นโม ตัสสะ ภควโต อรหโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
สารบัญ: ห้วเรื่อง, เลขข้อ | ไฟล์เดียว: html, text | [ค้นหา] [สารบัญ] <ก่อนนี้] [ถัดไป>

เนตติปกรณ์แปล : นยสมุฏฐาน นันทิยาวัฏฏนัย

       
       [79] ในสมุฏฐานนั้น เหตุที่เกิดแห่งนัย เป็นไฉน
       ที่สุดเบื้องต้น แห่งอวิชชาและภวตัณหา ย่อมไม่ปรากฏ ฯ ในอวิชชาและภวตัณหานั้น เครื่องกางกั้น คือ อวิชชา เครื่องผูกพัน คือ ตัณหา ฯ สัตว์ทั้งหลายมีอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น มีอวิชชาประกอบไว้ ย่อมประพฤติเป็นไป โดยฝ่ายแห่งอวิชชา สัตว์เหล่านั้น ท่านเรียกว่า ทิฏฐิจริต ฯ สัตว์ทั้งหลายมีตัณหาเป็นเครื่องผูกพัน มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ย่อมประพฤติเป็นไป โดยฝ่ายแห่งตัณหา สัตว์เหล่านั้น ท่านเรียกว่า ตัณหาจริต ฯ สัตว์ผู้ทิฏฐิจริตบวชในภายนอกจากพระศาสนานี้ ย่อมขวนขวายในอัตตกิลมถานุโยคอยู่ ฯ สัตว์ผู้ตัณหาจริตบวชในภายนอกจากพระศาสนานี้ ขวนขวายในกามสุขัลลิกานุโยคในกามทั้งหลายอยู่ ฯ
       ในทิฏฐิจริตและตัณหาจริตเหล่านั้น อะไรเป็นเหตุ เหตุทั้งหลายมีอยู่เหตุนั้นเป็นไฉน บุคคลผู้มีทิฏฐิจริตบวชในภายนอกจากพระศาสนานี้เป็นผู้ขวนขวายในการประกอบตนให้ลำบาก บุคคลผู้มีตัณหาจริต บวชในภายนอกจากพระศาสนานี้ เป็นผู้ขวนขวายในการประกอบตนให้ชุ่มอยู่ด้วยกามสุขในกามทั้งหลายอยู่ ฯ การกำหนดสัจจะ ย่อมไม่มีในภายนอกจากพระศาสนานี้การประกาศสัจจะ 4 หรือความเป็นผู้ฉลาดในสมถวิปัสสนา หรือการถึงสุขอันสงบ จักมีแต่ที่ไหน ฯ ชนเหล่านั้น ไม่รู้แจ้งซึ่งสุขอันสงบระงับ มีใจวิปริต ย่อมกล่าวอย่างนี้ว่า "ความสุข อันบุคคลพึงบรรลุด้วยความสุข ย่อมไม่มี ชื่อว่าความสุข อันบุคคลพึงบรรลุด้วยความทุกข์ มีอยู่" ดังนี้ ฯ ชนเหล่านั้น มีความสำคัญอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า "ชนใดย่อมเสพกาม ชนนั้นย่อมยังโลกให้เจริญ คนใดยังโลกให้เจริญ คนนั้น ย่อมประสบซึ่งบุญเป็นอันมาก" ดังนี้ เมื่อปรารถนาสุขด้วยทุกข์ มีความสำคัญบุญในกามทั้งหลาย ย่อมเป็นผู้ขวนขวายในอัตตกิลมถานุโยค และขวนขวายในกามสุขัลลิกานุโยค ชนเหล่านั้น ไม่รู้ความสุขอันสงบ มีอยู่ ย่อมยังโรคเท่านั้นให้เจริญ ย่อมยังฝีนั่นแหละให้เจริญย่อมยังลูกศรนั่นแหละให้เจริญ ชนเหล่านั้นผู้อันโรคครอบงำแล้ว ผู้อันฝีเบียดเบียนแล้ว ผู้อันลูกศรเสียบแทงแล้ว ก็กระทำการจุติและเกิดขึ้นในนรก ในกำเนิดสัตว์เดรัจฉาน ในกำเนิดเปรตและอสุรกาย เสวยอยู่เฉพาะซึ่งการฆ่าและถูกข่มเหง ย่อมไม่ประสบเภสัชเป็นเครื่องเยียวยารักษาโรค ฝี และลูกศร ฯ
