นโม ตัสสะ ภควโต อรหโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
สารบัญ: ห้วเรื่อง, เลขข้อ | ไฟล์เดียว: html, text | [ค้นหา] [สารบัญ] <ก่อนนี้] [ถัดไป>

เนตติปกรณ์แปล : 5. ลักขณหารวิภังค์

       [ 23 ] ในบรรดาหาระเหล่านั้น ลักขณหาระเป็นไฉน ? คาถาว่า “วุตฺตมฺหิ เอกธมฺเม (เมื่อท่านกล่าวธรรมอย่างหนึ่ง)” เป็นต้นนั้น ชื่อว่า ลักขณหาระ. ลักขณหาระกำหนดอะไร ? กำหนดดังนี้ คือ ธรรมเหล่าใดมีลักษณะเหมือนกัน เมื่อท่านกล่าวธรรมอย่างหนึ่งแห่งธรรมเหล่านั้น ธรรมที่เหลือก็เป็นอันท่านกล่าวแล้ว. สมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า
       ภิกษุทั้งหลาย จักษุเป็นสิ่งที่ไม่ตั้งมั่น มีขณะสั้น มีขณะน้อย มักเสื่อมเสีย เป็นศัตรู เป็นทุกข์ มีการเสียไป หวั่นไหว เหมือนผู้แสดง มีการปรุงแต่ง เป็นผู้ฆ่า อยู่ท่ามกลางศัตรู. เมื่อท่านกล่าวจักษุในสูตรนี้แล้ว ก็เป็นอันกล่าวอายตนะภายในที่เหลือด้วย. เพราะเหตุไร ? เพราะว่า อายตนะภายใน 6 ทั้งปวงมีลักษณะเหมือนกันโดยสภาพเป็นผู้ฆ่า. และสมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า
       ดูก่อนราธะ เธอจงเป็นผู้เพ่งเล็งในรูปขันธ์ที่เป็นอดีต. อย่ายินดีรูปขันธ์ที่เป็นอนาคต. จงปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อการสละ เพื่อการพ้นรูปขันธ์ที่เป็นปัจจุบัน.1 เมื่อท่านกล่าวรูปขันธ์ในสูตรนี้แล้ว ก็เป็นอันกล่าวขันธ์ที่เหลือด้วย. เพราะเหตุไร ? เพราะว่าปัญจขันธ์ทั้งปวงท่านกล่าวว่า มีลักษณะเหมือนกันโดยสภาพความเป็นผู้ฆ่า ในยมโกวาทสูตร.2 และสมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า
        กายคตาสติ (สติที่ประกอบด้วยวิปัสสนาญาณ อันมีรูปกายเป็นอารมณ์) อันชนเหล่าใดเพียรพยายามดีแล้วเป็นนิจ ชนเหล่านั้นย่อมไม่เสพกิจที่ไม่ควรทำ เป็นผู้มีปกติกระทำอย่างต่อเนื่องในกิจที่ควรทำ (คือ การเจริญกรรมฐาน)3
       1. สํ. ข. 17/9,79/16,71, สํ. สฬา. 18/10–12/5 2. สํ. ข. 17/85/87,92
       3. ขุ. ธ. 25/293/67
       เมื่อท่านกล่าว กายคตาสติ (สติที่ประกอบด้วยวิปัสสนาญาณ อันมีรูปกายเป็นอารมณ์) ในคาถานี้แล้ว เวทนาคตาสติ (สติที่ประกอบด้วยวิปัสสนาญาณ อันมีเวทนาเป็นอารมณ์) จิตตคตาสติ (สติที่ประกอบด้วยวิปัสสนาญาณ อันมีจิตเป็นอารมณ์) และ ธัมมคตาสติ (สติที่ประกอบด้วยวิปัสสนาญาณ อันมีธรรมเป็นอารมณ์) ก็เป็นอันท่านกล่าวแล้ว. เหมือนเช่นนั้น เมื่อท่านกล่าว “เห็นรูปายตนะอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี” ดังนี้แล้วรูปที่เหลือซึ่งจัดอยู่ในธัมมารมณ์ที่รู้ได้ด้วย มโนวิญญาณ ก็เป็นอันท่านกล่าวแล้ว. และสมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า 4 ดูก่อนภิกษุ เพราะเหตุนั้นเธอจงเป็นผู้พิจารณาดูกายในรูปกาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก อยู่ในศาสดานี้. ท่านกล่าววิริยินทรีย์ด้วยคำว่า “อาตาปี” กล่าวปัญญินทรีย์ด้วยคำว่า “สมฺปชาโน” กล่าวสตินทรีย์ด้วยคำว่า “สติมา” กล่าวสมาธินทรีย์ด้วยคำว่า “วิเนยฺยโลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ”. สติปัฏฐาน 4 ย่อมถึงความบริบูรณ์แห่งภาวนา แก่บุคคลผู้พิจารณาดูกายในรูปกายอย่างนี้อยู่. เพราะเหตุไร ? เพราะอินทรีย์ทั้ง 4 มีลักษณะเหมือนกัน
       4 สํ. มหา. 19/369,413/125,164
[ค้นหา] [สารบัญ] <ก่อนนี้] [ถัดไป>