่งเวท (มรรคที่ 4) มีพรหมจรรย์อันอยู่จบแล้ว ไม่มีกิเลสเครื่องฟูขึ้นในโลกไหน ๆ พราหมณ์นั้นพึงกล่าวว่า เป็นพราหมณ์โดยธรรม" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า อเสกขภาคิยสูตร
       พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า"ชนเหล่าใดลอยบาปธรรมแล้ว มีสติทุกเมื่อ มีสังโยชน์สิ้นแล้วตรัสรู้แล้ว ชนเหล่านั้นแล ชื่อว่า เป็นพราหมณ์ในโลก" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า อเสกขภาคิยสูตร
       พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเปล่งอุทานว่า"ดิน น้ำ ไฟ และลม ย่อมไม่หยั่งลงในนิพพานธาตุใด ดาวทั้งหลายย่อมไม่สว่าง พระอาทิตย์ย่อมไม่ปรากฏ พระจันทร์ย่อมไม่สว่าง ความมืดย่อมไม่มี ก็เมื่อใด พราหมณ์ชื่่อว่า มุนี เพราะรู้ รู้แล้วด้วยตน เมื่อนั้นพราหมณ์ย่อมหลุดพ้นจากรูปและอรูป จากสุขและทุกข์" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า อเสกขภาคิยสูตร
       พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า"ในกาลใด บุคคลเป็นผู้ถึงฝั่งในธรรมทั้งหลายของตน เป็นพราหมณ์ในกาลนั้น ย่อมไม่กลัวปีศาจ และเสียงว่า ปักกุละอย่างนี้" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า อเสกขภาคิยสูตร
       พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า"เราเรียกผู้ไม่ยินดีในภรรยาเก่าผู้มาอยู่ ผู้ไม่เศร้าโศกถึงภรรยาเก่าผู้หลีกไปอยู่ ผู้ชนะสงคราม พ้นแล้วจากธรรมเป็นเครื่องข้องนั้น ว่าเป็นพราหมณ์" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า อเสกขภาคิยสูตร
       พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า"ความสะอาดย่อมไม่มีเพราะน้ำ ชนเป็นอันมาก ย่อมอาบอยู่ในน้ำนี้สัจจะและธรรมะมีอยู่ในผู้ใด ผู้นั้นเป็นผู้สะอาดและเป็นพราหมณ์" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า อเสกขภาคิยสูตร
       พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า"ในกาลใดแล ธรรมทั้งหลายย่อมปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียร เพ่งอยู่ ในกาลนั้น พราหมณ์นั้น ย่อมกำจัดมารและเสนามารเสียได้ ดุจพระอาทิตย์กำจัดอยู่ซึ่งความมืด ส่องแสงสว่างอยู่ในอากาศ ฉะนั้น" ดังนี้ สูตรนี้ ชื่่อว่า อเสกขภาคิยสูตร
       พระสูตรใดที่กล่าวว่า"ภิกษุใด ทรงผ้าบังสุกุลจีวร ข้ามโอฆะทั้งปวงแล้ว ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ผู้ยังอิริยาบถ 4 ให้เป็นไป พวกเธอจงดูภิกษุผู้ถือบังสุกุลจีวรเป็นวัตรนั้น ผู้มีธรรมไม่เสื่อม ผู้บรรลุวิชชา 3 ผู้มีอินทรีย์สงบแล้วเที่ยวไปอยู่ เทวดาผู้ประเสริฐทั้งหลายเป็นอันมาก เข้าไปสู่วิมานอันประเสริฐ มีจิตเลื่่อมใส นมัสการภิกษุผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตรนั้น ผู้เป็นบุรุษอาชาไนยผู้เกียดกันมลทินอันเกิดแต่มานะว่าเราเป็นพราหมณ์มีอยู่ในพระศาสนานี้พวกเทพเหล่านั้นได้กล่าวว่า ข้าแต่ท่านบุรุษอาชาไนย ข้าพเจ้าขอนอบน้อมท่าน ข้าแต่บุรุษผู้สูงสุด ข้าพเจ้าขอนอบน้อมท่าน พวกเราย่อมไม่รู้ธรรมอันเป็นที่อาศัยของท่านใด ท่านนั้น อาศัยอะไรเพ่งอยู่" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า อเสกขภาคิยสูตร
       พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคาถาประพันธ์ว่า"ภิกษุเหล่านี้เป็นสหายกัน เป็นผู้มีความรู้คู่เคียงกันมาตลอดกาลนานสัทธรรมของเธอเหล่านั้น ย่อมเทียบเคียงได้ในธรรมที่พระพุทธเจ้าประกาศแล้ว เธออันกัปปินภิกษุแนะนำดีแล้ว ในธรรมที่พระอริยะประกาศแล้วเธอทั้ง 2 ชำนะมารพร้อมทั้งพาหนะได้แล้ว ย่อมทรงไว้ซึ่งอัตภาพมีในที่สุด" ดังนี้ สูตรนี้ ชื่่อว่า อเสกขภาคิยสูตร
       พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคาถาประพันธ์ว่า"บุคคลปรารภความเพียรอันย่อหย่อน ปรารภความเพียรด้วยกำลังน้อย ไม่พึงบรรลุพระนิพพาน อันเป็นเครื่องปลดเปลื้องกิเลสทั้งปวงได้ แต่ภิกษุหนุ่มรูปนี้ เป็นอุดมบุรุษชำนะมารพร้อมทั้งพาหนะได้แล้ว ย่อมทรงไว้ซึ่งอัตภาพอันมีในที่สุด" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า อเสกขภาคิยสูตร
       พระสูตรที่กล่าวไว้ว่า"พระโมฆราช มีผิวพรรณทราม มีจีวรเศร้าหมอง เป็นพระขีณาสพมีสติทุกเมื่อ มีธรรมประกอบไว้ในภพไปปราศแล้ว มีกิจอันกระทำแล้ว ไม่มีอาสวะ พระโมฆราชนั้น มีวิชชา 3 ถึงความเป็นผู้มีฤทธิ์ ฉลาดในการกำหนดจิต ชนะมารและเสนามารแล้ว ย่อมทรงไว้ซึ่งอัตภาพอันมีในที่สุด" ดังนี้ สูตรนี้ ชื่่อว่า อเสกขภาคิยสูตร
[สารบัญ] | หน้าค้นหา
(ไม่สงวนลิขสิทธิ์)