นโม ตัสสะ ภควโต อรหโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
สารบัญ: ห้วเรื่อง, เลขข้อ | ไฟล์เดียว: html, text | [ค้นหา] [สารบัญ] <ก่อนนี้] [ถัดไป>

เนตติปกรณ์แปล : 2. วิจยหารสัมปาตะ

       [58] "สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจักตาย เพราะชีวิตมีความตายเป็นที่สุด สัตว์ทั้งหลายจักไปตามกรรม ผู้เข้าถึงผลแห่งบุญและบาป คือ ผู้มีบาปกรรมจักไปสู่นรก ผู้มีบุญกรรมจักไปสู่สุคติ อนึ่ง สัตว์เหล่าอื่นยังมรรคให้เจริญแล้ว ไม่มีอาสวะ ย่อมปรินิพพาน" ดังนี้ ฯ
       คำว่า "สพฺเพ สตฺตา" ได้แก่ สัตว์ที่เป็นพระอริยะ และไม่ใช่พระอริยะสัตว์ผู้ที่มีกายเป็นของตน (สกฺกายปริยาปนฺนา) และสัตว์ผู้ปราศจากกาย(อรูปพรหม) ฯ
       คำว่า "จักตาย" ได้แก่ ด้วยการตาย 2 อย่าง คือ ด้วยการตายช้า และด้วยการตายไม่ช้า การตายไม่ช้า (เร็ว) ย่อมมีแก่ผู้มีกายเป็นของตน การตายช้าย่อมมีแก่สัตว์ผู้ปราศจากกาย (อายุยืน) ฯ
       คำว่า "เพราะชีวิต มีความตายเป็นที่สุด" ได้แก่ สัตว์ผู้สิ้นอายุ ชื่อว่า มีความตายเป็นที่สุด เพราะความสิ้นไปแห่งอายุของอินทรีย์ทั้งหลาย ฯ
       คำว่า "จักไปตามกรรม" ได้แก่ สัตว์ผู้มีกรรมเป็นของตน ฯ คำว่า "สัตว์ผู้เข้าถึงผลแห่งบุญและบาป" ได้แก่ ความที่กรรมทั้งหลายแสดงผล และการไม่อยู่ปราศจากกรรม ฯ คำว่า "ผู้มีบาปกรรมจักไปสู่นรก" คือ ผู้มีอปุญญสังขารทั้งหลาย ฯ คำว่า "ผู้มีบุญกรรมจักไปสู่สุคติ" ได้แก่ มีปุญญสังขารทั้งหลายจักนำไปสู่สุคติ ฯ คำว่า "สัตว์เหล่าอื่นยังมรรคให้เจริญแล้ว ไม่มีอาสวะย่อมปรินิพพาน" ได้แก่ การก้าวล่วงสังขารทั้งหลายทั้งปวง ฯ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "สพฺเพ สตฺตา ฯ เป ฯ อนาสวา" ดังนี้ ฯ
       ข้อว่า "สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจักตาย เพราะชีวิตมีความตายเป็นที่สุด สัตว์ทั้งหลายจักไปตามกรรม ผู้มีบาปกรรมจักไปสู่นรก" นี้เป็นปฏิปทาหยาบช้าและถูกเผาผลาญ ฯ
       ข้อว่า "สัตว์เหล่าอื่น ยังมรรคให้เจริญแล้ว ไม่มีอาสวะ" นี้เป็นมัชฌิมาปฏิปทา ฯข้อว่า "สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจักตาย เพราะชีวิตมีความตายเป็นที่สุดสัตว์ทั้งหลายจักไปตามกรรม จักไปสู่นรก" นี้เป็นสังกิเลส ฯ สังกิเลส ย่อมยังสังสารให้เกิดขึ้น ด้วยประการฉะนี้ ฯ (ผู้เข้าถึงผลแห่งบุญและบาป)ข้อว่า "สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ฯลฯ ผู้มีบาปกรรม จักไปสู่นรก" ดังนี้ เป็นวัฏฏะ 3 เหล่านี้ คือ ทุกขวัฏฏะ กรรมวัฏฏะ และกิเลสวัฏฏะ ฯ
       ข้อว่า "สัตว์เหล่าอื่นเจริญมรรคแล้ว ไม่มีอาสวะย่อมปรินิพพาน" ดังนี้เป็นการหมุนกลับแห่งวัฏฏะ 3 ฯ
       ข้อว่า "สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจักตาย ฯลฯ ผู้มีบาปกรรม จักไปสู่นรก" นี้เป็นอาทีนวะ (โทษ) ข้อว่า "ผู้มีบุญกรรม จักไปสู่สุคติ" นี้เป็นอัสสาทะ (ความยินดี) ข้อว่า "สัตว์เหล่าอื่นเจริญมรรคแล้ว ไม่มีอาสวะย่อมปรินิพพาน" นี้ เป็นนิสสรณะ (การสลัดออก) ฯ
       ข้อว่า "สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจักตาย ฯลฯ ผู้มีบาปกรรมจักไปสู่นรก" ดังนี้เป็นทั้งเหตุ ทั้งผล คือ ปัญจขันธ์เป็นผล ตัณหาเป็นเหตุ ข้อว่า "สัตว์เหล่าอื่นเจริญมรรคแล้ว ไม่มีอาสวะย่อมปรินิพพาน" ดังนี้ เป็นทั้งมรรคทั้งผล ฯ
       ข้อว่า "สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจักตาย เพราะชีวิตมีความตายเป็นที่สุดสัตว์ทั้งหลายจักไปตามกรรม ผู้เข้าถึงผลแห่งบุญและบาป ผู้มีบาปกรรมจักไปสู่นรก" นี้เป็นสังกิเลส สังกิเลสนั้น มี 3 อย่าง คือ ตัณหาสังกิเลส ทิฏฐิสังกิเลสและทุจริตสังกิเลส ฯ
[ค้นหา] [สารบัญ] <ก่อนนี้] [ถัดไป>