นโม ตัสสะ ภควโต อรหโต สัมมาสัมพุทธัสสะสารบัญ: ห้วเรื่อง, เลขข้อ | ไฟล์เดียว: html, text | [ค้นหา] [สารบัญ] <ก่อนนี้] [ถัดไป> เนตติปกรณ์แปล : 2. วิจยหารวิภังค์ [ 11 ] ในบรรดาหาระเหล่านั้น วิจยหาระเป็นไฉน ? คาถาที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า “ยํปุจฺฉิตญฺจ วิสฺสชฺชิตญฺจ (การพิจารณาคำถามก็ดี การพิจารณาคำตอบก็ดี)” เป็นต้นนั้น ชื่อว่า วิจยหาระ วิจยหาระ พิจารณาอะไร ? พิจารณา บท, คำถาม, คำตอบ, คำหน้ากับคำหลัง, อัสสาทะ, อาทีนวะ, นิสสรณะ, ผลแห่งเทศนา, อุบาย, อาณัตติ, อนุคีติ (การกล่าวโดยสมควร) และ พระสูตร 9 ประการ มี สุตตะ เคยยะ เป็นต้นทั้งปวง. เหมือนอะไร? เหมือนที่ท่านพระอชิตะทูลถามปัญหาพระผู้มีพระภาคในปารายนสูตร พระอชิตะทูลถามว่า สัตว์โลกถูกอะไรห่อหุ้มไว้, สัตว์โลกย่อมไม่ปรากฎ เพราะธรรมอะไร, พระองค์กล่าวอะไรว่าเป็นเครื่องฉาบทาสัตว์โลกนั้น, อะไรเป็นภัยใหญ่ของสัตว์โลกนั้น1 1. ขุ. สุ. 25/1039/531, ขุ. จูฬ. 30/1/25 4 ประโยคเหล่านี้เป็นคำถาม. อรรถที่ถูกถามด้วย 4 ประโยคนั้นเป็นปัญหาอันหนึ่ง. เพราะเหตไร ? เพราะกำหนดเอาวัตถุที่ตั้งคือโลกอันหนึ่ง สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า พระอชิตะถามถึงที่ตั้งคือโลกด้วยประโยคว่า “เกนสฺสุ นิวุโตโลโก (สัตว์โลกถูกอะไรห่อหุ้มไว้)” ถามถึงการไม่ปรากฏแห่งโลกด้วยประโยคว่า “เกนสฺสุ นปฺปกาสติ (สัตว์โลกย่อมไม่ปรากฏเพราะธรรมอะไร)” ถามถึงการฉาบทาโลกด้วยประโยคว่า “กิสฺสาภิเลปนํ พฺรูสิ (พระองค์กล่าวอะไรว่าเป็นเครื่องฉาบทาสัตว์โลก)” ถามถึงภัยใหญ่ของโลกนั้นด้วยประโยคว่า “กึ สุ ตสฺส มหพฺภยํ (อะไรเป็นภัยใหญ่ของสัตว์โลกนั้น)” โลก มี 3 คือ กิเลสโลก (กล่าวคืออบายสัตว์) ภวโลก (กล่าวคือสัตว์ที่นอกจากอบายสัตว์) และ อินทรียโลก (กล่าวคือสัตว์ที่สมบูรณ์ด้วยอินทรีย์ มี สัทธา เป็นต้น ที่สามารถทำให้ถึงวิมุติ) ในคำปุจฉานั้น มีวิสัชนา ดังนี้ :- พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า สัตว์โลกถูกอวิชชาห่อหุ้มไว้, สัตว์โลกย่อมไม่ปรากฏ เพราะความสงสัย เพราะความประมาท, เรากล่าวตัณหาว่า เป็นเครื่องฉาบทาสัตว์โลก, ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น 1 1. ขุ. สุ. 