นโม ตัสสะ ภควโต อรหโต สัมมาสัมพุทธัสสะสารบัญ: ห้วเรื่อง, เลขข้อ | ไฟล์เดียว: html, text | [ค้นหา] [สารบัญ] <ก่อนนี้] [ถัดไป> เนตติปกรณ์แปล : 3. ยุตติหารวิภังค์ [ 20 ] ในคาถาวิสัชนานั้น 2 อย่างเหล่านี้คือ ชราและมรณะ มีลักษณะเป็นสังขตะแห่งปัญจขันธ์ที่ถูกปรุงแต่ง. ชรานี้ได้แก่ความเป็นอย่างอื่น (ความเปลี่ยนแปลง) แห่งการตั้งอยู่. มรณะ ได้แก่ความเสื่อมสิ้น. ในคำข้างต้นนั้น ชรากับมรณะมีความแตกต่างกันโดยอรรถ. เพราะเหตุไร ? เพราะแม้สัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในครรภ์ก็ย่อมตายได้ ซึ่งสัตว์เหล่านั้นยังไม่ทันแก่. เทวดาทั้งหลายก็ยังมีความตาย ซึ่งสรีระของเทวดาเหล่านั้นย่อมไม่แก่. บุคคลอาจจะป้องกันความแก่ได้แต่ไม่สามารถป้องกันความตาย ยกเว้นผู้มีฤทธิ์ทั้งหลาย สามารถป้องกันความตายด้วยฤทธิ์ได้. ส่วนตัณหาที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในคำว่า “ตณฺหาสลฺเลน โอติณฺโณ (ถูกลูกศร คือตัณหาเสียบแทง)” นั้น พระอรหันต์ทั้งหลายผู้ปราศจากตัณหาแม้จะแก่แม้จะตายก็ย่อมปรากฏ. ถ้าว่าตัณหาเหมือนกับชราและมรณะไซร้ เมื่อเป็นเช่นนี้สัตว์ทั้งปวงที่ตั้งอยู่ในความเป็นหนุ่มก็พึงปราศจากตัณหา. ตัณหาเป็นเหตุแห่งทุกข์ ฉันใด แม้ชราและมรณะก็เป็นเหตุแห่งทุกข์ ฉันนั้น. ตัณหาไม่เป็นเหตุแห่งทุกข์ ชราและมรณะก็ไม่เป็นเหตุแห่งทุกข์เหมือนกัน. (ความจริง) ตัณหาเป็นเหตุแห่งทุกข์เท่านั้น. ตัณหาพึงทำลายด้วยมรรค ฉันใด แม้ชราและมรณะก็พึงทำลายด้วยมรรค ฉันนั้น. ควรหาความเป็นอย่างอื่นด้วยเหตุอันสมควรอื่น ๆ โดยยุตติความสมควร (ดังที่กล่าวแล้ว) นี้. ถ้าว่าเมื่อยกขึ้นสู่ยุตติ ย่อมแสดงความเป็นอย่างอื่นโดยอรรถ. ควรหาความเป็นอย่างอื่นโดยศัพท์. ธรรมเหล่านี้ที่กล่าวไว้ว่า “สลฺโล” ก็ดี “ธูปายนํ” ก็ดี มีความเป็นอันเดียวกันโดยอรรถ. แท้จริงไม่สมควรที่อิจฉากับตัณหาจะต่างกันโดยอรรถ. เมื่อความประสงค์ด้วยตัณหาไม่เต็มอยู่ ความโกรธและความผูกโกรธย่อมเกิดขึ้นในอาฆาตวัตถุ 9 อย่าง. ความต่างกันโดยอรรถแห่ง ชรา มรณะ และ ตัณหา ย่อมควรด้วยยุตติความสมควรเช่นนี้. พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกคำนี้ด้วยชื่อ 2 อย่าง ว่า “อิจฉา” บ้าง “ตัณหา” บ้าง