สารบัญเนตติ ห้วเรื่อง, เลขข้อ | เนตติไฟล์เดียว html, text

เนตติปกรณ์แปล ข้อ 119 (+สาสนปัฏฐาน)

       [119] ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "วิสัชชนียะและอวิสัชชนียะเป็นไฉน"ในกาลใด อุปกาชีวกนั้น กล่าวกะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า"ดูก่อนพระโคดมผู้มีอายุ พระองค์จักเสด็จไปไหน" พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "เราจะไปยังเมืองพาราณสี เพื่อประกาศธรรมจักร จักบันลือกลองอมตะให้เป็นไป อันใคร ๆ ในโลกให้เป็นไปไม่ได้" ดังนี้ อุปกาอาชีวกทูลว่า "ดูก่อนอาวุโสโคดมผู้เจริญ พระองค์ย่อมทรงทราบชัดคำว่า ชินะหรือ" พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "บุคคลเหล่าใดถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะแล้ว บุคคลเหล่านั้นก็เป็นผู้ชนะเช่นกับเรา ดูกรอุปกะเราชนะธรรมอันลามกแล้ว เพราะฉะนั้น เราจึงชื่อว่า ชินะ" ดังนี้คำถามอันอุปกะนั้นถามว่า"บุคคลเป็นชินะอย่างไร เป็นชินะ เพราะละกิเลสอย่างไร" ดังนี้ชื่อว่า วิสัชชนียะ เพราะเป็นปัญหาที่ควรพยากรณ์ (วิสัชชนา) ฯ คำว่าอะไร เป็นชินะ (คือ รูปเป็นต้นเป็นชินะ หรือธรรมอื่นนอกจากรูปเป็นต้นเป็นชินะ) ดังนี้ ชื่อว่า อวิสัชชนียะ ฯ เพราะเป็นปัญหาที่ไม่พึงพยากรณ์ ฯ
       คำว่า ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ เป็นไฉน คำนี้ ชื่่อว่าวิสัชชนียะ ฯ คำถามว่า ความสิ้นอาสวะมีประมาณเท่าไร นี้ ชื่อว่าอวิสัชชนียะ (เพราะไม่อาจวิสัชชนาได้) ฯ พระสูตรทั้งปวงนี้ ชื่่อว่าวิสัชชนียะและอวิสัชชนียะ ฯ
       คำว่า ตถาคตมีอยู่ ดังนี้ เป็น วิสัชชนียะ ฯ คำว่า รูปมีอยู่ ดังนี้ เป็นวิสัชชนียะ ฯ คำว่า รูปเป็นตถาคต (อัตตา) ด้วยอำนาจสักกายทิฏฐิ เป็นอวิสัชชนียะ ฯ ตถาคตมีรูป ตถาคตในรูป รูปในตถาคต (เหล่านี้) เป็นอวิสัชชนียะ ฯ คำอย่างนี้ว่า เวทนามีอยู่ ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณ มีอยู่ ดังนี้ เป็นวิสัชชนียะ ฯ คำว่า วิญญาณเป็นตถาคต ตถาคตมีวิญญาณ ตถาคตในวิญญาณ วิญญาณในตถาคต (เหล่านี้) เป็นอวิสัชชนียะ ฯ คำว่า ตถาคตเว้นจากรูป ตถาคตเว้นจากเวทนา จากสัญญาจากสังขาร และตถาคตเว้นจากวิญญาณ (เหล่านี้) เป็นอวิสัชชนียะ ฯ
       ตถาคตนี้นั้น มิใช่รูป มิใช่เวทนา มิใช่สัญญา มิใช่สังขาร มิใช่วิญญาณเหล่านี้ เป็น อวิสัชชนียะ ฯ พระสูตรนี้ ชื่อว่า วิสัชชนียะและอวิสัชชนียะ ฯ
       พระสูตรว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมทอดพระเนตรเห็นสัตว์ทั้งหลาย ผู้กำลังจุติ กำลังอุปบัติ ด้วยทิพยจักษุอันก้าวล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมทราบชัดสัตว์ทั้งหลายผู้เป็นไปตามกรรม ฯลฯ" ดังนี้ เป็นวิสัชชนียะ ฯ คำว่า "สัตว์ทั้งหลายเป็นไฉน และคำว่า ตถาคตเป็นไฉน"ดังนี้ เป็นอวิสัชชนียะ เพราะไม่ได้เป็นปรมัตถ์ ฯ
       คำว่า ตถาคตมีอยู่ ดังนี้ เป็นวิสัชชนียะ ฯ คำว่า เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ตถาคตมีอยู่ ดังนี้ เป็นอวิสัชชนียะ ฯ สูตรนี้ เป็นวิสัชชนียะและอวิสัชชนียะ ฯ
[สารบัญ] | หน้าค้นหา
(ไม่สงวนลิขสิทธิ์)