สารบัญเนตติ ห้วเรื่อง, เลขข้อ | เนตติไฟล์เดียว html, text

เนตติปกรณ์แปล ข้อ 117 (+สาสนปัฏฐาน)

       [117] ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "สกวจนะและปรวจนะเป็นไฉน"คำว่า "อุปกรณ์แห่งกาม อันบุคคลเสพอยู่ ที่ถึงแล้วในบัดนี้ และจะพึงถึงต่อไปอันใด สิ่งทั้ง 2 นั้น เกลื่อนกล่นด้วยธุลีมีราคะเป็นต้น เป็นของคนที่ศึกษาในสำนักแห่งคนที่กระสับกระส่าย ก็บุคคลเหล่าใด สำคัญสิกขาที่ไม่มีสาระว่าเป็นสาระ มีความยึดมั่นศีล พรต ชีวิตว่าเป็นการประพฤติพรหมจรรย์ วาทะนี้ เป็นวาทะลามกที่สุดที่หนึ่่งแห่งบุคคลผู้ยึดมั่นเหล่านั้น และบุคคลเหล่าใด มีปกติกล่าวอย่างนี้ มีปกติเห็นอย่างนี้ว่าโทษในกามทั้งหลายไม่มี วาทะนี้เป็นวาทะลามกที่สุดที่ 2 บุคคลผู้มีวาทะที่สุดทั้ง 2 นี้ ผู้ยังป่าช้าให้เจริญ โดยนัยที่กล่าวแล้วนี้ ย่อมยังป่าช้าทั้งหลายและทิฏฐิให้เจริญ คือว่า บุคคล 2 พวกนี้ พวกหนึ่งย่อมติดอยู่เพราะความไม่รู้ พวกหนึ่งย่อมแล่นเลยไปด้วยทิฏฐิ" ดังนี้ สูตรนี้ ชื่อว่า
       ปรวจนะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า"ก็สัมมาทิฏฐิบุคคลเหล่าใดแล ไม่มีที่สุดอันลามกนั้น เพราะรู้ยิ่งที่สุดทั้ง 2 นั้น ไม่สำคัญที่สุดทั้ง 2 นั้น วัฏฏะของชนเหล่านั้น ย่อมไม่มีเพราะการบรรลุด้วยปัญญา" ดังนี้ คำนี้ เป็นสกวจนะ ฯ สูตรทั้ง 2 นี้ ชื่อว่า สกวจนะและปรวจนะ ฯ
       ในอัตตรักขิตสูตร พระเจ้าปเสนทิโกศล ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันนี้หม่อมฉันได้เข้าไปที่ลับ พักผ่อนอยู่ได้เกิดความคิดอย่างนี้ว่า ชนพวกไหนหนอ มีตนเป็นที่รัก พวกไหนหนอไม่มีตนเป็นที่รัก ดังนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้ดำริต่อไปว่า ก็ชนพวกใดพวกหนึ่ง ย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย ด้วยวาจาและด้วยใจชนเหล่านั้นไม่มีตนเป็นที่รัก ถึงชนเหล่านั้นจะพึงกล่าวว่า พวกเรารักตนแม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น ก็ไม่มีตนเป็นที่รัก ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะชนที่ไม่รักใคร่กัน พึงกระทำทุจริตเพื่อความพินาศแก่คนที่ไม่รักกัน ชนเหล่านั้นย่อมกระทำทุจริตนั้น เพื่อความพินาศแก่ตนด้วยตนเทียว เพราะฉะนั้นชนเหล่านั้น จึงชื่อว่ามีตนไม่เป็นที่รัก ก็แต่ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมประพฤติสุจริตด้วยกาย ด้วยวาจาและด้วยใจ ชนเหล่านั้นชื่อว่า มีตนเป็นที่รัก ชนเหล่านั้นจะพึงกล่าวว่า เราไม่มีตนเป็นที่่รัก ดังนี้ แม้ก็จริงถึงอย่างนั้น ชนเหล่านั้น