นโม ตัสสะ ภควโต อรหโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
สารบัญ: ห้วเรื่อง, เลขข้อ | ไฟล์เดียว: html, text | [ค้นหา] [สารบัญ] <ก่อนนี้] [ถัดไป>

เนตติปกรณ์แปล : +สีหวิกีฬิตนัย

       [84] บรรดาธรรมเหล่านั้น วิปลาส "ในสิ่งที่ไม่งามว่างาม" ในกวฬิงการาหารวิปลาส "ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข" ในผัสสาหาร วิปลาส "ในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง" ในวิญญาณาหาร วิปลาส "ในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนว่าตน" ในมโนสัญเจตนาหาร บุคคลผู้ตั้งอยู่ในวิปลาสที่ 1 ย่อมยึดมั่นกามทั้งหลาย การยึดมั่นนี้ เรียกว่ากามุปาทาน ฯ บุคคลผู้ตั้งอยู่ในวิปลาสที่ 2 ย่อมยึดมั่นภพอันเป็นอนาคต นี้เรียกว่า ภวุปาทาน บุคคลผู้ตั้งอยู่ในวิปลาสที่ 3 ย่อมยึดมั่นซึ่งทิฏฐิอันเพลิดเพลินในสังสาร นี้เรียกว่า ทิฏฐุปาทาน ฯ บุคคลผู้ตั้งอยู่ในวิปลาสที่ 4 ย่อมยึดมั่นซึ่งตนว่าสมควร นี้เรียกว่า อัตตวาทุปาทาน ฯ
       บุคคลอันกามุปาทานใด ผูกไว้กับกามทั้งหลาย ธรรมคือ กามุปาทานนี้เรียกว่า กามโยคะ ฯ บุคคลอันภวุปาทานใด ผูกไว้กับภพทั้งหลาย ธรรมคือภวุปาทาน นี้เรียกว่า ภวโยคะ ฯ บุคคลอันทิฏฐุปาทานใด ผูกไว้กับทิฏฐิธรรมคือทิฏฐุปาทานนี้ เรียกว่า ทิฏฐิโยคะ ฯ บุคคลอันอัตตวาทุปาทานใดผูกไว้กับอวิชชา ธรรมคือ อัตตวาทุปาทานนี้ เรียกว่า อวิชชาโยคะ ฯ
       บุคคลผู้ตั้งอยู่ในโยคะที่ 1 นามกายย่อมผูก คือย่อมสืบต่อด้วยอภิชฌาอันมีลักษณะเพ่งเล็ง (โลภ) ในวัตถุของคนอื่นนี้ ท่านเรียกว่า อภิชฌากายคันถะ ฯ บุคคลผู้ตั้งอยู่ในโยคะที่ 2 นามกายย่อมผูก คือย่อมสืบต่อด้วยพยาบาทอันมีลักษณะยังจิตให้ประทุษร้าย ในอาฆาตวัตถุทั้งหลายนี้ ท่านเรียกว่าพยาปาทกายคันถะ ฯ บุคคผู้ตั้งอยู่ ในโยคะที่ 3 นามกายย่อมผูก คือ ย่อมสืบต่อด้วยการยึดมั่นนี้ ท่านเรียกว่า ปรามาสกายคันถะ ฯ บุคคลผู้ตั้งอยู่ในโยคะที่ 4 นามกายย่อมผูก คือย่อมสืบต่อด้วยการยึดมั่นว่า สิ่งนี้เท่านั้นจริง นี้ท่านเรียกว่า อิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ ฯ
       กิเลสทั้งหลายของบุคคลนั้นผูกไว้แล้วอย่างนี้ ย่อมไหลไปฯ กิเลสทั้งหลายเหล่านี้ ย่อมไหลไปแต่ที่ไหน ย่อมไหลไปแต่อนุสัย หรือแต่ปริยุฏฐาน ฯ ในกิเลสเหล่านั้น ชื่อว่า กามาสวะเป็นธรรมสำเร็จแล้ว เพราะเป็นสภาพแห่งกามราคะอันสำเร็จแล้วโดยอภิชฌากายคันถะ ชื่อว่า ภวาสวะเป็นธรรมสำเร็จแล้วด้วยความสำเร็จโดยพยาปาทกายคันถะ ชื่อว่า ทิฏฐาสวะเป็นธรรมสำเร็จแล้วด้วยความสำเร็จโดยปรามาสกายคันถะ ชื่อว่า อวิชชาสวะเป็นธรรมสำเร็จแล้วด้วยความสำเร็จโดยอิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ ฯ
