นโม ตัสสะ ภควโต อรหโต สัมมาสัมพุทธัสสะสารบัญ: ห้วเรื่อง, เลขข้อ | ไฟล์เดียว: html, text | [ค้นหา] [สารบัญ] <ก่อนนี้] [ถัดไป> เนตติปกรณ์แปล : 7. อาวัฏฏหารวิภังค์ [29] บรรดาหาระ 16 นั้น หาระคือ อาวัฏฏะ เป็นไฉน เทศนาว่า "ท่านทั้งหลาย จงริเริ่ม จงก้าวหน้าจงประกอบความเพียรในพระพุทธศาสนาจงกำจัดเสนาแห่งมัจจุ เหมือนช้างพลายกำจัดเรือนไม้อ้อ ฉะนั้น" เป็นต้นในนิทเทสว่า "เอกมฺหิ ปทฏฺฐาเน" เป็นต้น นี้ชื่อว่า หาระ คือ อาวัฏฏะ ฯ คำว่า "ท่านทั้งหลาย จงริเริ่ม จงก้าวหน้า" นี้ เป็นปทัฏฐาน (เหตุให้เกิดขึ้น) แห่งวิริยะ ฯ คำว่า "จงประกอบความเพียรในพระพุทธศาสนา"นี้ เป็นปทัฏฐานแห่งความเพียร อันเป็นไปกับสมาธิ ฯ คำว่า "จงกำจัดเสนาแห่งมัจจุ เหมือนช้างพลายกำจัดเรือนไม้อ้อ ฉะนั้น" นี้ เป็นปทัฏฐานแห่งปัญญา ฯ คำว่า "ท่านทั้งหลาย จงริเริ่ม จงก้าวหน้า" ดังนี้ เป็นปทัฏฐานของวิริยินทรีย์ คำว่า "จงประกอบความเพียรในพระพุทธศาสนา" ดังนี้ เป็นปทัฏฐานของสมาธินทรีย์ คำว่า "จงกำจัดเสนาแห่งมัจจุ เหมือนช้างกำจัดเรือนไม้อ้อฉะนั้น" ดังนี้ เป็นปทัฏฐานของปัญญินทรีย์ ฯ ปทัฏฐานเหล่านี้ เป็นเทศนา ฯ เหตุในการประกอบ (ความเพียร) ของสัตว์ทั้งหลายผู้ไม่ประกอบ(คือผู้มีญาณไม่แก่กล้า) และความริเริ่มของสัตว์ทั้งหลายผู้ประกอบอยู่(ผู้มีญาณแก่กล้า) ฯ ในการไม่ประกอบและการประกอบทั้ง 2 นั้น สัตว์เหล่าใด มีญาณไม่แก่กล้า ย่อมไม่ประกอบ สัตว์ผู้ไม่ประกอบนั้น เป็นผู้มีความประมาทเป็นมูลย่อมไม่ประกอบเพราะความประมาทใด ความประมาทนั้น มี 2 อย่าง คือ มีตัณหาเป็นมูล และมีอวิชชาเป็นมูล ฯ ในความประมาททั้ง 2 นั้น สัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นมูล บุคคลผู้ประมาทใด อันความไม่รู้หุ้มห่อแล้ว ย่อมไม่รู้ฐานะที่ควรรู้ว่า "ขันธ์ 5 เหล่านี้ มีความเกิดขึ้นและมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา" ความประมาทอันมีความไม่รู้นี้ ชื่อว่า ความประมาทมีอวิชชาเป็นมูล ฯ ความประมาทใดมีตัณหาเป็นมูล ความประมาทนั้นมี 3 อย่าง คือ สัตว์ผู้มีความอยาก(ผู้ดิ้นรน) แสวงหาอยู่เพื่อโภคะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้นเพื่อให้เกิดขึ้น ย่อมถึงความประมาทใด ความประมาทนี้ 1 สัตว์ผู้มีความอยากรักษาอยู่ เพื่อให้โภคะทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้ว ตั้งอยู่ ย่อมถึงความประมาทใด อันมีการรักษาเป็นนิมิต ความประมาทนี้ 1 สัตว์ผู้มีความอยากบริโภคอยู่ซึ่งโภคะที่มีอยู่ย่อมถึงความประมาทใดอันมีการบริโภคเป็นนิมิต