สารบัญเนตติ ห้วเรื่อง, เลขข้อ | เนตติไฟล์เดียว html, text

เนตติปกรณ์แปล ข้อ 108 (+สาสนปัฏฐาน)

       [108] ในพระสูตร 16 นั้น สูตรชื่อว่า สังกิเลสภาคิยะและอเสกขภาคิยะเป็นไฉน
       ในมุทสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชน ผู้มิได้สดับแล้ว ย่อมกล่าวว่า "สมุทร สมุทร" ดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมุทรนั้นไม่ชื่อว่า เป็นสมุทร ในวินัยของพระอริยเจ้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมุทรนั้น เป็นกองแห่งน้ำใหญ่ เป็นห้วงแห่งน้ำใหญ่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุเป็นสมุทรของบุรุษ กำลังของจักษุนั้นสำเร็จแล้วด้วยรูปายตนะ" ดังนี้เป็นสังกิเลส ฯ
       "บุคคลใด ย่อมอดกลั้นกำลังอันเกิดจากรูปายตนะนั้นได้ บุคคลนี้เราเรียกว่าเป็นพราหมณ์ ข้ามสมุทร คือ จักษุ ซึ่งมีทั้งคลื่น มีทั้งน้ำวนมีทั้งสัตว์ร้าย มีทั้งผีเสื้อน้ำ แล้วขึ้นถึงฝั่่ง ตั้งอยู่บนบก" ดังนี้ นี้เป็นอเสกขะ ฯ
       "ดูกรภิกษุ โสตะเป็นสมุทร ฯลฯ ฆานะเป็นสมุทร ฯลฯ ชิวหาเป็นสมุทร ฯลฯ กายเป็นสมุทร ฯลฯ ใจเป็นสมุทรของบุรุษ กำลังของใจนั้นสำเร็จแล้วด้วยธัมมารมณ์" ดังนี้ นี้เป็นสังกิเลส ฯ
       "บุคคลใด ย่อมอดกลั้นกำลังอันเกิดจากธัมมายตนะนั้นได้ บุคคลนี้เราเรียกว่า เป็นพราหมณ์ ข้ามสมุทร คือ ใจ ซึ่งมีทั้งคลื่น มีทั้งน้ำวน มีทั้งสัตว์ร้าย มีทั้งผีเสื้อน้ำ แล้วขึ้นถึงฝั่งตั้งอยู่บนบก" ดังนี้ นี้เป็นอเสกขะพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สุคตศาสดา ได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว ครั้นตรัสเนื้อความนี้แล้ว จึงตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า"บุคคลใด ข้ามสมุทรนี้ ซึ่งมีทั้งคลื่น มีทั้งน้ำวน มีทั้งสัตว์ร้าย มีทั้งผีเสื้อน้ำ อันน่าหวาดกลัว ซึ่งข้ามได้แสนยากได้แล้ว บุคคลนั้นเราเรียกว่าผู้จบเวท อยู่จบพรหมจรรย์ ถึงที่สุดแห่งโลก ข้ามถึงฝั่งแล้ว" ดังนี้ ฯ
       นี้เป็นอเสกขะ สูตรนี้ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยะและอเสกขภาคิยะ ฯ
       ในพาลิสิกสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในโลกนี้มีเบ็ด 6 ชนิด เพื่อนำสัตว์ไปในสิ่งที่มิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์ (ฆ่า) สัตว์ทั้งหลาย เบ็ด 6 ชนิด เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปอันจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจน่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ ถ้าภิกษุ ย่อมเพลิดเพลินย่อมสรรเสริญ หมกมุ่นซึ่งรูปนั้นอยู่ไซร้ ภิกษุนี้ เราเรียกว่า ผู้กลืนกินเบ็ดของมาร ถึงความวิบัติ ถึงความพินาศ อันมารผู้มีบาป พึงกระทำ
       ได้ตามชอบใจ
       ดูกรภิกษุทั้งหลาย เสียง ฯลฯ กลิ่น ฯลฯ รส ฯลฯ โผฏฐัพพะและธัมมารมณ์ อันพึงรู้แจ้งด้วยใจ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารักชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัดมีอยู่ ถ้าภิกษุ ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมสรรเสริญหมกมุ่นซึ่่งธัมมารมณ์นั้นอยู่ไซร้ ภิกษุนี้ เราเรียกว่า ผู้กลืนกินเบ็ดของมารถึงความวิบัติ ถึงความพินาศ อันมารผู้มีบาป จึงกระทำได้ตามชอบใจ" ดังนี้ข้อนี้ เป็นสังกิเลส"ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปอันจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ ถ้าภิกษุไม่เพลิดเพลินไม่สรรเสริญ ไม่หมกหมุ่นรูปนั้นไซร้ ภิกษุนี้ เราเรียกว่า ผู้ไม่กลืนกินเบ็ดของมาร ได้ทำลายเบ็ด ได้ย่ำยีเบ็ด ไม่ถึงความพิบัติ ไม่ถึงความพินาศ อันมารผู้มีบาปพึงกระทำตามชอบใจไม่ได้ดูกรภิกษุทั้งหลาย เสียง ฯลฯ กลิ่น ฯลฯ รส ฯลฯ โผฏฐัพพะและธัมมารมณ์ อันพึงรู้แจ้งด้วยใจ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารักชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ ถ้าภิกษุไม่เพลิดเพลิน ไม่สรรเสริญ ไม่หมกมุ่นธัมมารมณ์นั้นไซร้ ภิกษุนี้ เราเรียกว่า ผู้ไม่กลืนกินเบ็ดของมาร ได้ทำลายเบ็ด ได้ย่ำยีเบ็ด ไม่ถึงความพิบัติ ไม่ถึงความพินาศ อันมารผู้มีบาปพึงกระทำตามชอบใจไม่ได้" ดังนี้ข้อนี้เป็นอเสกขะ พระสูตรนี้ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยะและอเสกขภาคิยะ ฯ
[สารบัญ] | หน้าค้นหา
(ไม่สงวนลิขสิทธิ์)