นโม ตัสสะ ภควโต อรหโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
สารบัญ: ห้วเรื่อง, เลขข้อ | ไฟล์เดียว: html, text | [ค้นหา] [สารบัญ] <ก่อนนี้] [ถัดไป>

เนตติปกรณ์แปล : 5. ลักขณหารวิภังค์

       
       [ 23 ] ในบรรดาหาระเหล่านั้น ลักขณหาระเป็นไฉน ? คาถาว่า “วุตฺตมฺหิ เอกธมฺเม (เมื่อท่านกล่าวธรรมอย่างหนึ่ง)” เป็นต้นนั้น ชื่อว่า ลักขณหาระ. ลักขณหาระกำหนดอะไร ? กำหนดดังนี้ คือ ธรรมเหล่าใดมีลักษณะเหมือนกัน เมื่อท่านกล่าวธรรมอย่างหนึ่งแห่งธรรมเหล่านั้น ธรรมที่เหลือก็เป็นอันท่านกล่าวแล้ว. สมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า
       ภิกษุทั้งหลาย จักษุเป็นสิ่งที่ไม่ตั้งมั่น มีขณะสั้น มีขณะน้อย มักเสื่อมเสีย เป็นศัตรู เป็นทุกข์ มีการเสียไป หวั่นไหว เหมือนผู้แสดง มีการปรุงแต่ง เป็นผู้ฆ่า อยู่ท่ามกลางศัตรู. เมื่อท่านกล่าวจักษุในสูตรนี้แล้ว ก็เป็นอันกล่าวอายตนะภายในที่เหลือด้วย. เพราะเหตุไร ? เพราะว่า อายตนะภายใน 6 ทั้งปวงมีลักษณะเหมือนกันโดยสภาพเป็นผู้ฆ่า. และสมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า
       ดูก่อนราธะ เธอจงเป็นผู้เพ่งเล็งในรูปขันธ์ที่เป็นอดีต. อย่ายินดีรูปขันธ์ที่เป็นอนาคต. จงปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อการสละ เพื่อการพ้นรูปขันธ์ที่เป็นปัจจุบัน.1 เมื่อท่านกล่าวรูปขันธ์ในสูตรนี้แล้ว ก็เป็นอันกล่าวขันธ์ที่เหลือด้วย. เพราะเหตุไร ? เพราะว่าปัญจขันธ์ทั้งปวงท่านกล่าวว่า มีลักษณะเหมือนกันโดยสภาพความเป็นผู้ฆ่า ในยมโกวาทสูตร.2 และสมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า
        กายคตาสติ (สติที่ประกอบด้วยวิปัสสนาญาณ อันมีรูปกายเป็นอารมณ์) อันชนเหล่าใดเพียรพยายามดีแล้วเป็นนิจ ชนเหล่านั้นย่อมไม่เสพกิจที่ไม่ควรทำ เป็นผู้มีปกติกระทำอย่างต่อเนื่องในกิจที่ควรทำ (คือ การเจริญกรรมฐาน)3
       1. สํ. ข. 17/9,79/16,71, สํ. สฬา. 18/10–12/5 2. สํ. ข. 17/85/87,92
       3. ขุ. ธ. 25/293/67
       เมื่อท่านกล่าว กายคตาสติ (สติที่ประกอบด้วยวิปัสสนาญาณ อันมีรูปกายเป็นอารมณ์) ในคาถานี้แล้ว เวทนาคตาสติ (สติที่ประกอบด้วยวิปัสสนาญาณ อันมีเวทนาเป็นอารมณ์) จิตตคตาสติ (สติที่ประกอบด้วยวิปัสสนาญาณ อันมีจิตเป็นอารมณ์) และ ธัมมคตาสติ (สติที่ประกอบด้วยวิปัสสนาญาณ อันมีธรรมเป็นอารมณ์) ก็เป็นอันท่านกล่าวแล้ว. เหมือนเช่นนั้น เมื่อท่านกล่าว “เห็นรูปายตนะอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี” ดังนี้แล้วรูปที่เหลือซึ่งจัดอยู่ในธัมมารมณ์ที่รู้ได้ด้วย มโนวิญญาณ ก็เป็นอันท่านกล่าวแล้ว. และสมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า 4 ดูก่อนภิกษุ เพราะเหตุนั้นเธอจงเป็นผู้พิจารณาดูกายในรูปกาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก อยู่ในศาสดานี้. ท่านกล่าววิริยินทรีย์ด้วยคำว่า “อาตาปี” กล่าวปัญญินทรีย์ด้วยคำว่า “สมฺปชาโน” กล่าวสตินทรีย์ด้วยคำว่า “สติมา” กล่าวสมาธินทรีย์ด้วยคำว่า “วิเนยฺยโลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ”. สติปัฏฐาน 4 ย่อมถึงความบริบูรณ์แห่งภาวนา แก่บุคคลผู้พิจารณาดูกายในรูปกายอย่างนี้อยู่. เพราะเหตุไร ? เพราะอินทรีย์ทั้ง 4 มีลักษณะเหมือนกัน
       4 สํ. มหา. 19/369,413/125,164
       [ 24 ] เมื่อเจริญสติปัฏฐาน 4 แล้ว สัมมัปปธาน 4 ย่อมถึงความบริบูรณ์แห่งภาวนา. เมื่อเจริญสัมมัปปธาน 4 แล้ว อิทธิบาท 4 ย่อมถึงความบริบูรณ์แห่งภาวนา. เมื่อเจริญอิทธิบาท 4 แล้ว อินทรีย์ 5 ย่อมถึงความบริบูรณ์แห่งภาวนา. เมื่อเจริญอินทรีย์ 5 แล้ว พละ 5 ย่อมถึงความบริบูรณ์แห่งภาวนา. เมื่อเจริญ พละ 5 แล้ว โพชฌงค์ 7 ย่อมถึงความบริบูรณ์แห่งภาวนา. เมื่อเจริญโพชฌงค์ 7 แล้ว อริยมรรคอันมีองค์ 8 ย่อมถึงความบริบูรณ์แห่งภาวนา. โพธิปักขิยธรรมทั้งปวง อันเป็นธรรมที่ตรัสรู้ (อริยสัจ 4) มีลักษณะเหมือนกัน โดยลัฏษณะที่ออกจากวัฏฏะ. โพธิปักขิยธรรม 37 ประการเหล่านั้น ย่อมถึงความบริบูรณ์แห่งภาวนา ฉันใด).
       แม้อกุศลธรรมทั้งหลาย ก็ถึงซึ่งการหายไป การตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะมีลักษณะเหมือนกัน ฉันนั้น. เมื่อเจริญสติปัฏฐาน 4 แล้ว วิปัลลาส 4 ย่อมหายไป. แม้อาการ 4 ของวิปัลลาสนั้น ย่อมถึงการกำหนดรู้ เป็นผู้ไม่มีความยึดมั่นด้วยอุปาทาน 4 เป็นผู้ปราศจากการประกอบด้วยโยคะทั้งหลาย เป็นผู้ไม่ประกอบกับคันถะทั้งหลาย เป็นผู้ไม่มีอาสวะด้วยอาสวะทั้งหลาย เป็นผู้ข้ามพ้นโอฆะทั้งหลาย และ เป็นผู้ที่ปราศจากลูกศรด้วยลูกศรทั้งหลาย มีตัณหาเป็นต้น. แม้วิญญาณฐิติทั้งหลาย ก็ย่อมถึงการกำหนดรู้แก่บุคคลนั้น ย่อมไม่ถึงซึ่งอคติ ด้วยการถึงสิ่งที่ไม่ควรถึง. แม้อกุศลธรรมทั้งหลายก็ย่อมถึงซึ่งการหายไป การตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะมีลักษณะเหมือนกันอย่างนี้.