ความประมาทนี้ 1 เพราะฉะนั้นความประมาทที่มีตัณหาเป็นมูลจึงมี 3 อย่าง ความประมาท 4 อย่างนี้ คือ ความประมาทด้วยอวิชชาอย่าง 1 ด้วยตัณหา 3 อย่าง มีอยู่ในโลก ฯ ในอวิชชาและตัณหานั้น นามกาย (คือการประชุมแห่งนามมีผัสสะเป็นต้น)เป็นปทัฏฐานแห่งอวิชชา ฯ รูปกาย (คือ การประชุมแห่งรูปมีปฐวีเป็นต้น)เป็นปทัฏฐานแห่งตัณหา ฯ ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะความยึดมั่นของตัณหาตั้งอยู่แล้วในสัตว์ทั้งหลาย ด้วยสามารถแห่งการยึดถือว่า เป็นเรา เป็นของเราในรูปธรรมทั้งหลาย เพราะฉะนั้น รูปกายจึงเป็นปทัฏฐาน (เหตุให้เกิดขึ้น)แห่งตัณหา ความหลงใหลในอรูปธรรมทั้งหลาย ตั้งอยู่แล้วในหมู่สัตว์ เพราะความที่ธรรมทั้งหลายมีผัสสะเป็นต้น มีภาวะของตนละเอียดยิ่ง และเพราะการแยกฆนะแห่งอารมณ์ โดยกิจที่สืบต่อและการประชุมกันกระทำได้โดยยากเพราะฉะนั้น อรูปกายจึงเป็นปทัฏฐานแห่งอวิชชา ฯ ในรูปกายและนามกายเหล่านั้น รูปขันธ์ ชื่อว่า รูปกาย (การประชุมแห่งรูป) อรูปขันธ์ 4 ชื่อว่า นามกาย (การประชุมแห่งนาม) ฯ ขันธ์ 5 เหล่านี้ ชื่อว่า มีอุปาทาน ด้วยอุปาทาน เป็นไฉน ขันธ์ 5 นี้ ชื่อว่า มีอุปาทาน ด้วยตัณหาที่เป็นอุปาทาน และอวิชชาที่เป็นอุปาทาน ฯ ในตัณหาและอวิชชานั้น ตัณหาเป็นอุปาทาน 2 อย่าง คือ กามุปาทานและสีลัพพตุปาทาน ฯ อวิชชาเป็นอุปาทาน 2 อย่าง คือ ทิฏฐุปาทานและอัตตวาทุปาทาน ฯ โลกียขันธ์ เป็นขันธ์ที่มีอุปาทาน 4 เหล่านี้ ขันธปัญจกะที่มีอุปาทานนี้ ชื่อว่า ทุกขสัจจะ ฯ อุปาทาน 4 เหล่าใด เป็นเหตุแห่งทุกข์หมวด 4 แห่งอุปาทานนี้ ชื่อว่า สมุทัยสัจจะ ฯ ขันธ์ 5 ที่มีอุปาทานเป็นทุกข์เพราะเป็นวัตถุแห่งทุกข์ ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมทรงแสดงธรรมอันสมควรแก่เวไนยสัตว์ มีคำว่า "ท่านทั้งหลาย จงริเริ่ม" เป็นต้น เพื่อการกำหนดรู้และเพื่อการละขันธ์ 5 ที่มีอุปาทานเหล่านั้น คือ เพื่อการกำหนดรู้ทุกข์ เพื่อการละสมุทัย ฯ [30] ในความประมาท 4 ที่มีตัณหาเป็นมูล 3 และ ที่มีอวิชชาเป็นมูล 1 ที่กล่าวมานั้น, ความประมาทที่มีตัณหาเป็นมูล 3 คือ ยึดติดโภคะที่ยังไม่มี แล้วหาทางมีไว้ 1, ยึดติดโภคะที่มีอยู่ แล้วเก็บเอาไว้บ้าง 1, หรือ ยึดติดโภคะที่มีอยู่ แล้วใช้สอยไปบ้าง 1, การรักษาจิต ด้วยการเข้าใจแทงตลอดความประมาทที่มีตัณหาเป็นมูล 3 นั้น ซึ่งก็คือ การหลีกออกจากความประมาท, นี้คือ สมถะฯ สมถะที่ว่านี้ เกิดอย่างไร? สมถะเกิดในขณะที่บุคคลรู้อัสสาทะแห่งกามโดยความอัสสาทะ, รู้อาทีนวะแห่งกามโดยความอาทีนวะ, รู้นิสสรณะแห่งกามโดยความนิสสรณะ, รู้โอการะ, รู้สังกิเลส, รู้โวทาน, และรู้อานิสงส์ของเนกขัมมะ. การวีมังสา (ทุพพละ) และ การอุปปริกขา (พลวะ) ที่เกิดขึ้นเมื่อมีสมถะดังกล่าวเกิด (เป็นปาทกฌาน) นี้คือ วิปัสสนา. เพราะการเห็นโดยสภาวะอันวิเศษ ธรรมทั้ง 2 เหล่านี้ คือสมถะและวิปัสสนา ย่อมถึงการบริบูรณ์ด้วยภาวนา เมื่อสมถะและวิปัสสนาทั้ง 2 เจริญอยู่ ธรรมทั้ง 2 คือ ตัณหาและอวิชชา ย่อมถูกทำลาย เมื่อตัณหาและอวิชชาทั้ง 2 ถูกทำลายแล้ว อุปาทาน 4 ย่อมดับ ฯ เพราะความดับแห่งอุปาทาน ความดับแห่งภพย่อมมี เพราะความดับแห่งภพ ความดับแห่งชาติย่อมมี เพราะความดับแห่งชาติ ชรา มรณะ โสกะปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ย่อมดับ ฯ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งหมดนั้นย่อมมีอย่างนี้ ฯ เพราะฉะนั้น สัจจะ 2 นัยแรก เป็นทุกข์และเป็นสมุทัย สมถะและวิปัสสนาเป็นมรรค การดับภพเป็นพระนิพพาน ฯ สัจจะ 4 เหล่านี้ท่านยกขึ้นแสดงด้วยสามารถแห่งอาวัฏฏนะ (การหมุนไป) แห่งธรรมที่เป็นวิสภาคะและสภาคะ ด้วยประการฉะนี้ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ว่า "อารมฺภถ นิกฺกมถ" เป็นต้น ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ต้นไม้ เมื่อรากหาอันตรายมิได้ มั่นคงอยู่ แม้ถูกตัดแล้ว ก็กลับงอกขึ้นได้ ฉันใด ทุกข์นี้ เมื่อบุคคลยังถอนเชื้อ (อนุสัย) ตัณหาขึ้นไม่ได้แล้วย่อมเกิดขึ้นบ่อย ๆ แม้ฉันนั้น" ฯ ถามว่า ตัณหานี้ ตัณหา (ที่เป็นเชื้อ) นั้น เป็นไฉน ตอบว่า ภวตัณหา (เพราะยินดีในการเกิด) ฯ อนุสัยใด เป็นปัจจัยแก่ธรรม คือ ภวตัณหานั้น อนุสัยนี้ คือ อวิชชาเพราะภวตัณหา มีอวิชชาเป็นปัจจัย ฯ กิเลสทั้ง 2 คือ ตัณหาและอวิชชานี้เป็นอุปาทาน 4 ขันธ์เหล่าใด มีอุปาทานด้วยอุปาทาน 4 เหล่านั้น ขันธ์นี้เป็นทุกขสัจจะ อุปาทาน 4 เป็นสมุทยสัจจะ ปัญจขันธ์เป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงธรรม เพื่อการกำหนดรู้ทุกข์และเพื่อการละสมุทัยแห่งอุปาทานขันธ์ 5 นั้น ฯ บุคคลย่อมถอนขึ้นซึ่งตัณหานุสัยได้ด้วยธรรมใด ธรรมนั้น เป็นสมถะฯ บุคคลย่อมกั้นเสียซึ่งอวิชชาอันเป็นปัจจัยแก่ตัณหานุสัยได้ด้วยธรรมใด ธรรมนั้นเป็นวิปัสสนา ฯ ธรรมทั้ง 2 คือ สมถะและวิปัสสนาเหล่านี้ ย่อมถึงการบริบูรณ์ด้วยภาวนา ฯ ในธรรมทั้ง 2 นั้น ชื่อว่าเจโตวิมุตติ (การหลุดพ้นทางใจ) เพราะสำรอกราคะเป็นผลของสมถะ ชื่อว่าปัญญาวิมุตติ (การหลุดพ้นทางปัญญา)เพราะสำรอกอวิชชาเป็นผลของวิปัสสนา ฯ ด้วยประการฉะนี้ สัจจะ 2 เบื้องต้นเป็นทุกขสัจจะและสมุทยสัจจะ สมถะและวิปัสสนา เป็นมัคคสัจจะ การหลุดพ้นทั้ง 