นโม ตัสสะ ภควโต อรหโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
สารบัญ: ห้วเรื่อง, เลขข้อ | ไฟล์เดียว: html, text | [ค้นหา] [สารบัญ] <ก่อนนี้] [ถัดไป>

เนตติปกรณ์แปล : วิสัชชนียะและอวิสัชชนียะ

       
       [118] ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "วิสัชชนียะเป็นไฉน"พระสูตรว่า
       "เมื่อปัญหา อันบุคคลถามแล้วว่า สัจจะนี้อันบุคคลพึงรู้ยิ่งอย่างไรสัจจะนี้พึงกำหนดรู้ สัจจะนี้พึงละ สัจจะนี้พึงเจริญ สัจจะนี้พึงกระทำให้แจ้ง กุศลธรรม อกุศลธรรมที่บุคคลถือเอาอย่างนั้น ผลมีวิบากน่าปรารถนาไม่น่าปรารถนานี้ที่กุศลหรืออกุศลให้เกิดขึ้น ความเจริญหรือความเสื่อมแห่งกุศลและอกุศลเหล่านั้น ที่่บุคคลถือเอาอย่างนั้น" ดังนี้เป็นต้น ปัญหานี้พึงวิสัชชนา (คือพึงพยากรณ์)ด้วยบทว่า "อุฬาโร พุทฺโธ ภควา" นี้ พึงอธิบาย ถึงความโอฬาร(ประเสริฐ) ของพระพุทธเจ้าโดยส่วนเดียว ด้วยบทว่า "สฺวากฺขาโต ธมฺโม"ดังนี้ พึงแสดงธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้วโดยส่วนเดียว ด้วยบทว่า "สุปฏิปนฺโน สํโฆ" ดังนี้ พึงแสดงความปฏิบัติดีของพระสงฆ์โดยส่วนเดียว ฯ
       ด้วยบทว่า "สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา" ดังนี้ พึงแสดงความที่สังขารไม่เที่ยงอย่างเดียว ด้วยบทว่า "สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา" ดังนี้ พึงแสดงความที่สังขารเป็นทุกข์อย่างเดียว ด้วยบทว่า "สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา" ดังนี้ ก็พึงแสดงความที่ธรรมเป็นอนัตตาโดยส่วนเดียวเท่านั้น หรือธรรมชาติอื่นที่มีลักษณะอย่างนี้ ก็พึงชี้แจงโดยส่วนเดียวเท่านั้น (ปัญหานี้ พึงวิสัชนา)นี้ชื่่อว่า วิสัชชนียะ ฯ
       ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "อวิสัชชนียะเป็นไฉน"พระสูตรมีคำว่า"ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นสารถีฝึกนระ เมื่อพระองค์ปรารถนาอยู่ (หวังอยู่) พวกเทวดาและมนุษย์ไม่พึงรู้เญยยธรรม อันพระทัยประกอบด้วยสัพพัญญุตญาณเป็นต้นคิดแล้ว เมื่อพระองค์เสพอรณสมาธิอันสงบระงับแล้ว สัตว์ทั้งปวงก็ไม่พึงรู้แม้ด้วยปัญญาอันมีกสิณเป็นอารมณ์ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ย่อมปรารถนา (หวัง) สิ่งใด ความปรารถนานั้นเป็นไฉน" ดังนี้ เป็นต้น พระสูตรนี้ ชื่อว่า อวิสัชชนียะ ฯ
       พระสูตรนี้ว่า
       "พระผู้มีพระภาคเจ้า มีประมาณในศีลขันธ์เท่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า มีประมาณเท่านี้ในสมาธิขันธ์ ในปัญญาขันธ์ ในวิมุตติขันธ์ ในวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ พระผู้มีพระภาคเจ้า มีประมาณเท่านี้ในกายและวจีสมาจารเป็นเหตุ มีประมาณเท่านี้ในอานุภาพ มีประมาณเท่านี้ในพระเมตตา ในพระกรุณา มีประมาณเท่านี้ในพระฤทธิ์ต่าง ๆ " ดังนี้ พระสูตรนี้ชื่อว่า อวิสัชชนียะ ฯ (อันบุคคลไม่พึงพยากรณ์)พระสูตรนี้ว่า