       ท่านแสดงรูปอินทรีย์ในเทศนาใด ก็เป็นอันแสดง รูปธาตุ รูปขันธ์ และ รูปายตนะ ในเทศนานั้นเอง.
       อีกอย่างหนึ่ง รูปอินทรีย์ (มีความแปรผันเป็นลักษณะ) พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ในเทศนาใดรูปธาตุ รูปขันธ์ รูปายตนะ ก็เป็นอันว่าแสดงไว้ในเทศนานั้น เพราะมีลักษณะอย่างเดียวกัน ฯ
       ก็หรือว่า สุขเวทนาที่ทรงแสดงไว้ในเทศนาใด สุขินทรีย์ โสมนัสสินทรีย์และทุกขสมุทยสัจจะ ก็ทรงแสดงไว้ในเทศนานั้น ฯ หรือว่า ทุกขเวทนาที่่ทรงแสดงไว้ในเทศนาใด ทุกขินทรีย์ โทมนัสสินทรีย์ และทุกขอริยสัจจะ ก็ทรงแสดงไว้ในเทศนานั้นฯ หรือว่า อทุกขมสุขเวทนาที่ทรงแสดงไว้ในเทศนาใดอุเบกขินทรีย์ และปฏิจจสมุปบาททั้งปวง ก็เป็นอันว่าทรงแสดงไว้ในเทศนานั้น ฯ
       ก็อทุกขมสุขเวทนากับอุเบกขินทรีย์ มีลักษณะเสมอกันก็ควร แต่ปฏิจจสมุปบาทนั้นทรงแสดงไว้ เพราะเหตุไร เพราะอวิชชานอนเนื่องอยู่ในอทุกขมสุขเวทนา ฯ
       ปฏิจจสมุปบาททั้งปวง ซึ่งมีอวิชชาเป็นมูล คือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขารทั้งหลาย เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส การเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนั้น ย่อมมีด้วยประการฉะนี้ ฯ การเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนั้นอันบุคคลพึงละ เพราะเป็นฝ่ายสังกิเลส คือ เป็นไปกับราคะ เป็นไปกับโทสะเป็นไปกับโมหะ (ฝ่ายอนุโลม) และการเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนั้น อันอริยธรรม คือ ผู้มีราคะไปปราศแล้ว ผู้มีโทสะไปปราศแล้ว ผู้มีโมหะไปปราศแล้วพึงละ (ฝ่ายปฏิโลม) ฯ
       บัดนี้ เพื่อแสดงนัยแห่งการประกอบลักขณหาระ ด้วยการชี้แจงความที่ธรรมมีลักษณะอย่างเดียวกัน จึงกล่าวว่า ธรรมเหล่าใดมีลักษณะอย่างเดียวกันโดยกิจ มีกิจแห่งปฐวีธาตุเป็นต้น และแห่งนามมีผัสสะเป็นต้น โดยลักษณะมีความกระทบกับความแข็งเป็นต้น เป็นลักษณะ โดยสามัญญะ มีการน้อมไปในรุปปนะเป็นต้น และโดยอนิจจตาเป็นต้น และโดยจุตูปปาตะ คือ โดยภังคะและอุปบัติ ได้แก่ ดับพร้อมกัน เกิดพร้อมกัน เมื่อธรรมเหล่านั้นธรรมอย่างหนึ่ง ท่านแสดงไว้แล้ว ธรรมที่เหลือ ก็ชื่อว่าท่านแสดงแล้ว ด้วยเหตุนั้น ท่านพระมหากัจจายนะ จึงกล่าวว่า "เมื่อธรรมอย่างหนึ่ง ท่านกล่าวไว้แล้ว" ดังนี้ ฯ
       จบ ลักขณหารวิภังค์
       6. จตุพยูหหารวิภังค์
[ค้นหา] [สารบัญ] <ก่อนนี้] [ถัดไป>
(ไม่สงวนลิขสิทธิ์)