25/1040/531, ขุ. จูฬ. 30/2/26 4 ประโยคเหล่านี้ ( ที่กล่าวไว้ในคาถาปุจฉา) ท่านวิสัชนาแล้วด้วย 4 ประโยคเหล่านี้ (ที่กล่าวไว้ในคาถาวิสัชนา) ประโยคที่ 1 (ที่กล่าวไว้ในคาถาปุจฉา) ท่านวิสัชนาด้วยประโยคที่ 1 (ที่กล่าวไว้ในคาถาวิสัชนา) ประโยคที่ 2 ท่านวิสัชนาด้วยประโยคที่ 2, ประโยคที่ 3 ท่านวิสัชนาด้วยประโยคที่ 3, ประโยคที่ 4 ท่านวิสัชนาด้วยประโยคที่ 4 ในปัญหาว่า “เกนสฺสุ นิวุโต โลโก (สัตว์โลกถูกอะไรห่อหุ้มไว้)” มีคำวิสัชนาว่า “อวิชฺชา นิวุโต โลโก (สัตว์โลกถูกอวิชชาห่อหุ้มไว้)”, สัตว์โลกถูกนิวรณ์ทั้งหลายห่อหุ้มไว้ จริงอย่างนั้น สัตว์ทั้งปวงมีอวิชชาห่อหุ้ม สมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “เรากล่าวธรรมอย่างหนึ่ง คือ อวิชชา ว่าเป็นเครื่องห่อหุ้มสัตว์ที่ติดอยู่ในอารมณ์ทั้งปวง สัตว์ผู้มีลมปราณทั้งปวง สัตว์ผู้เติบโตทั้งปวง เพราะเป็นเหตุแห่งกามฉันทนิวรณ์เป็นต้น. แท้จริงสัตว์ทั้งปวงมีอวิชชาเป็นเครื่องห่อหุ้ม ภิกษุทั้งหลายเรากล่าวว่า นิวรณ์ย่อมไม่มีแก่สัตว์ทั้งหลายเพราะการดับ เพราะการสละ เพราะการสลัดอวิชชา โดยประการทั้งปวง”. เพราะเหตุนั้นแล คำวิสัชนา (ว่า อวิชฺชาย นิวุโต โลโก) แห่งประโยคที่ 1 (ว่า เกนสฺสุ นิวุโต โลโก) อันท่านประกอบแล้ว ในปัญหา (ข้อที่ 2) ว่า “เกนสฺสุ นปฺปกาสติ (สัตว์โลกย่อมไม่ปรากฏเพราะธรรมอะไร)” มีคำวิสัชนาว่า “วิจิจฺฉา ปมาทา นปฺปกาสติ (สัตว์โลกย่อมไม่ปรากฏเพราะความสงสัย เพราะความประมาณ)”. บุคคลที่ถูกนิวรณ์ณ์ทั้งหลายห่อหุ้มย่อมสงสัย ท่านเรียกว่า วิวิจฺฉา. บุคคลที่สงสัยย่อมไม่เชื่อ (ผลแห่งกรรม) เมื่อไม่เชื่อ (ผลแห่งกรรม) ย่อมไม่เพียรพยายามเพื่อละอกุศลธรรมทั้งหลาย และเพื่อกระทำให้ประจักษ์กุศลธรรมทั้งหลาย. บุคคลนั้นประกอบความประมาทเนือง ๆ เป็นผู้ประมาทอยู่ในศาสนานี้ ไม่ยังกุศลธรรมที่สะอาดหมดจดให้เกิดขึ้น. กุศลธรรม มี ศีล สมาธิ เป็นต้น เหล่านั้นที่ตนไม่ทำให้เกิดขึ้น ย่อมไม่ปรากฏแก่บุคคลผู้ประมาทนั้น สมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า สัตบุรุษทั้งหลายแม้อยู่ไกลก็ย่อมปรากฏ (แก่บัณฑิตทั้งหลาย) เหมือนภูเขา หิมวันต์ แม้อยู่ไกลก็เห็นได้ฉะนั้น อสัตบุรุษทั้งหลาย (แม้อยู่ใกล้) ย่อมไม่ปรากฏ (แก่บัณฑิตทั้งหลาย) ในศาสนานี้ เหมือนลูกศรที่เขายิงไปในเวลากลางคืน ฉะนั้น สัตบุรุษเหล่านั้น ย่อมปรากฏด้วยคุณ ชื่อเสียง และบริวาร1 1. ขุ. ธ. 25/304/69 เพราะเหตุนั้นแล คำวิสัชนาแห่งประโยคที่ 2 อันท่านประกอบแล้ว (เช่นนั้น) ในปัญหา (ข้อที่ 3) ว่า “กิสฺสาภิเลปนํ พฺรูสิ (พระองค์กล่าวอะไรว่าเป็นเครื่องฉาบทาสัตว์โลก)” มีคำว่าวิสัชนาว่า “ชปฺปาภิเลปนํ พฺรูมิ (เรากล่าวตัณหาว่าเป็นเครื่องฉาบทาสัตว์โลก)” ตัณหา ท่านเรียกว่า ชัปปา. ตัณหานั้นฉาบทาด้วยอาการอย่างไร ? ด้วยอาการดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สัตว์โลกผู้มีราคะย่อมไม่รู้อรรถที่เป็นผล ย่อมไม่เห็นเหตุ. ราคะย่อมเบียด เบียนบุคคลใด ความมืดอย่างยิ่งย่อมมีแก่บุคคลนั้นในกาลนั้น2 2. ขุ. อิติ. 