สารบัญเนตติ ห้วเรื่อง, เลขข้อ | เนตติไฟล์เดียว html, text

เนตติปกรณ์แปล ข้อ 125 (+สาสนปัฏฐาน)

       [125] ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "ถวะเป็นไฉน"
       ในคาถาธรรมบท มรรควรรคตรัสว่า "ทาง (มรรค) มีองค์ 8ประเสริฐกว่าทางทั้งหลาย บท 4 (คืออริยสัจ 4) ประเสริฐกว่าสัจจะทั้งหลาย (คือสมมติสัจจะมีวจีสัจจะและขัตติยสัจจะเป็นต้น) บรรดาธรรมทั้งหลายวิราคะประเสริฐที่สุด และพระตถาคตผู้มีพระจักษุประเสริฐกว่าสัตว์ 2 เท้า"ดังนี้ คาถานี้ ชื่อว่า ถวะ (การสรรเสริญ) ฯ
       ในอัคคปสาทสูตรตรัสว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่เลิศมี 3 ประการเหล่านี้ 3 ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายมีประมาณเพียงใด ไม่มีเท้าก็ตาม มี 2 เท้าก็ตาม มี 4 เท้าก็ตาม มีเท้ามากก็ตามมีรูปหรือไม่มีรูปก็ตาม มีสัญญาหรือไม่มีสัญญาก็ตาม มีสัญญาก็ไม่ใช่ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ก็ตาม พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า บัณฑิตกล่าวว่า เลิศ ประเสริฐ ประเสริฐที่สุดกว่าสัตว์เหล่านั้น ดูกรภิกษุทั้งหลายธรรมทั้งหลายที่มีปัจจัยปรุงแต่ง หรือไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง มีประมาณเท่าใด วิราคะ บัณฑิตกล่าวว่า เลิศ ประเสริฐ ประเสริฐที่สุดกว่าธรรมเหล่านั้น วิราคะนี้ใด เป็นธรรมย่ำยีความเมา กำจัดความกระหาย ถอนขึ้นซึ่งความอาลัย เข้าไปตัดวัฏฏะ เป็นธรรมที่สิ้นตัณหา คลายความกำหนัดเป็นความดับ เป็นนิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัญญัติแห่งหมู่ทั้งหลายบัญญัติแห่งคณะทั้งหลาย หรือบัญญัติแห่งมหาชนที่ประชุมกันทั้งหลายหมู่แห่งสาวกของพระตถาคต บัณฑิตกล่าวว่า เลิศ ประเสริฐ ประเสริฐที่สุดกว่าหมู่เหล่านั้น หมู่นี้ใด คือ คู่แห่งบุรุษ 4 ได้แก่ บุรุษบุคคล 8 ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก" ดังนี้คาถา ถวะรัตนตรัยพระศาสดาเป็นผู้ประเสริฐยิ่งกว่าสิ่งทั้งปวงในโลก พระธรรมอันพระองค์ทรงแสดง โดยความเป็นกุศล ปราศจากมลทินทั้งหลาย หมู่แห่งพระอริยสงฆ์องอาจดังนรสีหะ รัตนะ 3 นั้นแล ย่อมประเสริฐกว่ารัตนะทั้งปวงคณะคือการประชุมแห่งพระสมณะ งามอยู่ดุจดอกปทุม พระธรรมอันประเสริฐอันวิญญูชนทั้งหลายทำสักการะแล้ว พระตถาคตผู้มีพระจักษุทรงฝึกนระผู้ประเสริฐ (มีพรหมเป็นต้น) รัตนะ 3 นั้นแล เป็นรัตนะสูงยิ่งของโลกพระศาสดาไม่มีผู้เปรียบ พระธรรมดับความเร่าร้อนทั้งปวง พระอริยสงฆ์เป็นหมู่อันประเสริฐ รัตนะ 3 นั้นแล ย่อมประเสริฐโดยส่วนเดียวพระชินะผู้สงบมีพระนามตามเป็นจริง ทรงครอบงำสรรพสิ่งแห่งโลกดำรงอยู่ พระธรรมเป็นสัจจะของพระชินะนั้น หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ หมู่แห่งพระอริยะอันบัณฑิตบูชาแล้วเป็นนิตย์ รัตนะ 3 นั้นแล เป็นรัตนะอันสูงสุด