       บรรดาสังกิเลส โวทาน โรคและเภสัชเป็นต้นนั้น อัตตกิลมถานุโยคและกามสุขัลลิกานุโยค เป็นสังกิเลส (เครื่องเศร้าหมอง) สมถวิปัสสนาเป็นโวทานอัตตกิลมถานุโยคและกามสุขัลลิกานุโยคเป็นโรค สมถวิปัสสนาเป็นเภสัชกำจัดโรค อัตตกิลมถานุโยคและกามสุขัลลิกานุโยคเป็นฝี สมถวิปัสสนาเป็นเภสัชกำจัดฝีอัตตกิลมถานุโยคและกามสุขัลลิกานุโยคเป็นลูกศร สมถวิปัสสนาเป็นเภสัชถอนลูกศร ฯ
       ในธรรมมีสังกิเลสเป็นต้นเหล่านั้น สังกิเลส (เครื่องเศร้าหมอง) เป็นทุกข์ตัณหาเกี่ยวข้องกับทุกข์นั้นเป็นสมุทัย การดับตัณหาเป็นการดับทุกข์ สมถวิปัสสนาเป็นปฏิปทาให้ถึงการดับทุกข์ บัณฑิตพึงประกอบสัจจะ 4 เหล่านี้ ในสัจจะ 4เหล่านั้น ทุกข์เป็นธรรมที่ควรกำหนดรู้ สมุทัยเป็นธรรมที่ควรละ มรรคเป็นธรรมที่ควรเจริญ นิโรธเป็นธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ฯ
       [80] บรรดาทิฏฐิจริตและตัณหาจริตเหล่านั้น บุคคลผู้ทิฏฐิจริต ย่อมยึดรูปโดยความเป็นตน ย่อมยึดเวทนา ฯลฯ ย่อมยึดสัญญา ฯลฯ ย่อมยึดสังขารทั้งหลาย ฯลฯ ย่อมยึดวิญญาณ โดยความเป็นตน (อัตตา) ฯ บุคคลผู้ตัณหาจริต ย่อมยึดตนมีรูป หรือยึดรูปในตน หรือว่า ยึดตนในรูป ย่อมยึดตนมีเวทนาฯลฯ ย่อมยึดตนมีสัญญา ฯลฯ ย่อมยึดตนมีสังขาร ฯลฯ ย่อมยึดตนมีวิญญาณหรือย่อมยึดตนวิญญาณในตน หรือว่า ย่อมยึดตนในวิญญาณ มิจฉาทิฏฐิ มีวัตถุ 20 นี้ ท่านเรียกว่า สักกายทิฏฐิ ฯ
       โลกุตตรสัมมาทิฏฐิ (ปฐมมรรค) เป็นปฏิปักษ์ต่อสักกายทิฏฐิ 20 นั้นสัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะสัมมาสติ และสัมมาสมาธิ ย่อมคล้อยตามสัมมาทิฏฐินั้น ธรรมมีสัมมาทิฏฐิเป็นต้นนี้ เป็นอริยมรรคประกอบด้วยองค์ 8 มรรค 8 เหล่านั้นเป็นขันธ์ 3 คือสีลขันธ์ สมาธิขันธ์ และปัญญาขันธ์ ฯ สีลขันธ์และสมาธิขันธ์เป็นสมถะ ปัญญาขันธ์เป็นวิปัสสนา ฯ ในทิฏฐิจริตและตัณหาจริตเหล่านั้น สักกายะ (กายของตน)เป็นทุกข์ สักกายสมุทัยเป็นเหตุเกิดของทุกข์ สักกายนิโรธเป็นการดับทุกข์อริยมรรคประกอบด้วยองค์ 8 เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงการดับทุกข์ ธรรมเหล่านี้เป็นสัจจะ 4 ในสัจจะเหล่านั้น ทุกข์เป็นธรรมที่ควรกำหนดรู้ สมุทัยเป็นธรรมที่พึงละมรรคเป็นธรรมที่ควรเจริญ นิโรธเป็นธรรมที่ควรทำให้แจ้งแล ฯ