       อาสวะ 4 เหล่านี้ของบุคคลนั้นถึงความมั่งคั่งแล้ว ท่านเรียกว่า โอฆะเพราะอรรถะว่าถ่วงลง คือให้จมลงในวัฏฏะ เพราะฉะนั้น ชื่่อว่า ความมั่งคั่งแห่งโอฆะ เพราะความมั่งคั่งแห่งอาสวะ ฯ ในโอฆะเหล่านั้น ชื่อว่า กาโมฆะ สำเร็จแล้วด้วยกามาสวะ ชื่อว่า ภโวฆะสำเร็จแล้วด้วยภวาสวะ ชื่อว่า ทิฏโฐฆะ สำเร็จแล้วด้วยทิฏฐาสวะ ชื่อว่า อวิชโชฆะสำเร็จแล้วด้วยอวิชชาสวะ ฯ
       โอฆะ 4 เหล่านี้ ของบุคคลผู้พรั่งพร้อมแล้วนั้น ถึงความเป็นไปร่วมกับอนุสัย เข้าไปสู่อัธยาสัย กระทบแล้วซึ่งหทัยตั้งอยู่ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงเรียกว่า สัลละ (ลูกศร) เพราะถอนได้โดยยาก ฯ ในลูกศรเหล่านั้น ชื่อว่า ลูกศร คือราคะ เป็นธรรมสำเร็จแล้วด้วยกาโมฆะ ชื่อว่า ลูกศร คือโทสะ เป็นธรรมสำเร็จแล้วด้วยภโวฆะ ชื่อว่า ลูกศร คือมานะ เป็นธรรมสำเร็จแล้วด้วยทิฏโฐฆะ ชื่อว่าลูกศร คือโมหะ เป็นธรรมสำเร็จแล้วด้วยอวิชโชฆะ ฯ
       วิญญาณของบุคคลนั้น อันลูกศร 4 เหล่านี้ ไม่ให้โอกาสแล้ว ถือเอาโดยรอบ ย่อมตั้งอยู่ในธรรม 4 คือ ในรูป เวทนา สัญญา และสังขาร อันเป็นอารมณ์ ฯ ในลูกศรเหล่านั้น ชื่อว่า วิญญาณฐิติ (การตั้งอยู่ของวิญญาณ) ที่เข้าถึงรูป เพราะวิญญาณสัมปยุตด้วยความยินดีอันมีลูกศรคือราคะเป็นเหตุ ชื่อว่าวิญญาณฐิติที่เข้าถึงเวทนา เพราะวิญญาณสัมปยุตด้วยความพอใจมีลูกศร คือโทสะเป็นเหตุ ชื่อว่า วิญญาณฐิติที่เข้าถึงสัญญา เพราะวิญญาณสัมปยุตด้วยความพอใจมีลูกศร คือ มานะเป็นเหตุ ชื่อว่า วิญญาณฐิติที่เข้าถึงสังขาร เพราะวิญญาณสัมปยุตด้วยความพอใจมีลูกศร คือโมหะเป็นเหตุ ฯ
       วิญญาณของบุคคลนั้น อันวิญญาณฐิติ 4 เหล่านี้อุปถัมภ์แล้ว ย่อมถึงความลำเอียง 4 อย่าง คือ ลำเอียงเพราะฉันทะ เพราะโทสะ เพราะความกลัวเพราะโมหะ ในอคติ 4 เหล่านั้น บุคคลย่อมถึงฉันทาคติเพราะราคะ ย่อมถึงโทสาคติเพราะโทสะ ย่อมถึงภยาคติเพราะความกลัว ย่อมถึงโมหาคติเพราะโมหะ ฯ ก็กรรมใดที่กล่าวไว้ก่อนว่า เจตนาเจตสิก กรรมนั้นด้วย กิเลสทั้งหลายเหล่านี้ด้วย นี้เป็นเหตุแห่งสังสาร กิเลสทั้งปวง บัณฑิตพึงแสดงด้วยวิปลาส 4อย่างนี้ ฉะนี้แล ฯ
[ค้นหา] [สารบัญ] <ก่อนนี้] [ถัดไป>