25/88/305, ขุ. มหา. 29/5,156,195/12,302,399, ขุ. จูฬ. 30/128/263 สัตว์โลกชื่อว่าถูกตัณหาฉาบทา เพราะเหตุว่า ตัณหานั้นทำบุคคผู้ติดอยู่ในอารมณ์ให้ติดในอารมณ์ยิ่งขึ้นแล้วเบียดเบียนด้วยอาการดังกล่าวนั้น เพราะเหตุนั้นแล คำวิสัชนาแห่งประโยคที่ 3 อันท่านประกอบแล้ว (เช่นนั้น) ในปัญหา (ข้อที่ 4) ว่า “กึสุ ตสฺส มหพฺภยํ (อะไรเป็นภัยใหญ่ของสัตว์โลกนั้น)” มีคำวิสัชนาว่า “ทุกขมสฺส มหพฺภยํ (ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของสัตว์โลกนั้น)” ทุกข์มี 2 อย่าง คือ กายิกทุกข์ (ทุกข์ทางกาย) และ เจตสิกทุกข์ (ทุกข์ทางใจ). ทุกข์ที่เกิดขึ้นในกายวิญญาณจัดเป็นทุกข์, ทุกข์ที่เกิดในโทสมูลจิตจัดเป็นโทมนัส. เพราะเหตุที่สัตว์ทั้งปวงหวาดกลัวทุกข์ ฉะนั้นภัยที่เสมอเหมือนกับทุกข์ย่อมไม่มี. ทุกขตา (ความเป็นทุกข์) มี 3 อย่าง คือ ความเป็นทุกขทุกข์ กล่าวคือทุกขเวทนา, ความเป็นทุกข์แห่งสังขารธรรม, ความเป็นวิปริณามทุกข์อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลง. ในบรรดาทุกข์ 3 ประการเหล่านั้น สัตว์โลกย่อมพ้นจากทุกขทุกข์ โดยบางส่วนในบางครั้งบางคราว บางสัมปัตติภพ, ย่อมพ้นจากวิปริณามทุกข์แบบนั้นเหมือนกัน, การพ้นจากทุกข์เช่นนั้นเกิดจากเหตุอะไร ? เพราะเหตุที่สัตว์ทั้งหลายในโลกเป็นผู้มีโรคน้อยและมีอายุยืน ฉะนั้นจึงพ้นจากทุกข์เช่นนั้นได้, แต่สัตว์โลกพ้นจากสังขารทุกข์ได้ด้วยนิพพานธาตุอันไม่มีวิบากนามขันธ์กฏัตตารูป เหลืออยู่. เพราะฉะนั้น (พระผู้มีพระภาคจึงตรัสคำนี้) ว่า “ทุกฺขมสฺส มหพฺภยํ (ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของสัตว์โลกนั้น)” คำวิสัชนาแห่งประโยคที่ 4 อันท่านประกอบแล้ว ฉะนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสคำวิสัชนาว่า “อวิชฺชาย นิวุโต โลโก (สัตว์โลกถูกอวิชชาห่อหุ้มไว้)” พระอชิตะทูลถามว่า กระแส (คือ ตัณหา) ทั้งหลายย่อมไหลไปในอายตนะทั้งปวง (มี รูป เป็นต้น) อะไรเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย ขอพระองค์จงทรงบอกการสังวรกล่าวคือการป้องกันกระแสทั้งหลาย บุคคลย่อมปิดกั้นกระแสทั้งหลายได้ด้วยธรรมอะไร1 1. ขุ. สุ. 