       ในทิฏฐิจริตและตัณหาจริตเหล่านั้น บุคคลเหล่าใด ย่อมยึดรูป โดยความเป็นตน ย่อมยึดเวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ ย่อมยึดวิญญาณโดยความเป็นตน บุคคลผู้มีทิฏฐิจริตเหล่านี้ เรียกว่า มีปกติกล่าวว่าขาดสูญ(อุจเฉทวาทะ) เพราะมีรูปเป็นต้นเป็นตน และความที่ธรรมมีรูปเป็นต้นไม่เที่ยงและแม้ความที่อัตตาก็ไม่เที่ยง อัตตาย่อมขาดสูญ อัตตาย่อมพินาศ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตกอัตตาย่อมขาดสูญ ฯ บุคคลเหล่าใด ย่อมยึดตนมีรูปหรือยึดรูปในตน หรือยึดตนมีในรูป ย่อมยึดตนมีเวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ
       สังขาร ฯลฯ ย่อมยึดตนมีวิญญาณ หรือยึดวิญญาณในตน หรือยึดตนมีในวิญญาณ บุคคลมีทิฏฐิจริตเหล่านี้ เรียกว่า มีปกติกล่าวว่าเที่ยง (สัสสตวาทะ) ฯ เพราะเห็นเป็น 2 อย่าง ฯ
       ในบุคคลผู้มีปกติกล่าวว่าขาดสูญและเที่ยงนั้น วาทะว่าขาดสูญและเที่ยงเป็นปฏิปทาที่สุด (โต่ง) 2 อย่าง ฯ ปฏิปทาทั้ง 2 ที่สุดโต่งนี้ ย่อมเป็นไปในสังสาร ฯ ในปฏิปทาที่เป็นไปในสังสารและไม่เป็นไปในสังสารนั้น ปฏิปทาที่เป็นไปในสังสารเป็นทุกข์ ตัณหาที่เกี่ยวข้องกับทุกข์นั้นเป็นสมุทัย การดับตัณหาเป็นการดับทุกข์ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ 8 เป็นปฏิปทาให้ถึงการดับทุกข์ธรรมเหล่านี้เป็นสัจจะ 4 ในสัจจะ 4 นั้น ทุกข์เป็นธรรมที่ควรกำหนดรู้ สมุทัยเป็นธรรมที่ควรละ มรรคเป็นธรรมที่ควรเจริญ นิโรธเป็นธรรมที่ควรกระทำให้แจ้ง ฯ
       ในอุทเฉทะ สัสสตะและมรรคนั้น อุจเฉททิฏฐิและสัสสตทิฏฐิ ได้แก่สักกายทิฏฐิมีวัตถุ 20 โดยย่อ โดยพิสดาร ได้แก่ ทิฏฐิ 62 ประการ ฯ ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อทิฏฐิเหล่านั้น ได้แก่ โพธิปักขิยธรรม 43 วิโมกข์ 8 และ กสิณายตนะ 10 ฯ ทิฏฐิ 62 เป็นโมหะและชาละ อันเป็นไปไม่มีที่สุดในเบื้องต้น ฯ
       โพธิปักขิยธรรม 43 เป็นวชิรญาณ เป็นเครื่องทำลายโมหะและ ชาละอันเป็นไปไม่มีที่สุดในเบื้องต้น ฯ ในโมหะและชาละ (ข่าย) ทั้ง 2 นั้น โมหะ ได้แก่อวิชชา ข่าย (ชาลํ) ได้แก่ ภวตัณหา เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า"ที่สุดเบื้องต้นแห่งอวิชชาและภวตัณหา ย่อมไม่ปรากฏ" ดังนี้ ฯ