2 เป็นนิโรธสัจจะ ฯ พึงทราบสัจจะ 4 เหล่านี้ โดยทำนองที่กล่าวแล้ว ฯ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "ต้นไม้ เมื่อรากหาอันตรายมิได้"เป็นต้น ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "การไม่ทำบาปทั้งปวง การยังกุศลให้ถึงพร้อม การชำระจิตให้ผ่องแผ้ว นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย" ดังนี้ ฯ ทุจริต 3 คือ กายทุจริต 1 วจีทุจริต 1 และมโนทุจริต 1 ชื่อว่า บาปทั้งปวง อกุศลกรรมบถ 10 คือ ปาณาติบาต 1 อทินนาทาน 1 กาเมสุมิจฉาจาร 1 มุสาวาท 1 ปิสุณาวาจา 1 ผรุสวาจา 1 สัมผัปปลาปะ 1 อภิชฌา 1พยาบาท 1 และมิจฉาทิฏฐิ 1 ชื่อว่า บาปทั้งปวง ฯ กรรม คือการกระทำบาปทั้งปวงนั้น มี 2 อย่างคือ เจตนากรรมและเจตสิกกรรม ฯ บรรดากรรมทั้ง 2 นั้น ปาณาติบาต 1 ปิสุณาวาจา 1 ผรุสวาจา 1ทั้ง 3 นี้ มีโทสะเป็นสมุฏฐาน ฯ อทินนาทาน 1 กาเมสุมิจฉาจาร 1 มุสาวาท 1ทั้ง 3 นี้ มีโลภะเป็นสมุฏฐาน ฯ สัมผัปปลาปะนี้ มีโมหะเป็นสมุฏฐาน เหตุ 7ประการ เหล่านี้ เป็นเจตนากรรม ฯ อกุศลมูล คือ อภิชฌาและโลภะ อกุศลมูลคือ พยาบาทและโทสะ มิจฉามรรค คือ มิจฉาทิฏฐิ เหตุ 3 เหล่านี้ เป็นเจตสิกกรรม ฯ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "เจตนากมฺมํเจตสิกกมฺมํ" ดังนี้ ฯ อกุศลมูล (มีโลภะเป็นต้น) เมื่อถึงปโยคะ ย่อมถึงอคติ 4 อย่าง คือฉันทาคติ โทสาคติ ภยาคติ และโมหาคติ ฯ ในอคติ 4 นั้น บุคคลย่อมถึงอคติใดเพราะฉันทะ อคตินี้ มีโลภะเป็นสมุฏฐาน ฯ บุคคลย่อมถึงอคติใดเพราะโทสะอคตินี้ มีโทสะเป็นสมุฏฐาน ฯ บุคคลย่อมถึงอคติใดเพราะความกลัว และเพราะความหลง อคตินี้ มีโมหะเป็นสมุฏฐาน ฯ ในอกุศลมูลเหล่านั้น โลภะอันบุคคลย่อมละด้วยอสุภภาวนา โทสะอันบุคคลย่อมละด้วยเมตตาและกรุณา ฯ โมหะย่อมละได้ด้วยปัญญา ฯ อนึ่ง โลภะอันบุคคลย่อมละได้ด้วยอุเบกขา โทสะอันบุคคลละได้ด้วยเมตตาและกรุณา โมหะ (โมหาคติ) ย่อมถึงการละ คือการตั้งอยู่ไม่ได้ด้วยมุทิตา ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "การไม่ทำบาปทั้งปวง" ดังนี้ ฯ [31] มิจฉัตตะ 8 คือ มิจฉาทิฏฐิ 1 มิจฉาสังกัปปะ 1 มิจฉาวาจา 1 มิจฉากัมมันตะ 1 มิจฉาอาชีวะ 1 มิจฉาวายามะ 1 มิจฉาสติ 1 และมิจฉาสมาธิ 1ชื่อว่า บาปทั้งปวง ฯ มิจฉัตตะนี้ ท่านเรียกว่า บาปทั้งปวง ฯ กิริยาที่ไม่กระทำการไม่กระทำ การไม่ประพฤติตามซึ่งมิจฉัตตะ 8 เหล่านี้ กิริยาที่ไม่กระทำเป็นต้นนี้ ท่านเรียกว่า การไม่ทำบาปทั้งปวง ฯ เมื่อมิจฉัตตะ 8 อันบุคคลละได้แล้ว สัมมัตตะ 8 ย่อมถึงพร้อม ฯ กิริยาที่กระทำ การกระทำ การประพฤติตามสัมมัตตะ 8 การถึงพร้อมด้วยบททั้ง 3 นี้ ท่านเรียกว่า การยังกุศลให้ถึงพร้อม ฯ คำว่า "การชำระจิตให้ผ่องแผ้ว"ดังนี้ ได้แก่ ย่อมแสดงถึงการกระทำ คือ การเจริญมรรคที่เป็นอดีต เมื่อจิตผ่องแผ้ว ย่อมยังขันธ์ 5 ให้ผ่องแผ้ว สมดังพระดำรัส ที่ตรัสไว้ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์จักอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อความหมดจดแห่งจิต" ดังนี้จริงอยู่ การยังจิตให้ผ่องแผ้วมี 2 อย่าง ได้แก่ การละนิวรณ์และการถอนขึ้นซึ่งอนุสัยฯ ภูมิที่ยังจิตให้ผ่องแผ้วก็มี 2 คือ ทัสสนภูมิและภาวนาภูมิ ฯ บรรดาธรรมทั้งหลายที่พระองค์ทรงแสดงแล้ว ในคาถานั้น ขันธปัญจกะใดยังจิตให้ผ่องใสโดยการแทงตลอดด้วยปริญญา ขันธปัญจกะนี้ เป็นทุกขสัจจะขันธปัญจกะที่ยังจิตให้ผ่องใสจากตัณหาและสังกิเลสใด ตัณหาและสังกิเลสนี้เป็นสมุทยสัจจะ ขันธปัญจกะที่ยังจิตให้ผ่องใสด้วยองค์แห่งอริยมรรคใดมรรคนี้เป็นมัคคสัจจะ ขันธปัญจกะใดผ่องแผ้วแล้วโดยบรรลุถึงอสังขตธาตุอสังขตธาตุธรรมนี้ เป็นนิโรธ คือ เป็นนิโรธสัจจะ ฯ สัจจะ 4 เหล่านี้ พระองค์ทรงยกขึ้นแสดงด้วยอำนาจแห่งความหมุนไปแห่งสภาคะและวิสภาคะ ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า "การไม่ทำบาปทั้งปวง" ดังนี้ ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ธรรมแล ย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม เหมือนร่มคันใหญ่มีประโยชน์ในฤดูฝนนี้ นี้เป็นอานิสงส์ในธรรมอันบุคคลประพฤติดีแล้วเพราะผู้มีปกติประพฤติธรรมย่อมไม่ไปสู่ทุคติ" ดังนี้ ฯ ชื่อว่า ธรรมมี 2 อย่าง คือ อินทริยสังวรและมรรค ชื่อว่า ทุคติ ก็มี 2 อย่าง คือ อบายภูมิทั้งหลาย ชื่อว่าทุคติ เพราะการเปรียบเทียบกับเทวดาหรือมนุษย์ และการเกิดทั้งปวง ชื่อว่า ทุคติ เพราะเปรียบกับพระนิพพาน ฯ ในบาทแรกแห่งคาถานั้น การที่บุคคลไม่ยังศีลสังวรให้ขาด อันใด นี้ชื่อว่า ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว ย่อมรักษาตนจากอบายทั้งหลาย ฯ โดยประการตามที่กล่าวนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย คติของบุคคลผู้มีศีลมี 2 อย่าง คือ เทวดาและมนุษย์" ฯ เรื่องนายคามณีนายคามณีชื่อว่า อสิพันธกบุตร ในนิคมชื่อว่านาลันทา ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกพราหมณ์ชาวปัจฉาภูมิ มีคณโฑน้ำติดตัว ประดับพวงมาลัยสาหร่าย อาบน้ำทุกเช้าเย็น บำเรอไฟ พราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่ายังสัตว์ที่ตายแล้ว ทำกาละแล้วให้เป็นขึ้น