25/1041/531, ขุ. จูฬ. 30/3/30 4 ประโยคเหล่านี้เป็นคำถาม อรรถที่ถูกกล่าวด้วยคาถาเหล่านั้นเป็นปัญหา 2 ข้อ เพราะเหตุไร ? เพราะเหตุที่อรรถอันถูกกล่าวด้วยคาถาเหล่านี้ ถูกถามแล้วด้วยศัพท์ที่อาศัยหลายอย่าง ฉะนั้นจึงมีปัญหา 2 ข้อ พระอชิตะประสงค์จะถามว่า สัตว์โลกที่ถูกภัยต่าง ๆ (มีการสูญเสียญาติเป็นต้นเบียดเบียนเช่นนั้น) และมีความเศร้าหมองเร่าร้อนเช่นนั้น จะหมดจดและพ้นจากสังสารวัฏได้อย่างไร ดังคำที่ท่านกล่าวไว้อย่างนั้น คำว่า “สวนฺติ สพฺพธิ โสตา (กระแส คือ ตัณหา ทั้งหลายย่อมไหลไปในอายตนะทั้งปวง)” หมายความว่า กระแส (คือ ตัณหา) ของบุคคลผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น มี อภิชฌา พยาบาท และความประมาทมากย่อมไหลไป. ในบรรดาธรรม (มี อภิชฌา เป็นต้น) เหล่านั้น ธรรมชาตินี้ (คือ ตัณหา) ถูกกล่าวว่าเป็น โลภะ เป็นอกุศลมูล. ธรรมชาติใดชื่อว่า พยาบาท ธรรมชาตินี้ถูกกล่าวว่าเป็น โทสะ เป็นอกุศลมูล. ธรรมชาติใดชื่อว่า ปมาท ธรรมชาตินี้ถูกกล่าวว่าเป็น โมหะ เป็นอกุศลมูล. ตัณหาทั้งหลาย คือ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา ของบุคคลผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น ย่อมไหลไปในอายตนะภายนอก 6 ด้วยธรรม 3 ประการ ดังกล่าวนั้น สมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย คำว่า “สวติ (ไหลไป)” นี้แลเป็นชื่อของอายตนะภายใน 6. จักษุ (ตา) ย่อมไหลไปในรูปารมณ์ที่น่าพอใจ ย่อมขัดเคืองในรูปารมณ์ที่ตนไม่ชอบใจ. โสตะ (หู) ย่อมไหลไปในสัททารมณ์ที่น่าพอใจ ย่อมขัดเคืองในสัททารมณ์ที่ตนไม่ชอบใจ. ฆานะ (จมูก) ย่อมไหลไปในคันธารมณ์ที่น่าพอใจ ย่อมขัดเคืองในคันธารมณ์ที่ตนไม่ชอบใจ. ชิวหา (ลิ้น) ย่อมไหลไปในรสารมณ์ที่น่าพอใจ ย่อมขัดเคืองในรสารมณ์ที่ตนไม่ชอบใจ. กายย่อมไหลไปในโผฏฐัพพารมณ์ที่น่าพอใจ ย่อมขัดเคืองในโผฏฐัพพารมณ์ที่ตนไม่ชอบใจ. ใจย่อมไหลไปในธัมมารมณ์ที่น่าพอใจ ย่อมขัดเคืองในธัมมารมณ์ที่ตนไม่ชอบใจ. ย่อมไหลไปโดยอาการทั้งปวงอย่างนี้. เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า “สวนฺติ สพฺพธิ โสตา (กระแส คือ ตัณหา ทั้งหลายย่อมไหลไปในอายตนะทั้งปวง)” พระอชิตะถามถึงวิธีละปริยุฏฐานกิเลสด้วยคำว่า “โสตานํ กึ นิวารณํ (อะไรเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย)” การละปริยุฏฐานกิเลสนี้เป็นความหมดจด ถามถึงวิธีตัดอนุสัยกิเลสอย่างเด็ดขาดด้วยคำว่า “โสตานํ สํวรํ พฺรูหิ, เกน โสตา ปิธียเร (ขอพระองค์จงทรงบอกการสังวรกล่าวคือการป้องกันกระแสทั้งหลาย บุคคลย่อมปิดกั้นกระแสทั้งหลายได้ด้วยธรรมอะไร)” การตัดอนุสัยกิเลสอย่างเด็ดขาดนี้เป็นเหตุออกจากวัฏสงสาร คำวิสัชนาในปัญหา 2 ข้อนี้ พึงทราบดังนี้ :- พระผู้มีพระภาคตรัสว่า (ดูก่อนอชิตะ) กระแส (คือ ตัณหา) เหล่าใดย่อมไหลไปในโลก สติเป็นเครื่องกั้นกระแส (คือ ตัณหา) เหล่านั้น เรากล่าว (สตินั้นแหละ) ว่าเป็นเครื่องป้องกันกระแสทั้งหลาย (ในขณะแห่งมรรค) กระแสเหล่านั้นพึงถูกปิดกั้นด้วยมรรค ปัญญา1 1. ขุ. สุ. 