นโม ตัสสะ ภควโต อรหโต สัมมาสัมพุทธัสสะสารบัญ: ห้วเรื่อง, เลขข้อ | ไฟล์เดียว: html, text | [ค้นหา] [สารบัญ] <ก่อนนี้] [ถัดไป> เนตติปกรณ์แปล : +กรรมและวิบาก [120] ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "กรรมเป็นไฉน" ในปิยสูตรตรัสว่า"เมื่อบุคคลถูกมรณะครอบงำแล้ว ละภพมนุษย์ไปอยู่ ก็อะไรเป็นสมบัติของเขา และเขาย่อมพาเอาอะไรไปได้ อนึ่่ง อะไรเล่าจะติดตามเขาไป ประดุจเงาติดตามตนไป ฉะนั้น สัตว์ผู้เกิดมาแล้วจำต้องตายในโลกนี้ย่อมทำกรรมอันใดไว้ คือเป็นบุญและเป็นบาปทั้ง 2 บุญและบาปนั้นแลเป็นสมบัติของเขา และเขาย่อมพาเอาบุญและบาปนั้นไป อนึ่ง บุญและบาปนั้น ย่อมเป็นของติดตามเขาไป ประดุจเงาติดตามตน ฉะนั้น" สูตรนี้ชื่อว่า กรรม ฯ ในพาลบัณฑิตสูตรตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง กรรมลามก ที่คนพาลทำไว้ในกาลก่อน คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ย่อมปกคลุม ย่อมครอบงำเกาะอยู่ซึ่งคนพาลผู้อยู่บนตั่ง หรือบนเตียง หรือนอนบนพื้นดิน ในสมัยอยู่บนตั่งเป็นต้นนั้น เปรียบเหมือนเงายอดภูเขาใหญ่ ย่อมปกคลุม ย่อมครอบงำเกาะอยู่ซึ่งแผ่นดิน ในสมัยเวลาเย็น ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล กรรมลามกที่่คนพาลผู้ทำไว้ในกาลก่อน คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ย่อมปกคลุม ย่อมครอบงำ เกาะอยู่ซึ่งคนพาลผู้อยู่บนตั่งหรือบนเตียง หรือนอนบนพื้นดินในสมัยนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้น คนพาลจะมีความสำนึกตัวอย่างนี้ว่า "เราไม่ได้ทำความดีหนอไม่ได้ทำกุศล ไม่ได้ทำเครื่องป้องกันความหวาดกลัว ทำแต่ความชั่วความเลวร้าย ละโลกนี้ไปแล้ว จะไปสู่คติของคนที่ไม่ได้ทำความดี ไม่ได้ทำกุศล ไม่ได้ทำเครื่องป้องกันความหวาดกลัว ทำแต่ความชั่ว ความเลวความร้ายเป็นที่ไป คนพาลนั้น ย่อมเศร้าโศก ย่อมลำบากใจ ย่อมคร่ำครวญ ร่ำไห้ ทุบอก ถึงความหลงใหล" ดังนี้"อีกประการหนึ่ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรมอันดี ที่บัณฑิตทำไว้ในกาลก่อน คือ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ย่อมปกคลุม ย่อมครอบงำเกาะอยู่ซึ่งบัณฑิต ผู้อยู่บนตั่ง หรือบนเตียง หรือนอนบนพื้นดินในสมัยอยู่บนตั่งเป็นต้นนั้น เปรียบเหมือนเงายอดภูเขาใหญ่ ย่อมปกคลุมย่อมครอบงำเกาะอยู่ ซึ่งแผ่นดินในเวลาเย็น ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลายฉันนั้นเหมือนกันแล กรรมอันงาม ที่บัณฑิตทำไว้ในก่อน คือ กายสุจริตวจีสุจริต มโนสุจริต ย่อมปกคลุม ย่อมครอบงำ เกาะอยู่ ซึ่งบัณฑิตผู้อยู่บนตั่ง หรือบนเตียง หรือนอนบนพื้นดินในสมัยนั้น เปรียบเหมือนเงายอดภูเขาใหญ่ ย่อมปกคลุม ย่อมครอบงำเกาะกุม ในสมัยเวลาเย็นฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล กรรมงามที่บัณฑิตทำไว้ในกาลก่อน คือ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ย่อมปกคลุม ย่อมครอบงำเกาะอยู่ชึ่งบัณฑิตผู้อยู่บนตั่งหรือบนเตียง หรือนอนบนพื้นดินในสมัยนั้นดูกรภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้น บัณฑิตจะมีความรู้สึกอย่างนี้ว่า "เราไม่ได้ทำความชั่ว ไม่ได้ทำความร้าย ไม่ได้ทำความเลว ทำแต่ความดี ทำแต่กุศล ทำแต่เครื่องป้องกันความหวาดกลัว ละโลกนี้ไปแล้ว จะไปสู่คติของคนที่ไม่ได้ทำความชั่ว ไม่ได้ทำความร้าย ไม่ได้ทำความเลว ทำแต่ความดีทำแต่กุศล ทำแต่เครื่องป้องกันความหวาดกลัวไว้เป็นที่ไป" บัณฑิตนั้นย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบากใจ ไม่คร่ำครวญ ไม่ร่ำไห้ ทุบอก ไม่ถึงความหลงพร้อมว่า คติใดจักมีแก่เราผู้ไม่ทำความชั่ว ไม่ทำความร้าย ไม่ทำความเลวทำแต่ความดี ทำแต่กุศล ทำแต่เครื่องป้องกันความหวาดกลัว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเดือดร้อนย่อมไม่เกิด แก่หญิงหรือชาย แก่คฤหัสถ์หรือบรรพชิต เราเรียกบุคคลนั้นว่า ผู้มีความตายอันเจริญ" ดังนี้ สูตรนี้ ชื่่อว่ากรรม ฯ "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทุจริต 3 ประการเหล่านี้ ทุจริต 3 เป็นไฉน กายทุจริต 1 วจีทุจริต 1 มโนทุจริต 1 ทุจริต 3 เหล่านี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุจริต 3 ประการเหล่านี้ สุจริต 3 เป็นไฉน กายสุจริต 1 วจีสุจริต 1 และมโนสุจริต 1 ดูกรภิกษุทั้งหลายสุจริต 3 ประการเหล่านี้แล" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า กรรม ฯ สาสนปัฏฐาน 28 นั้น "วิบากเป็นไฉน"ขณสูตรว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เป็นลาภของพวกเธอ อันพวกเธอได้ดีแล้วขณะเพื่อการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ อันพวกเธอได้เฉพาะแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย นรก ชื่อว่า ผัสสายตนิกะ 6 อันเราเห็นแล้ว ในนรกนั้น สัตว์จะเห็นรูปอะไร ๆ ด้วยจักษุ ก็ย่อมเห็นแต่รูปอันไม่น่าปรารถนา ย่อมไม่เห็นรูปอันน่าปรารถนา ย่อมเห็นแต่รูปไม่น่าใคร่ ย่อมไม่เห็นรูปอันน่าใคร่ย่อมเห็นรูปอันไม่น่าพอใจ ย่อมไม่เห็นรูปอันน่าพอใจ ย่อมฟังเสียงด้วยโสตะ ฯลฯ ย่อมดมกลิ่นด้วยจมูก ฯลฯ ย่อมลิ้มรสด้วยลิ้น ฯลฯ ย่อมถูกต้องโผฏฐัพพะอะไร ๆ ด้วยกาย ฯลฯ ย่อมรู้แจ้งธัมมารมณ์อะไร ๆ ด้วยใจก็ย่อมรู้แจ้งแต่ธัมมารมณ์ อันไม่น่าใคร่ ย่อมไม่รู้แจ้งธัมมารมณ์อันน่าใคร่ ย่อมรู้แจ้งแต่ธัมมารมณ์อันไม่น่าพอใจ ย่อมไม่รู้แจ้งธัมมารมณ์อันน่าพอใจ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เป็นลาภของพวกเธอแล้ว พวกเธอได้ดีแล้ว ขณะเพื่อการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ พวกเธอได้เฉพาะแล้ว ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สวรรค์ชื่อ ผัสสายตนิกะ 6 เราได้เห็นแล้ว ในสวรรค์นั้น บุคคลย่อมเห็นรูปอะไร ๆ ด้วยจักษุ ย่อมเห็นแต่รูปอันน่าปรารถนา ไม่เห็นรูปอันไม่น่าปรารถนา ย่อมเห็นแต่รูปอันน่าใคร่ ไม่เห็นรูปอันไม่น่าใคร่ ย่อมเห็นแต่รูปอันน่าพอใจ ไม่เห็นรูปอันไม่น่าพอใจย่อมฟังเสียง ฯลฯ ย่อมดมกลิ่น ฯลฯ ย่อมลิ้มรส ฯลฯ ย่อมถูกต้องโผฏฐัพพะ ฯลฯ ย่อมรู้แจ้งธัมมารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งด้วยใจ ก็ย่อมรู้แจ้งแต่ธัมมารมณ์อันน่าปรารถนา ย่อมไม่รู้แจ้งธัมมารมณ์อันไม่น่าปรารถนา ย่อมรู้แจ้งแต่ธัมมารมณ์อันน่าใคร่ ไม่รู้แจ้งธัมมารมณ์อันไม่น่าใคร่ ย่อมรู้แจ้งแต่ธัมมารมณ์อันน่าพอใจ ไม่รู้แจ้งธัมมารมณ์อันไม่น่าพอใจ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เป็นลาภของพวกเธอแล้ว พวกเธอได้ดีแล้วขณะแห่งการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์อันพวกเธอได้เฉพาะแล้ว" ดังนี้ ข้อนี้เป็นวิบาก ฯ ในเสฏฐิปุตตเปตวัตถุว่า "เมื่อพวกเรา พากันหมกไหม้อยู่ในนรก 6หมื่นปีเต็มบริบูรณ์ โดยประการทั้งปวง เมื่อไรที่สุดจักมี ที่สุดไม่มี ที่สุดจักมีแต่ที่ไหน ที่สุดย่อมไม่ปรากฏ แน่ะท่านผู้นิรทุกข์ เพราะเรากับท่านได้ทำบาปกรรมไว้" ดังนี้ ข้อนี้เป็น วิบาก ฯ |