ให้รู้ชอบชวนให้เข้าสวรรค์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า สามารถกระทำให้สัตว์โลกทั้งหมด เมื่อตายไป พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ได้หรือ"พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ดูกรนายคามณี ถ้าอย่างนั้น เราจักย้อนถามท่านในข้อนี้ ปัญหาควรแก่ท่านโดยประการใด ท่านพึงพยากรณ์ปัญหาข้อนั้นโดยประการนั้นท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษในโลกนี้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ มากไปด้วยอภิชฌา มีจิตพยาบาท มีความเห็นผิด หมู่มหาชนมาประชุมกันแล้วพึงสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือเดินเวียนรอบผู้นั้นว่า ขอบุรุษนี้ เมื่อตายไปจงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นเมื่อตายไป พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เพราะเหตุแห่งการสวดวิงวอน เพราะเหตุแห่งการสรรเสริญ หรือเพราะเหตุแห่งการประนมมือเดินเวียนรอบ ดังนี้หรือ"นายคามณี กราบทูลว่า "ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ"พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ดูกรนายคามณี เปรียบเหมือนบุรุษโยนหินก้อนหนาใหญ่ลงในห้วงน้ำลึก หมู่มหาชนพึงมาประชุมกันแล้วสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือเดินเวียนรอบหินนั้นว่า ขอจงโผล่ขึ้นเถิดท่านก้อนหิน ขอจงลอยขึ้นเถิดท่านก้อนหิน ขอจงขึ้นบกเถิดท่านก้อนหิน ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ก้อนหินนั้นพึงโผล่ขึ้น พึงลอยขึ้น หรือพึงขึ้นบก เพราะเหตุแห่งการสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือเดินเวียนรอบของหมู่มหาชนบ้างหรือ"นายคามณีทูลว่า "ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ"พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ดูกรนายคามณี ฉันนั้นเหมือนกัน บุรุษคนใดฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ มากไปด้วยอภิชฌา มีจิตพยาบาท มีความเห็นผิด หมู่มหาชนพึงมาประชุมกันแล้วสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือเดินเวียนรอบบุรุษนั้นว่า ขอบุรุษนี้เมื่อตายไป จงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ก็จริง ถึงอย่างนั้น บุรุษนั้น เมื่อตายไป พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ฯ"ว่าด้วยสัตว์ผู้เข้าถึงสวรรค์"ดูกรนายคามณี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษในโลกนี้เว้นปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท ปิสุณาวาจาผรุสวาจา สัมผัปปลาปะ ไม่มากไปด้วยอภิชฌา มีจิตไม่พยาบาท มีความเห็นชอบ หมู่มหาชนพึงมาประชุมกันแล้วสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือ เดินเวียนรอบบุรุษนั้นว่า ขอบุรุษนี้ เมื่อตายไป จงเข้าถึงอบาย ทุคติวินิบาต นรก ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นเมื่อตายไป พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะเหตุแห่งการสวดวิงวอน สรรเสริญหรือเพราะเหตุแห่งการประนมมือเดินเวียนรอบของหมู่มหาชนบ้างหรือ "นายคามณีทูลว่า "ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ"พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ดูกรนายคามณี เปรียบเหมือนบุรุษลงยังห้วงน้ำลึกแล้ว พึงทุบหม้อเนยใส หรือหม้อน้ำมัน ก้อนกรวดหรือก้อนหินที่มีอยู่ในหม้อนั้น พึงจมลง เนยใสหรือน้ำมันที่มีอยู่ในหม้อนั้นพึงลอยขึ้น หมู่มหาชนพึงมาประชุมกันแล้วสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือเดินเวียนรอบเนยใสหรือน้ำมันนั้นว่า ขอจงจมลงเถิดท่านเนยใสและท่านน้ำมัน ขอจงดำลงเถิดท่านเนยใสและท่านน้ำมัน ขอจงลงภายใต้เถิดท่านเนยใสและท่านน้ำมันท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เนยใสและน้ำมันนั้น พึงจมลง พึงดำลง พึงลงภายใต้ เพราะเหตุแห่งการสวดวิงวอน สรรเสริญ หรือเพราะเหตุแห่งการประนมมือเดินเวียนรอบ ของหมู่มหาชนบ้างหรือ"นายคามณีทูลว่า "ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ"พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ดูกรนายคามณี ฉันนั้นเหมือนกัน บุรุษใดเว้นจากปาณาติบาตอทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท ปิสุณาวาจา ผรุสวาท สัมผัปปลาปะ ไม่มากไปด้วยอภิชฌา มีจิตไม่พยาบาท มีความเห็นชอบหมู่มหาชนจะมาประชุมแล้วสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือเดินเวียนรอบบุรุษนั้นว่า ขอบุรุษนี้ เมื่อตายไป จงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาตนรก ก็จริง ถึงอย่างนั้น บุรุษนั้นเมื่อตายไป พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ฯ ด้วยคำตามที่กล่าวนี้ ธรรมที่่บุคคลประพฤติดีแล้ว ย่อมรักษาให้พ้นจากอบายทั้งหลาย ฯ"ในคาถานั้น ความคมกล้า คือ ความที่อริยมรรคเป็นธรรมมีประมาณยิ่งอันใด ธรรมนี้ประพฤติดีแล้ว ย่อมรักษาให้พ้นจากการเกิดทั้งหลายทั้งปวง ฯ ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "เพราะเหตุนั้น ภิกษุมีความดำริชอบเป็นโคจร มุ่งสัมมาทิฏฐิเป็นเบื้องหน้า