นโม ตัสสะ ภควโต อรหโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
สารบัญ: ห้วเรื่อง, เลขข้อ | ไฟล์เดียว: html, text | [ค้นหา] [สารบัญ] <ก่อนนี้] [ถัดไป>

เนตติปกรณ์แปล : 12. โอตรณหารวิภังค์

       [42] บรรดาหาระ 16 นั้น หาระ คือ โอตรณะ เป็นไฉน
       นิทเทสที่กล่าวว่า "ปฏิจจสมุปบาทใด" เป็นต้น เป็นโอตรณหาระพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า" บุคคลพ้นวิเศษแล้วในสิ่งทั้งปวง ในเบื้องบน ในเบื้องต่ำ ไม่ตามเห็นว่า นี้เป็นเรา บุคคลพ้นวิเศษแล้วอย่างนี้ ข้ามได้แล้วซึ่งโอฆะ ที่ตนยังไม่เคยข้าม เพื่อความไม่เกิดอีก" ดังนี้ ฯ
       คำว่า "อุทฺธํ" ในเบื้องบน ได้แก่ รูปธาตุและอรูปธาตุ ฯ คำว่า "อโธ" ในเบื้องต่ำ ได้แก่ กามธาตุ ฯ คำว่า "สพฺพธิ วิปฺปมุตฺโต" (พ้นวิเศษแล้วในสิ่งทั้งปวง)ความว่า การพ้นนี้ เป็นการพ้นด้วยอเสกขะในโลกธาตุ 3 (กามธาตุ รูปธาตุอรูปธาตุ) ฯ อเสกขะทั้งหลายเหล่านั้นนั่นแหละ เป็นอินทรีย์ 5 มีสัทธินทรีย์เป็นต้น เทศนาที่หยั่งลงนี้ ชื่อ โอตรณา (คือ การหยั่งลง) ด้วยอินทรีย์ทั้งหลาย ฯ
       อินทรีย์ 5 ที่เป็นอเสกขะเหล่านั้นนั่นแหละเป็นวิชชา เพราะการเกิดขึ้นแห่งวิชชา อวิชชาจึงดับ เพราะความดับแห่งอวิชชา สังขารจึงดับ เพราะความดับแห่งสังขาร วิญญาณจึงดับ เพราะความดับแห่งวิญญาณ นามรูปจึงดับเพราะความดับแห่งนามรูป สฬายตนะจึงดับ เพราะความดับแห่งสฬายตนะผัสสะจึงดับ เพราะความดับแห่งผัสสะ เวทนาจึงดับ เพราะความดับแห่งเวทนาตัณหาจึงดับ เพราะความดับแห่งตัณหา อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์โทมนัสและอุปายาสจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยประการฉะนี้โอตรณานี้ ชื่อ โอตรณา (คือ การหยั่งลง) ด้วยปฏิจจสมุปบาททั้งหลาย ฯ
       อินทรีย์ 5 ที่เป็นอเสกขะเหล่านั้นนั่นแหละ บัณฑิตสงเคราะห์ไว้ด้วยขันธ์ 3 คือ ด้วยสีลขันธ์ ด้วยสมาธิขันธ์ ด้วยปัญญาขันธ์ โอตรณานี้ ชื่อโอตรณา (คือ การหยั่งลง) ด้วยขันธ์ 3 ฯ
       อินทรีย์ 5 ที่เป็นอเสกขะเหล่านั้นนั่นแหละ นับเนื่องในสังขาร (คือหยั่งลงในสังขารขันธ์) สังขารทั้งหลายเหล่าใด ไม่มีอาสวะ และไม่เป็นองค์แห่งภพ (ส่วนแห่งการเกิด) สังขารเหล่านั้น บัณฑิตสงเคราะห์ไว้ด้วยธรรมธาตุโอตรณานี้ ชื่อ โอตรณา (คือการหยั่งลง) ด้วยธาตุทั้งหลาย ฯ
       ธรรมธาตุนั้น นับเนื่องในธัมมายตนะ อายตนะใด ไม่มีอาสวะและไม่มีองค์แห่งการเกิด เทศนาที่หยั่งลงนี้ ชื่อว่า โอตรณาด้วยอายตนะทั้งหลาย ฯ
       คำว่า "อยํ อหสฺมีติ อนานุปสฺสี" (บุคคลไม่ตามเห็นว่า นี้เป็นเรา) ความว่าบุคคลผู้มีสักกายทิฏฐิอันถอนขึ้นแล้วนี้ใด การถอนขึ้นซึ่งสักกายทิฏฐินั้น เป็นเสกขวิมุตติ เสกขะทั้งหลายเหล่านั้นนั่นแหละ เป็นอินทรีย์ 5 ฯ เทศนาที่หยั่งลงนี้ ชื่อ โอตรณาด้วยอินทรีย์ทั้งหลาย ฯ
       อินทรีย์ 5 ที่เป็นเสกขะเหล่านั้นนั่นแหละเป็นวิชชา เพราะความเกิดขึ้นแห่งวิชชา อวิชชาจึงดับ เพราะความดับแห่งอวิชชา สังขารจึงดับ ปฏิจจสมุปบาททั้งปวง เป็นไปด้วยอาการอย่างนี้ ฯ เทศนาที่หยั่งลงนี้ ชื่อ โอตรณาด้วยปฏิจจสมุปบาททั้งหลาย ฯ
       วิชชานั้นนั่นแหละ เป็นปัญญาขันธ์ ฯ เทศนาที่หยั่งลงนี้ ชื่อ โอตรณาด้วยขันธ์ทั้งหลาย ฯ วิชชานั้นนั่นแหละ นับเนื่องในสังขาร สังขารเหล่าใดไม่มีอาสวะ และไม่เป็นองค์แห่งการเกิดขึ้น สังขารเหล่านั้น ท่านสงเคราะห์ไว้ในธรรมธาตุ เทศนาที่หยั่งลงนี้ ชื่อ โอตรณาด้วยธาตุทั้งหลาย ฯ ธัมมธาตุนั้นนับเนื่องในธัมมายตนะ อายตนะใด ไม่มีอาสวะ และไม่เป็นองค์แห่งการเกิดขึ้นเทศนาที่หยั่งลงนี้ ชื่อ โอตรณาด้วยอายตนะทั้งหลาย ฯ บุคคลพ้นวิเศษแล้วด้วยเสกขวิมุตติ และอเสกขวิมุตติ ข้ามได้แล้วซึ่งโอฆะที่ตนยังไม่เคยข้ามเพื่อความไม่เกิดอีก ฯ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "อุทฺธํ อโธ"ดังนี้ ฯ
[ค้นหา] [สารบัญ] <ก่อนนี้] [ถัดไป>