นโม ตัสสะ ภควโต อรหโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
สารบัญ: ห้วเรื่อง, เลขข้อ | ไฟล์เดียว: html, text | [ค้นหา] [สารบัญ] <ก่อนนี้] [ถัดไป>

เนตติปกรณ์แปล : นิพเพธภาคิยสูตร

       
       [99] ในสูตร 16 นั้น สูตรชื่อว่า นิพเพธภาคิยะ เป็นไฉน
       พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า"บุคคลผู้พ้นวิเศษแล้วในภพทั้งปวง ในเบื้องสูง ในเบื้องต่ำ ไม่ตามเห็นว่า นี้เป็นเรา บุคคลพ้นวิเศษแล้วอย่างนี้ ข้ามได้แล้วซึ่งโอฆะที่ตนยังไม่เคยข้าม เพื่อความไม่เกิดอีก" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร
       พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรอานนท์ เจตนาของผู้มีศีล ไม่ต้องทำจิตว่า ขอความไม่เดือดร้อนพึงเกิดแก่เราเถิด ดังนี้ ดูกรอานนท์ ข้อที่ความไม่เดือดร้อนของคนมีศีลพึงเกิดขึ้นนี้ย่อมมีเป็นธรรมดา ฯ ดูกรอานนท์ เจตนาอันบุคคลผู้ไม่เดือดร้อน ไม่ต้องกระทำว่า ขอความปราโมชพึงเกิดแก่เราเถิด ดังนี้ดูกรอานนท์ ข้อที่ปราโมชพึงเกิดแก่บุคคลผู้ไม่เดือดร้อนนี้ ย่อมมีเป็นธรรมดา ฯ ดูกรอานนท์ เจตนาอันบุคคลผู้ปราโมช ไม่ต้องกระทำว่าขอปีติพึงเกิดแก่เราเถิด ดังนี้ ดูกรอานนท์ ข้อที่ปีติพึงเกิดแก่บุคคลผู้ปราโมชนี้ ย่อมมีเป็นธรรมดา ฯ ดูกรอานนท์ เจตนาของผู้มีใจประกอบด้วยปีติ ไม่ต้องกระทำว่า ขอกายของเราพึงสงบเถิด ดังนี้ ดูกรอานนท์ข้อที่กายของบุคคลผู้มีใจประกอบด้วยปีตินี้พึงสงบ ย่อมมีเป็นธรรมดา ฯ
       ดูกรอานนท์ เจตนาของผู้มีกายสงบแล้ว ไม่ต้องกระทำว่า ขอเราพึงเสวยสุขเถิด ดังนี้ ดูกรอานนท์ข้อที่บุคคลผู้ที่มีกายสงบแล้วพึงเสวยสุข ย่อมมีเป็นธรรมดา ฯ ดูกรอานนท์ เจตนาของผู้ที่เสวยสุขแล้ว ไม่ต้องกระทำว่าขอสมาธิพึงเกิด ดังนี้ ดูกรอานนท์ ข้อที่สมาธิพึงเกิดแก่บุคคลผู้มีสุขนี้ย่อมมีเป็นธรรมดา ฯ ดูกรอานนท์ เจตนาของผู้มีใจตั้งมั่นแล้ว ไม่ต้องกระทำว่า ขอเราพึงรู้ตามความเป็นจริงเถิด ดังนี้ ดูกรอานนท์ ข้อที่บุคคลมีจิตตั้งมั่นแล้วพึงรู้ตามความเป็นจริงนี้ ย่อมมีเป็นธรรมดา ฯ ดูกรอานนท์ เจตนาของบุคคลผู้รู้ตามความเป็นจริง ไม่ต้องกระทำว่า ขอนิพพิทาพึงเกิดแก่เราเถิด ดังนี้ ดูกรอานนท์ ข้อที่บุคคลรู้ตามความเป็นจริงพึงเบื่อหน่ายนี้ ย่อมมีเป็นธรรมดา ฯ ดูกรอานนท์ เจตนาอันผู้เบื่อหน่าย ไม่ต้องทำใจว่า ขอวิราคะพึงเกิดแก่เราเถิด ดังนี้ ดูกรอานนท์ ข้อที่ผู้เบื่อหน่ายพึงคลายกำหนัดนี้ ย่อมมีเป็นธรรมดา ฯ ดูกรอานนท์ เจตนาอันบุคคลผู้คลายกำหนัด ไม่ต้องกระทำว่า ขอวิมุตติพึงเกิดแก่เราเถิด ดังนี้ดูกรอานนท์ ข้อที่ผู้คลายกำหนัดพึงหลุดพ้นนี้ ย่อมมีเป็นธรรมดา ฯ
       ดูกรอานนท์ เจตนาอันบุคคลผู้หลุดพ้นแล้ว ไม่ต้องกระทำว่า ขอวิมุตติญาณทัสสนะพึงเกิดแก่เราเถิด ดังนี้ ดูกรอานนท์ ข้อที่วิมุตติญาณทัสสนะพึงเกิดแก่บุคคลผู้หลุดพ้นแล้วนี้ ย่อมมีเป็นธรรมดา" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร
       [100] พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า"ในกาลใดแล ธรรมทั้งหลายย่อมปรากฏแก่พราหมณ์ ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ ในกาลนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้น ย่อมสิ้นไปเพราะรู้แจ้งธรรมพร้อมกับเหตุ" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร
       พระองค์ทรงเปล่งอุทานครั้งที่ 2 ว่า"ในกาลใดแล ธรรมทั้งหลาย ย่อมปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ ในกาลนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้น ย่อมสิ้นไปเพราะได้รู้แจ้งความสิ้นไปแห่งปัจจัยทั้งหลาย" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร
       พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคาถาว่า"ดูกร ติสสะ เธอโกรธทำไมหนอ เธออย่าโกรธ ความไม่โกรธ เป็นความประเสริฐของเธอ เพราะบุคคลย่อมประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อกำจัดความโกรธ มานะ และความลบหลู่คุณท่าน" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร
       พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคาถาว่า"เมื่อไร เราพึงเห็นนันทะ ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตรยังอัตภาพให้เป็นไป ด้วยโภชนะที่่เจือปนกัน ผู้ไม่อาลัยในกามทั้งหลาย" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร
       พราหมณ์ภารทวาชโคตร ได้กล่าวว่า"บุคคลฆ่าอะไรซิ ย่อมนอนเป็นสุข ฆ่าอะไร ย่อมไม่เศร้าโศกข้าแต่พระโคดม พระองค์ย่อมชอบใจ ในการฆ่าอะไรเป็นธรรมอันเอก"
       ดังนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า"บุคคลฆ่าความโกรธ ย่อมนอนเป็นสุข ฆ่าความโกรธได้ ย่อมไม่เศร้าโศก ดูกรพราหมณ์ พระอริยะทั้งหลาย ย่อมสรรเสริญการฆ่าความโกรธ อันมีรากเป็นพิษ มียอดหวาน เพราะการฆ่าความโกรธได้ จึงไม่เศร้าโศก" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร
       เทวดาทูลถามว่า"ข้าแต่พระโคดม นักปราชญ์ผู้ฆ่า พึงฆ่าอะไรหนอที่ปรากฏ นักปราชญ์ผู้บรรเทา พึงบรรเทาอะไรหนอที่เกิด นักปราชญ์ผู้ละ พึงละอะไรหนอ การตรัสรู้ธรรมอะไรของนักปราชญ์ จึงเป็นสุข" ดังนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรเทพบุตร นักปราชญ์ผู้ฆ่า พึงฆ่าความโกรธ นักปราชญ์ผู้บรรเทา พึงบรรเทาราคะ นักปราชญ์ฺผู้ละ พึงละอวิชชา การตรัสรู้สัจจธรรมเป็นสุข" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร
       [100] เทวดายืนอยู่ในสำนักพระศาสดากล่าวว่า"ภิกษุผู้มีสติ พึงเว้นรอบ เพื่อละกามราคะ เหมือนบุรุษผู้ถูกประหารด้วยหอกมุ่งถอนหอก และเหมือนบุรุษที่ถูกไฟไหม้บนศีรษะมุ่งดับไฟ
       ฉะนั้น" ดังนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ภิกษุผู้มีสติ พึงเว้นรอบ เพื่อละสักกายทิฏฐิ เหมือนบุรุษถูกประหารด้วยหอก และเหมือนบุรุษที่ถูกไฟไหม้บนศีรษะ ฉะนั้น" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร
       เทวดายืนในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้ากล่าวว่า"โภคะทั้งปวงที่รวบรวมไว้ มีความสิ้นไปเป็นที่สุด ธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้น มีความตกไปเป็นที่สุด ชีวิตของสัตว์ทั้งปวงไม่ยั่งยืน เพราะสัตว์ทั้งปวงต้องตายเป็นธรรมดา บุคคลเห็นอยู่ซึ่งภัยคือความตายนี้ พึงทำบุญทั้งหลาย อันนำมาซึ่งสุข" ดังนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรเทวบุตร โภคะทั้งปวงที่รวบรวมไว้ มีความสิ้นไปเป็นที่สุดธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้น มีความตกไปเป็นที่สุด ชีวิตของสัตว์ทั้งปวงไม่ยั่งยืน เพราะสัตว์ทั้งปวงต้องตายเป็นธรรมดา บุคคลเห็นอยู่ซึ่งภัย คือ ความตายนี้ พึงละโลกามิสเสีย มุ่งนิพพานอันสงบสังขารทั้งปวง" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร
       พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรจันทนเทวบุตร จิตของมุนีเหล่าใด ยินดีในฌาน มุนีเหล่านั้นย่อมอยู่เป็นสุข ย่อมไม่เศร้าโศก บุคคลมีปัญญา มีใจตั้งมั่นดีแล้ว ปรารภความเพียร มีจิตส่งไปสู่นิพพาน ย่อมข้ามโอฆะที่ข้ามได้ยาก พระขีณาสพใด เว้นขาดจากกามสัญญา ก้าวล่วงสังโยชน์ทั้งปวง มีความยินดีและภพสิ้นไปแล้ว พระขีณาสพนั้นย่อมไม่จมลงในห้วงน้ำลึก" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร
       พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบอาฬวกยักษ์ว่า"บุคคลเชื่อธรรมของพระอรหันต์ ไม่ประมาท เป็นผู้ฉลาด เพื่อบรรลุพระนิพพาน พึงฟังอยู่ด้วยดี ย่อมได้ซึ่งปัญญา บุคคลใดมีความเพียรเป็นผู้กระทำเหมาะสม ไม่ทอดธุระ ถึงพร้อมด้วยอุตสาหะ บุคคลนั้นย่อมหาทรัพย์ได้ บุคคลย่อมได้ชื่อเสียงเพราะความสัตย์ บุคคลผู้ให้ย่อมผูกมิตรไว้ได้ บุคคลนั้นแล ละจากโลกนี้ไปสู่ปรโลก ย่อมไม่เศร้าโศก" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร
       ยักษ์ฝ่ายมารชื่อสักกะกล่าวว่า"ดูกรพระโคดม การสั่งสอนคนอื่นมีเทวดาและมนุษย์ เป็นต้น ไม่เหมาะแก่สมณะเช่นท่าน ผู้ละกิเลสทั้งหมด ผู้พ้นจากไตรภพ" ดังนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรสักกะ ธรรมเครื่องอยู่ร่วมกัน ย่อมเกิดด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง คนมีปัญญาไม่ควรเพื่ออนุเคราะห์คนอื่นด้วยใจอย่างเดียว ถ้าคนใดมีใจผ่องใสสั่งสอนคนอื่น คนผู้มีใจผ่องใสนั้น ย่อมเป็นผู้ไม่พัวพันด้วยเหตุนั้น นอกจากจะอนุเคราะห์เอ็นดู" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร
       [102] สูจิโลมยักษ์ทูลถามว่า"ดูกรสมณะ ราคะและโทสะมีอะไรเป็นเหตุ ความไม่ยินดี ความยินดี และความสยดสยองเกิดแต่เหตุอะไร ความตรึกในใจเกิดแต่อะไรแล้วดักจิตไว้ได้ เหมือนพวกเด็กดักกาด้วยเชือกฉะนั้น"พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า"ราคะและโทสะ มีอัตภาพนี้เป็นเหตุ ความไม่ยินดี ความยินดี และความสยดสยอง เกิดแต่อัตภาพ ความตรึกในใจเกิดแต่อัตภาพนี้ แล้วดักจิตไว้ได้ เหมือนพวกเด็กดักกาด้วยเชือก ฉะนั้น อกุศลวิตกเป็นอันมากเกิดแต่ความเยื่อใย คือ ตัณหา เกิดในตนแล้วแผ่ซ่านไปในวัตถุกามทั้งหลาย เหมือนย่านไทรเกิดแต่ลำต้นไทรแล้วแผ่ซ่านไปในป่า ฉะนั้น ชนเหล่าใด ย่อมรู้อัตภาพนั้นว่า เกิดแต่สิ่งใด ชนเหล่านั้น ย่อมบรรเทาเหตุเกิดนั้นเสียได้ ดูกรยักษ์ ท่านจงฟัง ชนเหล่านั้นย่อมข้ามห้วงกิเลสนี้ ซึ่งข้ามได้โดยยากและไม่เคยข้ามในอนมตัคคสงสาร เพื่อความไม่เกิดอีกต่อไป" ดังนี้ สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร
       กามทเทวบุตรกราบทูลว่า"ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ชื่อว่า การกระทำสมณธรรม กระทำได้โดยยาก ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า สมณธรรม กระทำได้ยากอย่างยิ่ง" ดังนี้
       พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรกามทะ ชนทั้งหลาย ตั้งมั่นแล้วในศีล แห่งพระเสกขะ มีตนตั้งมั่นแล้ว ย่อมกระทำแม้ซึ่งสมณธรรมอันบุคคลกระทำได้โดยยาก ความยินดีของบุคคลผู้เข้าถึงความไม่มีเรือน ย่อมนำสุขมาให้" ดังนี้
       กามทเทวบุตรกราบทูลว่า"ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้อที่หาได้ยากนี้ คือความสันโดษ(ความยินดี)" ดังนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรกามทะ ชนเหล่าใด ยินดีแล้วในความสงบแห่งจิต ชนเหล่านั้น มีใจยินดีแล้วในความอบรมจิต ทั้งกลางวันทั้งกลางคืน ชนเหล่านั้นย่อมได้แม้ซึ่งสิ่งที่ได้โดยยาก"ดังนี้
       กามทเทวบุตรกราบทูลว่า"ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ธรรมชาติที่ตั้งมั่นได้ยากนี้ คือ จิต" ดังนี้
       พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า"ดูกรกามทะ ชนเหล่าใด ยินดีแล้วในความสงบแห่งอินทรีย์ ชนเหล่านั้น ย่อมตั้งมั่นซึ่งจิตที่ตั้งมั่นได้ยาก ดูกรกามทะ พระอริยะทั้งหลายตัดข่ายแห่งมัจจุแล้ว ย่อมไป" ดังนี้
       กามทเทวบุตรกราบทูลว่า"ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทางที่ไปได้ยาก คือทางที่ไม่เสมอ (โดยมุ่งถึงปฏิปทาอันเป็นส่วนเบื้องต้น)" ดังนี้
       พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรกามทะ พระอริยะทั้งหลาย ย่อมไปได้ แม้ในทางที่ไม่เสมอ ที่ไปได้ยาก บุคคลผู้มิใช่พระอริยะ ย่อมเป็นผู้บ่ายศีรษะลงเบื้องต่ำ ตกไปในทางอันไม่เสมอ ทางของพระอริยะทั้งหลายสม่ำเสมอ เพราะพระอริยะทั้งหลายเป็นผู้สม่ำเสมอ ในทางอันไม่เสมอ" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร
       [103] เทวบุตรองค์หนึ่งได้กล่าวคาถาในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า"ก็พระเชตวันนี้นั้น อันหมู่แห่งพระฤๅษีพำนักอยู่ พระธรรมราชาก็ประทับอยู่แล้ว เป็นที่ให้เกิดปีติแก่ข้าพระองค์ สัตว์ทั้งหลาย ย่อมบริสุทธิ์ด้วยส่วน 5 นี้ คือ กรรม วิชชา ธรรม ศีล และชีวิตอันอุดม หาได้บริสุทธิ์ด้วยโคตร หรือด้วยทรัพย์ไม่ เพราะเหตุนั้นแหละ บุรุษผู้เป็นบัณฑิตเมื่่อเห็นประโยชน์ของตน พึงเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคายอย่างนี้ จึงจะบริสุทธิ์ในธรรมนั้น พระสารีบุตรรูปเดียวเท่านั้น เป็นผู้ประเสริฐด้วยปัญญา ศีล และธรรมเครื่องสงบระงับ ภิกษุใดเป็นผู้ถึงฝั่่ง ภิกษุนั้นก็มีท่านพระสารีบุตรนี้ เป็นอย่างยิ่ง" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร
       พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอุทเทสและวิภังค์นี้ว่า"บุคคล ไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว (ด้วยตัณหาและทิฏฐิ) ไม่ควรมุ่งหวังถึงสิ่่งที่ยังไม่มาถึง (ด้วยตัณหาและทิฏฐิ) สิ่งใดล่วงไปแล้วสิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว และสิ่งใดที่ยังไม่มาถึงสิ่งนั้นก็เป็นอันยังไม่ถึง ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบัน ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลน ในธรรมนั้น ๆ บุคคลนั้นพึงเจริญธรรมนั้นเนือง ๆ ให้ปรุโปร่งเถิด พึงทำความเพียรในวันนี้แหละใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง เพราะว่าความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย พระมุนีผู้สงบ ย่อมเรียกบุคคลผู้มีปกติอยู่อย่างนี้ ผู้มีความเพียรไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืนนั้นแลว่าผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร
       พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ธรรม 4 เหล่านี้ อันบุคคลพึงกระทำให้แจ้ง ธรรม 4 เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันบุคคลพึงกระทำให้แจ้ง ด้วยจักษุและปัญญามีอยู่ธรรมอันบุคคลพึงกระทำให้แจ้งด้วยกายและปัญญา มีอยู่ ธรรมอันบุคคลพึงรู้ด้วยปัญญา และพึงกระทำให้แจ้งด้วยปัญญา มีอยู่ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันบุคคลพึงกระทำให้แจ้งด้วยจักษุและปัญญา เป็นไฉน ทิพยจักษุอันหมดจดดีแล้ว อันก้าวล่วงจักษุอันเป็นของมนุษย์นี้แล อันบุคคลพึงกระทำให้แจ้งด้วยจักษุและปัญญา ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่าไหน อันบุคคลพึงกระทำให้แจ้งด้วยสติและปัญญาปุพเพนิวาสานุสติ อันบุคคลพึงกระทำให้แจ้งด้วยสติและปัญญา ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่าไหน อันบุคคลพึงกระทำให้แจ้งด้วยกายและปัญญา อิทธิวิธะและนิโรธะ อันบุคคลพึงกระทำให้แจ้งด้วยกายและปัญญา ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่าไหน อันบุคคลพึงรู้ด้วยปัญญาพึงกระทำให้แจ้งด้วยปัญญา ญาณในอันสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย อันบุคคลพึงรู้ด้วยปัญญา และพึงกระทำให้แจ้งด้วยปัญญา" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร
       +อเสกขภาคิยสูตร
[ค้นหา] [สารบัญ] <ก่อนนี้] [ถัดไป>
(ไม่สงวนลิขสิทธิ์)