       แห่งชาวโลก
       สหัมบดีพรหมประพันธ์คาถาว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงเห็นความสิ้นชาติและที่สุดแห่งชาติ ทรงอนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล ทราบทางเป็นที่ไปอันเอก ในกาลก่อนชนทั้งหลายข้ามโอฆะด้วยทางนี้ ในอนาคตก็จักข้ามด้วยทางนี้ และในบัดนี้ก็ข้ามอยู่ด้วยทางนี้ ดังนี้เหล่าสัตว์หวังอยู่ซึ่งความหมดจด ย่อมนมัสการพระสัมมาสัมพุทธะผู้คงที่ผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์พระองค์นั้น ดังนี้ คาถานี้ ชื่อว่า ถวะ ฯ
       ในพระสูตร 16 นั้น พระสูตรที่เป็นโลกียะ พึงแสดงด้วยพระสูตรทั้ง 2คือ ด้วยสังกิเลสภาคิยสูตรและวาสนาภาคิยสูตร พระสูตรที่่เป็นโลกุตตระพึงแสดงด้วยพระสูตร 3 คือ ทัสสนภาคิยสูตร ภาวนาภาคิยสูตร และอเสกขภาคิยสูตร พระสูตรที่เป็นทั้งโลกียะทั้งโลกุตตระ บท(ส่วน) ใด ๆ คือ ส่วนแห่งสังกิเลส หรือส่วนแห่งวาสนาย่อมปรากฏในพระสูตรส่วนใด ก็พึงแสดงโลกียะโดยส่วนนั้น ๆ บทใด ๆ อันเป็นส่วนทัสสนะ หรือเป็นภาวนา หรือเป็นอเสกขะก็พึงแสดงโลกุตตระ โดยส่วนนั้น ๆ ฯ
       พระสูตรอันเป็นส่วนแห่งวาสนา ย่อมเป็นไปเพื่อละพระสูตรอันเป็นส่วนแห่งสังกิเลส พระสูตรอันเป็นส่วนแห่งทัสสนะ ย่อมเป็นไปเพื่อละพระสูตรอันเป็นส่วนแห่งวาสนา พระสูตรอันเป็นส่วนแห่งภาวนา ย่อมเป็นไปเพื่อละพระสูตรอันเป็นส่วนแห่งทัสสนะ พระสูตรอันเป็นส่วนแห่งพระอเสกขะ ย่อมเป็นไปเพื่อการสละออกจากพระสูตรอันเป็นส่วนแห่งภาวนา ฯ
       พระอริยบุคคล 26
       พระสูตรโลกุตตระ ที่เป็นสัตตาธิฏฐาน พึงแสดงด้วยบุคคล 26 พวกบุคคล 26 เหล่านั้น บัณฑิตพึงแสวงหาด้วยพระสูตร 3 อย่าง คือพระสูตรอันเป็นส่วนแห่งทัสสนะ พระสูตรอันเป็นส่วนแห่งภาวนา พระสูตรอันเป็นส่วนแห่งพระอเสกขะ (ที่เป็นสัตตาธิฏฐาน) ฯ
       ในพระสูตร 3 เหล่านั้น พระสูตรอันเป็นส่วนแห่งทัสสนะ พึงแสดงด้วยบุคคล 5 คือ เอกพีชี 1 โกลังโกละ 1 สัตตักขัตตุปรมะ 1 สัทธานุสารี 1 และธัมมานุสารี 1 พระสูตรอันเป็นส่วนแห่งทัสสนะพึงแสดงด้วยบุคคล 5 เหล่านี้ ฯ
       พระสูตรอันเป็นส่วนแห่งภาวนา พึงแสดงด้วยบุคคล 12 คือ บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อการกระทำให้แจ้งซึ่งสกทาคามิผล 1 พระสกทาคามี 1 บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่่อกระทำให้แจ้งซึ่่งอนามิผล 1 พระอนาคามี 1 ผู้เป็นอันตราปรินิพพายี 1 ผู้เป็นอุปหัจจปรินิพพายี 1 ผู้เป็นอสังขารปรินิพพายี 1 ผู้เป็นสสังขารปรินิพพายี 1 ผู้เป็นอุทธังโสโตอกนิฏฐคามี 1 บุคคลผู้สัทธาวิมุตติ 1 บุคคลผู้ทิฏฐิปัตตะ 1และบุคคลผู้กายสักขี 1 พระสูตรอันเป็นส่วนแห่งภาวนา พึงแสดงด้วยบุคคล 12 เหล่านี้ ฯ