ด้วยอำนาจแห่งอารมณ์ของวัตถุ มี รูปารมณ์เป็นต้นภายนอก. แท้จริงตัณหาทั้งปวงมีลักษณะเหมือนกันด้วยลักษณะการเหนี่ยวอารมณ์มายึดไว้ เปรียบเหมือนไฟทั้งปวงมีลักษณะเหมือนกันด้วยลักษณะคือความร้อน แม้จะเหมือนกันเช่นนั้นก็ยังได้ชื่ออื่น ๆ ว่า ไฟไหม้ บ้าง ไฟหญ้า บ้าง ไฟสะเก็ดไม้ บ้าง ไฟโคมัย บ้าง ไฟแกลบ บ้าง ไฟขยะ บ้าง ด้วยอำนาจแห่งเชื้อ. แท้จริงไฟทั้งปวงมีลักษณะเป็นความร้อนเท่านั้น ตัณหาทั้งปวงก็เช่นเดียวกัน มีลักษณะเหมือนกันด้วยลักษณะคือการเหนี่ยวอารมณ์มายึดไว้ แต่ท่านเรียกด้วยชื่ออื่น ๆ ว่า อิจฉา (ธรรมชาติที่ต้องการอารมณ์) บ้าง ตัณหา (ธรรมชาติที่ติดอยู่ในอารมณ์) บ้าง สัลละ (สิ่งที่เสียบแทง) บ้าง ธูปยาน (สิ่งที่ทำให้เร่าร้อน) บ้าง สริตา (สิ่งที่ทำให้แล่นไป) บ้าง วิสัตติกา (สิ่งที่ซ่านไป) บ้าง สิเนหะ (ความรัก) บ้าง กิลมถะ (สิ่งที่ทำให้ลำบาก) บ้าง ลตา (สิ่งที่รัดรึงเหมือนเถาวัลย์) บ้าง มัญญนา (ธรรมชาติที่นึกว่าสมบัติของเรา) บ้าง พันธะ (สิ่งที่ผูกไว้) บ้าง อาสา (ธรรมชาติที่ปรารถนา) บ้าง ปิปาสา (ธรรมชาติที่ต้องการดื่มรสในอารมณ์) บ้าง. ตัณหาทั้งปวงมีลักษณะเหมือนกันด้วยลักษณะเหนี่ยวอารมณ์มายึดไว้อย่างนี้ สมดังคำที่ท่านกล่าวไว้ในเววจนหารวิภังค์ว่า ความหวัง ความปรารถนา ความยินดียิ่งย่อมมี ธรรมชาติที่ไหลไปดุจแม่น้ำ ธรรมชาติที่เป็นที่ตั้งแห่งธาตุเป็นอันมากก็ดี สิ่งที่เป็นที่เกิดคือโมหมูลก็ดี สิ่งที่กระซิบก็ดี ย่อมมี เราทำตัณหาทั้งปวงพร้อมทั้งรากเหง้าให้สิ้นสุดแล้ว 1 คำว่า “อาสา ปิหา (ความหวัง ความปรารถนา)” เป็นต้นนี้ เป็นคำไวพจน์ของตัณหา สมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า 2 ดูก่อนติสสะ สำหรับผู้ที่ยังไม่ปราศจากราคะ ยังไม่ปราศจากฉันทะ ยังไม่ปราศจากความรัก ยังไม่ปราศจากความกระหาย ยังไม่ปราศจากความเร่าร้อน ในรูปขันธ์ (ใช้ชื่อเหล่านี้) เหมือนเช่นนั้น สำหรับผู้ที่ยังไม่ปราศจากราคะ ยังไม่ปราศจากฉันทะ ยังไม่ปราศจากความรัก ยังไม่ปราศจากความกระหาย ยังไม่ปราศจากความเร่าร้อน ในเวทนาขันธ์ ในสัญญาขันธ์ ในสังขารขันธ์ ในวิญญาณขันธ์ (ใช้ชื่อเหล่านี้). สูตรทั้งปวงควรขยายความ คำทั้งปวงที่กล่าวไว้ในสูตรนี้เป็นคำไวพจน์ของตัณหา. คำอันเรากล่าวไว้เช่นนี้ ย่อมสมควร |