       "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะความบังเกิดขึ้นแห่งพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ความบังเกิดขึ้นแห่งรัตนะ 3 คือ พุทธรัตนะ ธัมมรัตนะและสังฆรัตนะ จึงมี รัตนะ 3 มีประมาณเท่าไร (โดยคุณ)" ดังนี้ นี้ชื่อว่าอวิสัชชนียะ ฯ (ไม่พยากรณ์)ปัญหาที่มีบุคคลเป็นประธาน คือ วิสัยของพระพุทธเจ้า อันบุคคลไม่พึงพยากรณ์ บุคคลอื่นรู้ บุคคลอื่นก็ไม่พึงพยากรณ์ เพราะเป็นวิสัยของพระพุทธเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ที่สุดเบื้องต้น ย่อมไม่ปรากฏแก่สัตว์ทั้งหลายผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น ผู้มีตัณหาเป็นเครื่องผูกพัน เมื่อสัตว์ทั้งหลายแล่นไปท่องเที่ยวไปสู่นรกคราวหนึ่ง สู่กำเนิดสัตว์เดรัจฉานคราวหนึ่ง สู่เปตวิสัยคราวหนึ่ง สู่กำเนิดอสุรกายคราวหนึ่ง ในเทพคราวหนึ่ง ในมนุษย์คราวหนึ่ง ที่สุดเบื้องต้นนั้น เป็นไฉน" คำนี้อันบุคคลไม่พึงพยากรณ์เทศนาว่า ที่สุดเบื้องต้น ย่อมไม่ปรากฏ ดังนี้ ได้แก่ เพราะความบกพร่องแห่งญาณของพระสาวกทั้งหลาย เทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้ามี 2อย่าง คือ เทศนาที่น้อมไปแก่ตน และน้อมไปแก่บุคคลอื่่น ๆ คำว่า "ย่อมไม่ปรากฏ" ดังนี้ เป็นเทศนาน้อมไปแก่ตน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารภโกกาลิกภิกษุโดยประการใด ได้ตรัสกะภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง โดยประการนั้นว่า
       "ดูกรภิกษุ เปรียบเหมือนเกวียนบรรทุกงาแห่งชาวโกศล ซึ่งบรรทุกงาได้ 20 ขารี บุรุษพึงนำเมล็ดงาออกจากเกวียนนั้น โดยล่วงไปแห่งร้อยปี ๆ ต่อหนึ่่งเมล็ด ฯลฯ ส่วนอัพพุทนรกหนึ่ง ยังไม่ถึงความสิ้นไปหมดไปเลย ดูกรภิกษุ 20 อัพพุทนรก เป็นหนึ่งนิรัพพุทนรก 20 นิรัพพุทนรกเป็นหนึ่งอพพนรก 20 อพพนรกเป็นหนึ่งอฏฏนรก 20 อฏฏนรกเป็นหนึ่งอหหนรก 20 อหหนรกเป็นหนึ่งกุมุทนรก 20 กุมุทนรกเป็นหนึ่งโสคันธิกนรก ดูกรภิกษุ 20 โสคันธิกนรกเป็นหนึ่งอุปปลกนรก 20อุปปลกนรกเป็นหนึ่งปุณฑริกนรก 20 ปุณฑริกนรกเป็นหนึ่งปทุมนรกดูกรภิกษุ โกกาลิกภิกษุเกิดในปทุมนรกเพราะยังจิตให้อาฆาตแล้ว ในพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ" ดังนี้ ก็หรือว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระพุทธพจน์อย่างใดอย่างหนึ่ง เทศนานี้ อันบุคคลไม่พึงประมาณ ไม่พึงนับ ดังนี้ คำทั้งปวงนั้น อันบุคคลไม่พึงวิสัชนา ข้อนี้ ชื่อว่า อวิชชนียะ ฯ