       พระสูตรอันเป็นส่วนแห่งพระอเสกขะ พึงแสดงด้วยบุคคล 9 คือสัทธาวิมุตตบุคคล 1 ปัญญาวิมุตตบุคคล 1 สุญญตวิมุตตบุคคล 1อนิมิตตวิมุตตบุคคล 1 อัปปณิหิตวิมุตตบุคคล 1 อุภโตภาควิมุตตบุคคล 1สมสีสีบุคคล 1 ปัจเจกพุทธะ 1 และสัมมาสัมพุทธะ 1 พระสูตรอันเป็นส่วนแห่งพระอเสกขะ พึงแสดงด้วยบุคคล 9 เหล่านี้ โลกุตตรสูตรเป็นสัตตาธิฏฐานพึงแสดงด้วยบุคคล 26 เหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้ ฯ
       ปุถุชน 19 พวก
       โลกียสูตรที่่เป็นสัตตาธิฏฐาน พึงแสดงด้วยบุคคล 19 พวก บุคคล 19เหล่านั้น พึงยกขึ้นแสดงด้วยจริตทั้งหลาย คือ คนราคจริตพวก 1 คนโทสจริตพวก 1 คนโมหจริตพวก 1 บางพวกเป็นราคจริตและโทสจริต 1 บางพวกเป็นราคจริตและโมหจริต 1 บางพวกเป็นโทสจริตและโมหจริต 1 บางพวกเป็นราคจริต โทสจริตและโมหจริต 1 บางพวกตั้งอยู่ในทาง (ปริยุฏฐาน) แห่งราคะเป็นราคจริต 1 บางคนตั้งอยู่ในทางแห่งราคะเป็นโทสจริต 1 บางคนตั้งอยู่ในทางแห่งราคะเป็นโมหจริต 1 บางคนตั้งอยู่ในทางแห่งราคะเป็นราคจริตโทสจริต โมหจริต 1 บางคนตั้งอยู่ในทางแห่งโทสะเป็นโทสจริต 1 บางคนตั้งอยู่ในทางแห่งโทสะ เป็นราคจริต โทสจริต โมหจริต 1 บางคนตั้งอยู่ในทางแห่งโมหะเป็นโมหจริต 1 บางคนตั้งอยู่ในทางแห่งโมหะเป็นราคจริต 1บางคนตั้งอยู่ในทางแห่งโมหะ เป็นโทสจริต 1 บางคนตั้งอยู่ในทางแห่งโมหะเป็นราคจริต โทสจริต โมหจริต 1 โลกียสูตรเป็นสัตตาธิฏฐาน พึงแสดงด้วยบุคคล 19 เหล่านี้ ฯ
       บุคคลมีศีล 5 พวกพระสูตรอันเป็นส่วนแห่งวาสนา พึงแสดงด้วยบุคคลมีศีล บุคคลผู้มีศีลเหล่านั้นมี 5 พวก คือมีปกติศีล 1 สมาทานศีล 1 มีความผ่องใสแห่งจิต 1มีสมถะ 1 มีวิปัสสนา 1 พระสูตรอันเป็นส่วนแห่งวาสนา พึงแสดงด้วยบุคคล 5 พวกเหล่านี้ ฯ
       พระสูตรโลกุตตระ เป็นธัมมาธิฏฐาน พึงแสดงด้วยพระสูตร 3 คือ พระสูตรอันเป็นส่วนแห่งทัสสนะ 1 พระสูตรอันเป็นส่วนแห่งภาวนา 1 พระสูตรอันเป็นส่วนแห่งพระอเสกขะ 1 ฯ
       พระสูตรที่เป็นโลกียะและโลกุตตระ พระสูตรที่เป็นทั้งสัตตาธิฏฐานทั้งธัมมาธิฏฐาน พึงแสดงโดยส่วนทั้ง 2 ญาณอันมาแล้วในพระสูตรนั้น ๆบัณฑิตพึงแสดงด้วยปัญญา อันเป็นปริยายแห่งญาณ คือ ด้วยปัญญินทรีย์ด้วยปัญญาพละ ด้วยอธิปัญญาสิกขา ด้วยธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ด้วยสัมมาทิฏฐิด้วยการพิจารณา ด้วยการสอบสวน ด้วยธัมมญาณ ด้วยอนุโลมญาณ ด้วยขยญาณ ด้วยอนุปาทญาณ ด้วยอนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์ ด้วยอัญญินทรีย์ด้วยอัญญาตาวินทรีย์ ด้วยปัญญาจักษุ ด้วยวิชชา ด้วยความรู้ ด้วยภูริปัญญาด้วยปัญญาเป็นเครื่่องฆ่ากิเลส หรือญาณมาแล้วในที่ใด ๆ ย่อมได้ในที่ใด ๆก็พึงแสดงด้วยชื่อของปัญญานั้น ๆ ฯ
       เญยยะ (ไญยธรรม) พึงแสดงด้วยธรรมที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันด้วยอายตนะภายในและภายนอก ด้วยธรรมอันเลวและประณีต ด้วยธรรมใกล้และไกล ด้วยสังขตะและอสังขตะ ด้วยกุศลอกุศลและอัพยากตะ หรือโดยสังเขป แสดงด้วยอารมณ์ 6 ฯ