ก็ชื่อว่ามีตนเป็นที่รัก ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคนที่รักกัน พึงกระทำสุจริต เพื่อความเจริญแก่คนที่รัก ชนเหล่านั้นย่อมกระทำสุจริตเพื่อตนด้วยตนเทียว เพราะฉะนั้น ชนเหล่านั้น จึงชื่อว่ามีตนเป็นที่รัก" ดังนี้"ดูกรมหาบพิตร ข้อนี้ เป็นอย่างนั้น ดูกรมหาบพิตร ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ดูกรมหาบพิตร ก็ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมประพฤติทุจริตด้วยกายย่อมประพฤติทุจริตด้วยวาจา ย่อมประพฤติทุจริตด้วยใจ เพราะฉะนั้นชนเหล่านั้นชื่อว่า มีตนไม่เป็นที่รัก ชนเหล่านั้น ถึงจะกล่าวว่า เรามีตนเป็นที่รัก ดังนี้ ก็จริง ถึงอย่างนั้น เขาก็ไม่มีตนเป็นที่รัก ข้อนั้นเพราะเหตุไรดูกรมหาบพิตร เพราะชนไม่เป็นที่รักใคร่กัน พึงกระทำทุจริตเพื่อความพินาศแก่คนที่ไม่รักกัน ชนเหล่านั้นย่อมกระทำทุจริตนั้นเพื่อความพินาศแก่ตนด้วยตนเทียว เพราะฉะนั้น ชนเหล่านั้น จึงไม่ชื่อว่า มีตนเป็นที่รักดูกรมหาบพิตร ก็แต่ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมประพฤติสุจริตด้วยกายด้วยวาจาและด้วยใจ ชนเหล่านั้น ชื่อว่ามีตนเป็นที่่รัก ชนเหล่านั้นจะพึงกล่าวว่า เราไม่มีตนเป็นที่่รัก ดังนี้ก็จริง ถึงอย่างนั้น ชนเหล่านั้นก็มีตนเป็นที่รัก ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูกรมหาบพิตร คนที่รักใคร่กัน พึงกระทำสุจริตเพื่อความเจริญแก่คนที่รัก ชนเหล่านั้น ย่อมกระทำสุจริตนั้น เพื่อตนด้วยตนเทียว เพราะฉะนั้น ชนเหล่านั้น จึงชื่อว่า มีตนเป็นที่รัก" ดังนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว ได้กล่าวคาถาประพันธ์อีกว่า"ถ้าบุคคลพึงรู้ว่าตนเป็นที่รัก ไม่พึงประกอบตนด้วยบาป เพราะว่าความสุขนั้นไม่เป็นผลที่บุคคลผู้ทำชั่ว จะพึงได้โดยง่าย เมื่อบุคคลถูกมรณะครอบงำ ละทิ้งภพมนุษย์ไป ก็อะไรเป็นสมบัติของเขา และเขาย่อมพาเอาอะไรไปได้ อนึ่ง อะไรเล่า จะติดตามเขาไปประดุจเงาติดตามตนไป ฉะนั้นผู้ที่เกิดมาแล้ว จำต้องตายในโลกนี้ ย่อมทำซึ่งกรรมใดไว้ คือ บุญและบาปทั้งสอง บุญและบาปนั้นแล เป็นสมบัติของเขา และเขาจะพาเอาบุญและบาปนั้นไป อนึ่ง บุญและบาปนั้น ย่อมติดตามเขาไป ดุจเงาตามตนไป ฉะนั้นเพราะฉะนั้น บุคคลพึงทำกัลยาณธรรมสั่งสมไว้เป็นสมบัติในปรโลกเพราะบุญทั้งหลาย ย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ในโลกหน้า" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า ปรวจนะ ฯ คำที่กล่าวตามลำดับเป็น สกวจนะ ฯ สูตรนี้ ชื่อว่า สกวจนะและปรวจนะ ฯ
[สารบัญ] | หน้าค้นหา
(ไม่สงวนลิขสิทธิ์)