นโม ตัสสะ ภควโต อรหโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
สารบัญ: ห้วเรื่อง, เลขข้อ | ไฟล์เดียว: html, text | [ค้นหา] [สารบัญ] <ก่อนนี้] [ถัดไป>

เนตติปกรณ์แปล : 2. วิจยหารวิภังค์

       [12] ในบรรดาโอรัมภาคิยสังโยชน์ 5 และ อุทธัมภาคิยสังโยชน์เหล่านั้น สังโยชน์ 3 คือ สักกายทิฏฐิ, วิจิกิจฉา, สีลัพพตปรามาส ถึงอนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์แล้วย่อมดับ. สังโยชน์ 7 คือ กามฉันท์, พยาบาท, รูปราคะ, อรูปราคะ, มานะ, อุทธัจจะ และอวิชชา ถึงอัญญินทรีย์แล้วย่อมไม่มีเหลือ. อนึ่ง อรหัตตผลญาณ อันเป็นเหตุ (ของปัจจเวกขณญาณ) ให้รู้อย่างนี้ว่า “เราสิ้นการเกิดแล้ว” ชื่อว่า ขยญาณ. อรหัตตผลญาณ อันเป็นเหตุให้รู้โดยประกาศอย่างนี้ว่า “กิจคือการเจริญมรรคอย่างอื่นเพื่อประโยชน์แก่มรรคกิจ 16 ประการอย่างนี้ ย่อมไม่มีเหลือแก่เรา” ชื่อว่า อนุปปาทญาณ. ญาณทั้ง 2 เหล่านี้ ชื่อว่า อัญญาตาวินทรีย์ ในบรรดาอินทรีย์เหล่านั้น อินทรีย์เหล่านี้ คือ อนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์ และ อัญญินทรีย์ ย่อมดับแก่บุคคลผู้บรรลุอรหัตตผลซึ่งเป็นผลอันเลิศ ในบรรดาญาณเหล่านั้น ญาณทั้ง 2 เหล่านี้ คือ ขยญาณ และปนุปปาทญาณ เป็นอรหัตตผลปัญญาอันเดียวกัน
       ถึงแม้จะเป็นอรหัตตผลปัญญาอันเดียวกันก็ได้ชื่อ 2 อย่าง โดยชื่ออารมณ์ คือ ขยะ และ อนุปปาทะ. อรหัตตผลปัญญาของบุคคลผู้รู้ว่า “เราสิ้นการเกิดแล้ว” ได้ชื่อว่า ขยญาณ. ส่วนอรหัตตผลปัญญาของบุคคลผู้รู้ว่า “กิจคือการเจริญมรรคอื่นเพื่อประโยชน์แก่มรรคกิจ 16 ประการอย่างนี้ ย่อมไม่มีแก่เรา” ได้ชื่อว่า อนุปปาทญาณ. ปัญญาที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ด้วยกิจคือการปิดกั้นกระแสทั้งหลายนั้น ชื่อว่า ปัญญา ด้วยสภาพที่รู้โดยประการต่าง ๆ. สติที่พระองค์ตรัสไว้ด้วยกิจ คือการป้องกันกระแสทั้งหลายนั้น ชื่อว่า สติ ด้วยสภาพที่ไม่เลื่อนลอยหลงลืมอารมณ์ที่รับแล้วนั้น ๆ
[ค้นหา] [สารบัญ] <ก่อนนี้] [ถัดไป>