       ญาณและเญยยะทั้ง 2 มาในพระสูตรใด ก็พึงแสดงในพระสูตรนั้น แม้ปัญญาก็ชื่อว่า เญยยะ (คือสิ่งที่ควรรู้) เพราะเป็นอารมณ์ อายตนะภายในและอายตนะภายนอกอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอารมณ์ ก็พึงแสดงอายตนะทั้งปวงนั้นตามความเป็นจริง ด้วยสังขตะและอสังขตะ ฯ
       ในพระสูตรทั้งปวง คือ ทัสสนสูตร ภาวนาสูตร สกวจนสูตร ปรวจนสูตรวิสัชชนียสูตร อวิสัชชนียสูตร กรรมสูตร วิปากสูตร บัณฑิตพึงแสดงพระสูตรทั้ง 2 (รวมกัน) ตามที่่ได้ในพระสูตรนั้น หรือตรัสไว้อย่างไร ใคร่ครวญแล้วแสดงตามพระดำรัสนั้น ฯ
       เหตุมี 2 คือ กรรม 1 กิเลส 1 ในที่นี้ ได้แก่ สมุทัยและกิเลส ในสมุทัยและกิเลสนั้น กิเลสพึงแสดงด้วยพระสูตรอันเป็นส่วนแห่งสังกิเลส สมุทัยพึงแสดงด้วยพระสูตร 2 คือ สังกิเลสภาคิยะและวาสนาภาคิยะ ฯ
       ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น กุศลพึงแสดงด้วยพระสูตร 4 คือ วาสนาภาคิยสูตร 1 ทัสสนภาคิยสูตร 1 ภาวนาภาคิยสูตร 1 และอเสกขภาคิยสูตร 1 ฯ
       อกุศลพึงแสดงด้วยสังกิเลสภาคิยสูตร ฯ กุศลและอกุศลพึงแสดงด้วยพระสูตร 2 อย่าง ฯ อนุญญาตะ (ธรรมที่ทรงอนุญาต) พึงแสดงด้วยพระสูตรที่ทรงอนุญาต ก็อนุญญาตะนั้น มี 5 อย่าง สังวร 1 ปหานะ 1 ภาวนา 1 สัจฉิกิริยา 1 กัปปิยานุโลม 1 ก็ข้ออนุญาตใด ที่ทรงแสดงไว้ในภูมินั้น ๆ มีปุถุชนภูมิเป็นต้นข้อที่อนุญาตนั้น พึงแสดงโดยกัปปิยะ (สิ่งที่ควร) และสิ่งที่อนุโลมเข้ากับกัปปิยะในมหาปเทส ฯ ปฏิกขิตตะ (ข้อที่ห้าม) พึงแสดงด้วยพระสูตรที่ห้ามมิให้เป็นไปแห่งราคะเป็นต้นฯ อนุญญาตะและปฏิกขิตตะทั้ง 2 ก็พึงแสดงด้วยพระสูตร 2อย่าง ฯ
       ถวะ (การสรรเสริญ หรือการยกย่อง) บัณฑิตพึงแสดงด้วยพระสูตรที่แสดงการยกย่อง ถวะ คือ สิ่งที่ควรยกย่อง มี 5 อย่าง คือ พระผู้มีพระภาคเจ้า 1 อสังขตธรรม 1 หมู่แห่งพระอริยะ 1 อริยธรรมสิกขาคือมรรคและผล 1และการถึงพร้อมด้วยโลกียคุณ 1 การสรรเสริญพึงแสดงด้วยการยกย่อง 5 อย่างนี้ ฯ
       มูลบท 18 อย่าง
       อินทริยภูมิ มีสัทธินทรีย์เป็นต้น พึงแสดงด้วยบททั้งหลาย 9 บท มีสมถะเป็นต้น กิเลสภูมิ พึงแสดงด้วยบท 9 มีตัณหาเป็นต้น บท 18 คือกุศลมี 9 อกุศลมี 9 ย่อมมีด้วยประการฉะนี้ ฯ คำใดที่บัณฑิตกล่าวไว้ว่า"มูลบท 18 ประการ บุคคลพึงทราบ ณ ที่ไหน คำนั้น บัณฑิต ย่อมกล่าวว่าในสาสนปัฏฐาน" ดังนี้ เพราะเหตุนั้น ท่านพระมหากัจจายนะ จึงกล่าวว่า"กุศลประกอบด้วยบท 9 ฝ่ายอกุศลประกอบด้วยบท 9 เป็นมูลเหล่านี้แล มูลเหล่านั้นมี 18 อย่าง" ดังนี้
       จบ สาสนปัฏฐาน
       เนตติปกรณ์ใด อันท่านพระมหากัจจายนะได้ภาษิตไว้ด้วยอรรถะมีประมาณเท่านี้ (โดยย่อ) เนตติปกรณ์นั้น อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุโมทนาแล้วอันพระธัมมสังคาหกาจารย์ทั้งหลายร้อยกรองไว้ ในสังคีติครั้งแรก ฉะนี้แล ฯ
       จบ เนตติปกรณ์
       
[สารบัญ] | หน้าค้นหา
(ไม่สงวนลิขสิทธิ์)