รู้ความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแล้ว ครอบงำถีนมิทธะพึงละทุคติทั้งปวงได้" ดังนี้ ฯ [32] ในคาถานั้น ตัณหาและอวิชชาเป็นเหตุแห่งทุคติทั้งหลาย และธรรมทั้ง 2นั้นเป็นอุปาทาน 4 ฯ ขันธ์เหล่าใดที่มีอุปาทาน 4 เหล่านั้น ขันธปัญจกะนี้เป็นทุกขสัจจะ อุปาทาน 4 เหล่านี้เป็นสมุทยสัจจะ ขันธ์ 5 เหล่าใด เป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อการรู้ทุกข์ เพื่อการละสมุทัยแห่งขันธ์เหล่านั้น ฯ บรรดาสัจจะทั้ง 2 นั้น อินทรีย์ 5 ที่เป็นรูปเป็นปทัฏฐาน (เหตุเกิด) แห่งตัณหา มนินทรีย์เป็นปทัฏฐานแห่งอวิชชา ฯ บุคคลเมื่อรักษาอินทรีย์ 5 ที่เป็นรูป ยังสมาธิให้เจริญอยู่ ย่อมข่มซึ่งตัณหา เมื่อรักษาซึ่งมนินทรีย์ ยังวิปัสสนาให้เจริญอยู่ ย่อมข่มซึ่งอวิชชา ฯ อุปาทาน 2 คือ กามุปาทานและสีลัพพตุปาทาน อันบุคคลย่อมละได้ ด้วยการข่มตัณหา ฯ อุปาทาน 2 คือทิฏฐุปาทานและอัตตวาทุปาทาน อันบุคคลย่อมละได้ด้วยการข่มอวิชชา ฯ อุปาทาน 4 อันบุคคลละได้แล้ว ธรรมทั้ง 2 คือ สมถะและวิปัสสนาย่อมถึงการบริบูรณ์ด้วยภาวนา หมวด 2 อันประเสริฐ กล่าวคือ สมถะและวิปัสสนานี้ท่านเรียกว่า การประพฤติพรหมจรรย์ ฉะนี้แล ฯ ในการประพฤติพรหมจรรย์นั้น สามัญญผล 4 คือ โสตาปัตติผล 1สกทาคามิผล 1 อนาคามิผล 1 และอรหัตตผลอันเลิศ 1 ทั้ง 4 นี้เป็นผลของการประพฤติพรหมจรรย์ ฯ สัจจะ 2 ในเบื้องต้น เป็นทุกขสัจจะและเป็นสมุทยสัจจะ ฯ สมถะและวิปัสสนาเป็นการประพฤติพรหมจรรย์และเป็นมัคคสัจจะ ฯ ผลแห่งการประพฤติพรหมจรรย์และอสังขตธาตุที่เป็นอารมณ์ของพรหมจรรย์นั้นเป็นนิโรธสัจจะ ฯ สัจจะ 4 เหล่านี้แล ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า "ธรรมแล ย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม" เป็นต้น เพื่อรู้สัจจะ 4 เหล่านั้น ฯ ในคาถาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงแล้วนั้น ขันธปัญจกะใด ย่อมรักษาโดยการแทงตลอดด้วยปริญญา ขันธปัญจกะนี้เป็นทุกขสัจจะ ขันธปัญจกะใดย่อมรักษาให้พ้นจากตัณหาและสังกิเลสใด ตัณหาและสังกิเลสนี้เป็นสมุทยสัจจะขันธปัญจกะที่ผ่องแผ้ว ย่อมรักษาโดยธรรมใด ธรรมนี้เป็นมัคคสัจจะขันธปัญจกะใด อันบุคคลบรรลุอสังขตธาตุ เป็นจิตผ่องใส ธรรมที่เป็นอสังขตธาตุนี้เป็นนิโรธสัจจะ ฯ อาวัฏฏหาระ ท่านประกอบไว้ด้วยสามารถแห่งปทัฏฐาน (เหตุ) ตามที่ได้เพราะเหตุนั้น ท่านพระมหากัจจายนะ จึงกล่าวว่า "บุคคลแสวงหาในปทัฏฐานหนึ่ง หมุนไปสู่ปทัฏฐานที่เหลือ" เป็นต้นฉะนี้ แล ฯ จบ อาวัฏฏหารวิภังค์ 8. วิภัตติหารวิภังค์ |