นโม ตัสสะ ภควโต อรหโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
สารบัญ: ห้วเรื่อง, เลขข้อ | ไฟล์เดียว: html, text | [ค้นหา] [สารบัญ] <ก่อนนี้] [ถัดไป>

เนตติปกรณ์แปล : มูลบท 18

       
       [112] ในหาระ 16 เป็นต้นนั้น มูลบท 18 เป็นไฉน
       มูลบท 18 พึงทราบด้วย สาสนปัฏฐาน 28 นี้ คือ
       1. โลกียธรรม, 2. โลกุตตรธรรม โลกิยะและโลกุตตระ,
       3. สัตตาธิฏฐาน 4. ธัมมาธิฏฐาน สัตตาธิฏฐานและธัมมาธิฏฐาน,
       5 ญาณ (ความรู้) 6. เญยยะ (ควรรู้) ญาณและเญยยะ,
       7. ทัสสนะ 8. ภาวนา ทัสสนะและภาวนา,
       9. สกวจนะ (พุทธพจน์) 10. ปรวจนะ สกวจนะและปรวจนะ,
       11. วิสัชชนียะ (พึงวิสัชชนา) 12. อวิสัชชนียะ วิสัชชนียะและอวิสัชชนียะ,
       13. กรรม 14. วิบาก กรรมและวิบาก,
       15. กุศล 16. อกุศล กุศลและอกุศล,
       17. อนุญญาตะ 18. ปฏิกขิตตะ อนุญญาตะปฏิกขิตตะ
       0. ถวะ (สรรเสริญ)ฯ
       ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "โลกียะเป็นไฉน"พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ก็บาปกรรม อันบุคคลทำแล้วยังไม่เปลี่ยนไป เหมือนน้ำนมในวันนี้ยังไม่แปรไปฉะนั้น บาปกรรมนั้น ย่อมตามเผาคนพาล เหมือนไฟอันเถ้าปกปิดแล้ว ฉะนั้น" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นโลกียะ ฯ
       พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า,
       "ดูกรภิกษุทั้งหลาย การถึงอคตินี้มี 4 ประการ 4 ประการเป็นไฉน บุคคลย่อมถึงฉันทาคติ ฯลฯ ยศของผู้นั้น ย่อมเสื่อม เหมือนพระจันทร์ข้างแรม ฉะนั้น" ดังนี้ เป็นโลกียะ ฯ
       พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม 8 เหล่านี้ โลกธรรม 8 เป็นไฉน คือลาภ เสื่อมลาภ ยศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุขและทุกข์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม 8 เหล่านี้แล" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นโลกียะ ฯ
       ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "โลกุตตระเป็นไฉน"พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"อินทรีย์ของภิกษุใด ถึงความสงบระงับ เหมือนม้าอันนายสารถีฝึกดีแล้ว แม้เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมรักใคร่ภิกษุนั้นผู้มีมานะอันละได้แล้ว ผู้ไม่มีอาสวะ ผู้คงที่" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นโลกุตตระ ฯ
       พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ 5 เหล่านี้ เป็นโลกุตตระ อินทรีย์ 5 นั้นเป็นไฉน คือสัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ และปัญญินทรีย์ดูกรภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ 5 เหล่านี้แล" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นโลกุตตระ ฯ
       ในสาสนปัฏฐาน 28 นั้น "โลกียะและโลกุตตระเป็นไฉน"คาถาทั้ง 2 ว่า
       "การได้ความเป็นมนุษย์ ย่อมเป็นผู้มีิกิจ 2 อย่าง คือ ที่ควรทำและไม่ควรทำ" บทใด ในที่นี้ว่า "บุญทั้งหลาย เป็นกิจดี" และบทใดว่า "บุคคลทำบุญ ครั้นทำบุญแล้ว ย่อมไปสู่สวรรค์จากสวรรค์" ดังนี้ บทนี้ เป็นโลกียะ ฯ
       บทใด ในที่นี้ว่า "หรือ การละสังโยชน์" และบทใดว่า "การละสังโยชน์ ย่อมพ้นจากชรามรณะ" ดังนี้ บทนี้ เป็นโลกุตตระ ฯ ทั้ง 2 นี้เป็นโลกียะและโลกุตตระ ฯ
       พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่่อวิญญาณาหารมีอยู่ การหยั่งลงของนามรูปย่อมมี เมื่อมีการหยั่งลงแห่งนามรูป ภพใหม่ย่อมมี เมื่อมีภพใหม่ ชาติย่อมมี เมื่อมีชาติ ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาสย่อมมี ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต้นไม้ใหญ่ มีรากหยั่งลงและแผ่ไปข้าง ๆ รากทั้งหมดนั้น ย่อมดูดโอชาไปเบื้องบน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต้นไม้ใหญ่นั้นมีอาหารอย่างนั้น มีความยึดมั่นอย่างนั้น ด้วยอาการอย่างนี้ ก็พึงตั้งอยู่ตลอดกาลนาน แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อวิญญาณาหารมีอยู่ การหยั่งลงของนามรูปย่อมมี ฯลฯ การเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลย่อมมีอย่างนี้ ฉันนั้นเหมือนกัน" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นโลกียะ ฯ
       "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อไม่มีวิญญาณาหาร การหยั่งลงของนามรูปย่อมไม่มี เมื่อไม่มีนามรูปหยั่งลง ภพใหม่ย่อมไม่มี เมื่อไม่มีภพใหม่ ชาติย่อมไม่มี เมื่อไม่มีชาติ ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส ย่อมดับ การดับของกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการฉะนี้ ฯ
       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต้นไม้ใหญ่พึงอยู่อย่างนั้น ที่นั้นบุรุษเอาจอบและภาชนะมาตัดต้นไม้นั้นที่โคนต้นแล้ว ขุดลงไป ครั้นขุดลงไปแล้ว คุ้ยเอารากใหญ่เล็กแม้เท่าก้านแฝกขึ้น บุรุษนั้นพึงตัดต้นไม้นั้นเป็นท่อนเล็กท่อนใหญ่แล้วพึงผ่า ครั้นผ่าแล้ว พึงเจียกให้เป็นชิ้น ๆ ครั้นเจียกให้เป็นชิ้น ๆแล้ว พึงผึ่งลมตากแดด ครั้นผึ่งลมตากแดดแล้ว พึงเอาไฟเผา ครั้นเอาไฟเผาแล้ว พึงทำให้เป็นเขม่า ครั้นทำให้เป็นเขม่าแล้ว พึงโปรยที่ลมแรงหรือลอยในแม่น้ำที่มีกระแสอันเชี่ยว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ต้นไม้ใหญ่นั้นมีรากอันถอนขึ้นแล้ว ถูกทำให้เป็นดังตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี ไม่เกิดอีกต่อไป แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อวิญญาณาหารไม่มี การหยั่งลงของนามรูป ย่อมไม่มี เมื่อการหยั่งลงของนามรูปไม่มีฯลฯ ย่อมดับ ฉันนั้นเหมือนกัน ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวล ย่อมมีด้วยประการฉะนี้" ดังนี้ นี้ เป็นโลกุตตระ คำที่กล่าวนี้ เป็นโลกียะและโลกุตตระ ฯ
       +สัตตาธิฏฐานและธัมมาธิฏฐาน
[ค้นหา] [สารบัญ] <ก่อนนี้] [ถัดไป>
(ไม่สงวนลิขสิทธิ์)