นโม ตัสสะ ภควโต อรหโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
สารบัญ: ห้วเรื่อง, เลขข้อ | ไฟล์เดียว: html, text | [ค้นหา] [สารบัญ] <ก่อนนี้] [ถัดไป>

เนตติปกรณ์แปล : 5. ลักขณหารวิภังค์

       [ 24 ] เมื่อเจริญสติปัฏฐาน 4 แล้ว สัมมัปปธาน 4 ย่อมถึงความบริบูรณ์แห่งภาวนา. เมื่อเจริญสัมมัปปธาน 4 แล้ว อิทธิบาท 4 ย่อมถึงความบริบูรณ์แห่งภาวนา. เมื่อเจริญอิทธิบาท 4 แล้ว อินทรีย์ 5 ย่อมถึงความบริบูรณ์แห่งภาวนา. เมื่อเจริญอินทรีย์ 5 แล้ว พละ 5 ย่อมถึงความบริบูรณ์แห่งภาวนา. เมื่อเจริญ พละ 5 แล้ว โพชฌงค์ 7 ย่อมถึงความบริบูรณ์แห่งภาวนา. เมื่อเจริญโพชฌงค์ 7 แล้ว อริยมรรคอันมีองค์ 8 ย่อมถึงความบริบูรณ์แห่งภาวนา. โพธิปักขิยธรรมทั้งปวง อันเป็นธรรมที่ตรัสรู้ (อริยสัจ 4) มีลักษณะเหมือนกัน โดยลัฏษณะที่ออกจากวัฏฏะ. โพธิปักขิยธรรม 37 ประการเหล่านั้น ย่อมถึงความบริบูรณ์แห่งภาวนา ฉันใด).
       แม้อกุศลธรรมทั้งหลาย ก็ถึงซึ่งการหายไป การตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะมีลักษณะเหมือนกัน ฉันนั้น. เมื่อเจริญสติปัฏฐาน 4 แล้ว วิปัลลาส 4 ย่อมหายไป. แม้อาการ 4 ของวิปัลลาสนั้น ย่อมถึงการกำหนดรู้ เป็นผู้ไม่มีความยึดมั่นด้วยอุปาทาน 4 เป็นผู้ปราศจากการประกอบด้วยโยคะทั้งหลาย เป็นผู้ไม่ประกอบกับคันถะทั้งหลาย เป็นผู้ไม่มีอาสวะด้วยอาสวะทั้งหลาย เป็นผู้ข้ามพ้นโอฆะทั้งหลาย และ เป็นผู้ที่ปราศจากลูกศรด้วยลูกศรทั้งหลาย มีตัณหาเป็นต้น. แม้วิญญาณฐิติทั้งหลาย ก็ย่อมถึงการกำหนดรู้แก่บุคคลนั้น ย่อมไม่ถึงซึ่งอคติ ด้วยการถึงสิ่งที่ไม่ควรถึง. แม้อกุศลธรรมทั้งหลายก็ย่อมถึงซึ่งการหายไป การตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะมีลักษณะเหมือนกันอย่างนี้.
       ท่านแสดงรูปอินทรีย์ในเทศนาใด ก็เป็นอันแสดง รูปธาตุ รูปขันธ์ และ รูปายตนะ ในเทศนานั้นเอง.
       อีกอย่างหนึ่ง รูปอินทรีย์ (มีความแปรผันเป็นลักษณะ) พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ในเทศนาใดรูปธาตุ รูปขันธ์ รูปายตนะ ก็เป็นอันว่าแสดงไว้ในเทศนานั้น เพราะมีลักษณะอย่างเดียวกัน ฯ
       ก็หรือว่า สุขเวทนาที่ทรงแสดงไว้ในเทศนาใด สุขินทรีย์ โสมนัสสินทรีย์และทุกขสมุทยสัจจะ ก็ทรงแสดงไว้ในเทศนานั้น ฯ หรือว่า ทุกขเวทนาที่่ทรงแสดงไว้ในเทศนาใด ทุกขินทรีย์ โทมนัสสินทรีย์ และทุกขอริยสัจจะ ก็ทรงแสดงไว้ในเทศนานั้นฯ หรือว่า อทุกขมสุขเวทนาที่ทรงแสดงไว้ในเทศนาใดอุเบกขินทรีย์ และปฏิจจสมุปบาททั้งปวง ก็เป็นอันว่าทรงแสดงไว้ในเทศนานั้น ฯ
       ก็อทุกขมสุขเวทนากับอุเบกขินทรีย์ มีลักษณะเสมอกันก็ควร แต่ปฏิจจสมุปบาทนั้นทรงแสดงไว้ เพราะเหตุไร เพราะอวิชชานอนเนื่องอยู่ในอทุกขมสุขเวทนา ฯ
       ปฏิจจสมุปบาททั้งปวง ซึ่งมีอวิชชาเป็นมูล คือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขารทั้งหลาย เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส การเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนั้น ย่อมมีด้วยประการฉะนี้ ฯ การเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนั้นอันบุคคลพึงละ เพราะเป็นฝ่ายสังกิเลส คือ เป็นไปกับราคะ เป็นไปกับโทสะเป็นไปกับโมหะ (ฝ่ายอนุโลม) และการเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนั้น อันอริยธรรม คือ ผู้มีราคะไปปราศแล้ว ผู้มีโทสะไปปราศแล้ว ผู้มีโมหะไปปราศแล้วพึงละ (ฝ่ายปฏิโลม) ฯ
       บัดนี้ เพื่อแสดงนัยแห่งการประกอบลักขณหาระ ด้วยการชี้แจงความที่ธรรมมีลักษณะอย่างเดียวกัน จึงกล่าวว่า ธรรมเหล่าใดมีลักษณะอย่างเดียวกันโดยกิจ มีกิจแห่งปฐวีธาตุเป็นต้น และแห่งนามมีผัสสะเป็นต้น โดยลักษณะมีความกระทบกับความแข็งเป็นต้น เป็นลักษณะ โดยสามัญญะ มีการน้อมไปในรุปปนะเป็นต้น และโดยอนิจจตาเป็นต้น และโดยจุตูปปาตะ คือ โดยภังคะและอุปบัติ ได้แก่ ดับพร้อมกัน เกิดพร้อมกัน เมื่อธรรมเหล่านั้นธรรมอย่างหนึ่ง ท่านแสดงไว้แล้ว ธรรมที่เหลือ ก็ชื่อว่าท่านแสดงแล้ว ด้วยเหตุนั้น ท่านพระมหากัจจายนะ จึงกล่าวว่า "เมื่อธรรมอย่างหนึ่ง ท่านกล่าวไว้แล้ว" ดังนี้ ฯ
       จบ ลักขณหารวิภังค์
       6. จตุพยูหหารวิภังค์
[ค้นหา] [สารบัญ] <ก่อนนี้] [ถัดไป>