       [119] ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "วิสัชชนียะและอวิสัชชนียะเป็นไฉน"ในกาลใด อุปกาชีวกนั้น กล่าวกะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า"ดูก่อนพระโคดมผู้มีอายุ พระองค์จักเสด็จไปไหน" พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "เราจะไปยังเมืองพาราณสี เพื่อประกาศธรรมจักร จักบันลือกลองอมตะให้เป็นไป อันใคร ๆ ในโลกให้เป็นไปไม่ได้" ดังนี้ อุปกาอาชีวกทูลว่า "ดูก่อนอาวุโสโคดมผู้เจริญ พระองค์ย่อมทรงทราบชัดคำว่า ชินะหรือ" พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "บุคคลเหล่าใดถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะแล้ว บุคคลเหล่านั้นก็เป็นผู้ชนะเช่นกับเรา ดูกรอุปกะเราชนะธรรมอันลามกแล้ว เพราะฉะนั้น เราจึงชื่อว่า ชินะ" ดังนี้คำถามอันอุปกะนั้นถามว่า"บุคคลเป็นชินะอย่างไร เป็นชินะ เพราะละกิเลสอย่างไร" ดังนี้ชื่อว่า วิสัชชนียะ เพราะเป็นปัญหาที่ควรพยากรณ์ (วิสัชชนา) ฯ คำว่าอะไร เป็นชินะ (คือ รูปเป็นต้นเป็นชินะ หรือธรรมอื่นนอกจากรูปเป็นต้นเป็นชินะ) ดังนี้ ชื่อว่า อวิสัชชนียะ ฯ เพราะเป็นปัญหาที่ไม่พึงพยากรณ์ ฯ
       คำว่า ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ เป็นไฉน คำนี้ ชื่่อว่าวิสัชชนียะ ฯ คำถามว่า ความสิ้นอาสวะมีประมาณเท่าไร นี้ ชื่อว่าอวิสัชชนียะ (เพราะไม่อาจวิสัชชนาได้) ฯ พระสูตรทั้งปวงนี้ ชื่่อว่าวิสัชชนียะและอวิสัชชนียะ ฯ
       คำว่า ตถาคตมีอยู่ ดังนี้ เป็น วิสัชชนียะ ฯ คำว่า รูปมีอยู่ ดังนี้ เป็นวิสัชชนียะ ฯ คำว่า รูปเป็นตถาคต (อัตตา) ด้วยอำนาจสักกายทิฏฐิ เป็นอวิสัชชนียะ ฯ ตถาคตมีรูป ตถาคตในรูป รูปในตถาคต (เหล่านี้) เป็นอวิสัชชนียะ ฯ คำอย่างนี้ว่า เวทนามีอยู่ ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณ มีอยู่ ดังนี้ เป็นวิสัชชนียะ ฯ คำว่า วิญญาณเป็นตถาคต ตถาคตมีวิญญาณ ตถาคตในวิญญาณ วิญญาณในตถาคต (เหล่านี้) เป็นอวิสัชชนียะ ฯ คำว่า ตถาคตเว้นจากรูป ตถาคตเว้นจากเวทนา จากสัญญาจากสังขาร และตถาคตเว้นจากวิญญาณ (เหล่านี้) เป็นอวิสัชชนียะ ฯ
       ตถาคตนี้นั้น มิใช่รูป มิใช่เวทนา มิใช่สัญญา มิใช่สังขาร มิใช่วิญญาณเหล่านี้ เป็น อวิสัชชนียะ ฯ พระสูตรนี้ ชื่อว่า วิสัชชนียะและอวิสัชชนียะ ฯ
       พระสูตรว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมทอดพระเนตรเห็นสัตว์ทั้งหลาย ผู้กำลังจุติ กำลังอุปบัติ ด้วยทิพยจักษุอันก้าวล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมทราบชัดสัตว์ทั้งหลายผู้เป็นไปตามกรรม ฯลฯ" ดังนี้ เป็นวิสัชชนียะ ฯ คำว่า "สัตว์ทั้งหลายเป็นไฉน และคำว่า ตถาคตเป็นไฉน"ดังนี้ เป็นอวิสัชชนียะ เพราะไม่ได้เป็นปรมัตถ์ ฯ
       คำว่า ตถาคตมีอยู่ ดังนี้ เป็นวิสัชชนียะ ฯ คำว่า เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ตถาคตมีอยู่ ดังนี้ เป็นอวิสัชชนียะ ฯ สูตรนี้ เป็นวิสัชชนียะและอวิสัชชนียะ ฯ
       +กรรมและวิบาก
[ค้นหา] [สารบัญ] <ก่อนนี้] [ถัดไป>
(ไม่สงวนลิขสิทธิ์)