       [81] ในบุคคลผู้มีทิฏฐิจริตและตัณหาจริตเหล่านั้น บุคคลผู้ทิฏฐิจริต บวชในพระศาสนานี้ย่อมประพฤติสืบต่อเนือง ๆ ในการขัดเกลา เป็นผู้คารวะกล้าในการขัดเกลา ฯ บุคคลผู้ตัณหาจริต บวชในพระศาสนานี้ เป็นผู้ประพฤติเนือง ๆ ในสิกขา เป็นผู้เคารพอย่างแรงกล้าในสิกขา ฯ บุคคลผู้ทิฏฐิจริต เมื่อก้าวลงสู่สัมมัตตนิยาม ย่อมเป็นผู้ชื่อว่า ธัมมานุสารี ฯ บุคคลผู้ตัณหาจริต เมื่อก้าวล่วงลงสู่สัมมัตตนิยาม ย่อมเป็นผู้ชื่อว่า สัทธานุสารี ฯ บุคคลผู้ทิฏฐิจริต ย่อมออก(จากสังสาร) ด้วยสุขาปฏิปทาทันธาภิญญา และย่อมออกไปด้วยสุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา ฯ บุคคลผู้ตัณหาจริต ย่อมออกด้วยทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญาและทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญา ฯ
       ในบุคคลทั้ง 2 เหล่านั้น บุคคลใดย่อมออกด้วยเหตุใด เหตุนั้นเป็นไฉน กามทั้งหลายของบุคคลผู้ตัณหาจริตนั้น เป็นกามไม่สละได้โดยง่าย เหตุใด เพราะเหตุนั้น บุคคลผู้ตัณหาจริต จึงออกด้วยปฏิปทาที่ลำบากทั้งตรัสรู้ช้า และออกไปด้วยปฏิปทาที่ลำบากและตรัสรู้เร็ว ฯ บุคคลผู้ตัณหาจริตนั้น ผู้อันวัตถุกามและกิเลสกามรึงรัดอยู่ สลัดออกโดยยากและรู้ธรรมช้า ฯ แต่บุคคลใด คือ ผู้มีทิฏฐิจริตนี้ไม่ต้องการกามทั้งหลายตั้งแต่ต้นทีเดียว บุคคลผู้ทิฏฐิจริตนั้น ผู้อันกามเหล่านั้นไม่รึงรัดอยู่ (ปล่อยอยู่) จึงสลัดออกได้พลัน และย่อมรู้ธรรมได้เร็วพลัน ฯ ปฏิปทา แม้ลำบากก็มี 2 อย่าง คือ ตรัสรู้ช้าและตรัสรู้เร็ว ฯ ปฏิปทาแม้สบายก็มี 2 อย่างคือ ตรัสรู้ช้าและตรัสรู้เร็ว ฯ แม้สัตว์ทั้งหลายก็มี 2 อย่างคือ ผู้มีอินทรีย์อ่อนก็มี ผู้มีิอินทรีย์แก่กล้าก็มี ฯ สัตว์เหล่าใดมีอินทรีย์อ่อน สัตว์เหล่านั้น ย่อมสลัดออกช้าและรู้ธรรมช้า ฯ สัตว์เหล่าใด มีอินทรีย์แก่กล้า สัตว์เหล่านั้น ย่อมสลัดออกได้เร็วและย่อมรู้ธรรมได้เร็ว ฯ ปฏิปทา 4 เหล่านี้ มีอยู่ ฯ
       จริงอยู่ สัตว์เหล่าใด ออกไปด้วยปฏิปทา 4 ในอดีตบ้าง หรือย่อมออกไปในปัจจุบันบ้าง หรือจักออกไปในอนาคตบ้าง สัตว์เหล่านั้นก็ออกไปด้วยปฏิปทา 4 เหล่านี้ ฯ
       ด้วยประการตามที่กล่าวแล้วนี้ พระอริยะทั้งหลาย ย่อมประกาศหมวด 4 แห่งมรรคปฏิปทา 4 เพื่ออันไม่หมุนไปแห่งภวตัณหา อันเพลิดเพลิน อันมีปกติอยู่ในราตรีของผู้กำหนัด อันชนผู้ไม่มีปัญญาเสพแล้ว อันชนพาลใคร่ ความประกอบสัจจะ 4 ด้วยอำนาจตัณหา อวิชชา และด้วยอำนาจสมถวิปัสสนา นี้เรียกว่า ภูมิ เพราะเป็นสมุฏฐานแห่งนัย ชื่อว่า นันทิยาวัฏฏะ แล เพราะเหตุนั้นท่านพระมหากัจจายนะจึงกล่าวว่า "ตณฺหญฺจ อวิชฺชมฺมิ จ สมเถน" เป็นต้น ฯ
       +สีหวิกีฬิตนัย
[ค้นหา] [สารบัญ] <ก่อนนี้] [ถัดไป>
(ไม่สงวนลิขสิทธิ์)