25/1042/532, ขุ. จูฬ. 30/4/31 เมื่อบุคคลเจริญกายคตาสติ กระทำให้มากแล้ว จักขุ (ตา) ย่อมไม่ดึงไปในรูปารมณ์ที่น่าพอใจ ย่อมไม่ขัดเคืองในรูปารมณ์ที่ตนไม่ชอบใจ. โสตะ (หู) ย่อมไม่ดึงไปในสัททารมณ์ที่น่าพอใจ ย่อมไม่ขัดเคืองในสัททารมณ์ที่ตนไม่ชอบใจ. ฆานะ (จมูก) ย่อมไม่ดึงไปในคันธารมณ์ที่น่าพอใจ ย่อมไม่ขัดเคืองในคันธารมณ์ที่ตนไม่ชอบใจ. ชิวหา (ลิ้น) ย่อมไม่ดึงไปในรสารมณ์ที่น่าพอใจ ย่อมไม่ขัดเคืองในรสารมณ์ที่ตนไม่ชอบใจ. กาย ย่อมไม่ดึงไปในโผฏฐัพพารมณ์ที่น่าพอใจ ย่อมไม่ขัดเคืองในโผฏฐัพพารมณ์ที่ตนไม่ชอบใจ. ใจ ย่อมไม่ดึงไปในธัมมารมณ์ที่น่าพอใจ ย่อมไม่ขัดเคืองในธัมมารมณ์ที่ตนไม่ชอบใจ เพราะเหตุไร ? เพราะป้องกันรักษาอินทรีย์ทั้งหลาย (มี จักขุ เป็นต้น) ไว้ดีแล้ว กระแสทั้งหลาย มีตัณหาเป็นต้นเหล่านั้น บุคคลจะป้องกันได้ดี ด้วยธรรมอะไร ? ด้วยการรักษาคือสติ เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า “สติ เตสํ นิวารณํ (สติเป็นเครื่องกั้นกระแส คือ ตัณหา เหล่านั้น)” บุคคลย่อมละอนุสัยทั้งหลายได้ด้วยปัญญา เมื่อละอนุสัยแล้วก็เป็นอันละปริยุฏฐานกิเลสด้วย. เพราะเหตุไร ? เพราะอนุสัยถูกละแล้ว เปรียบเหมือน เมื่อถอนรากถอนโคนต้นไม้ที่มีลำต้นจนหมดสิ้นไป ฉันใด เมื่ออนุสัยถูกละแล้ว ความสืบต่อแห่งปริยุฏฐานกิเลสก็เป็นอันขาดสิ้นถูกปิดกั้น ฉันนั้นเหมือนกัน. ถูกปิดกั้นด้วยอะไร ? ด้วยปัญญา. เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “ปญฺญาเยเต ปิธียเร (กระแสเหล่านั้นพึงถูกปิดกั้นด้วยมรรคปัญญา)” พระอชิตะทูลถามว่า ข้าแต่พระผู้นิรทุกข์ ปัญญาและสติ (ที่พระองค์ตรัสแล้ว) ก็ดี นามรูป (ที่นอก จาก 2 อย่างนั้น) ก็ดี ทั้งหมดนี้ย่อมดับสนิทในที่ไหน. พระองค์อันข้าพเจ้าถามแล้ว ขอจงตรัสบอกที่ดับนี้ (แก่ข้าพระองค์)1 1. ขุ. สุ. 25/1043/532, ขุ. จูฬ. 30/5/34 พระผู้มีพระภาคบอกว่า ดูก่อนอชิตะ เราจะตอบปัญหาที่ถามนั้นแก่เธอ. นามและรูปย่อมดับสนิทอย่างไม่เหลือในที่ใด หมู่นามรูปทั้งปวงนี้ย่อมดับสนิทด้วยการดับแห่งวิญญาณในที่นั้น2 2. ขุ. สุ. 25/1044/532, ขุ. จูฬ. 30/6/35 พระอชิตะนี้ย่อมถามถึงอนุสนธิ (การสืบต่อ) ในปัญหา. เมื่อถามอนุสนธิ ชื่อว่า ถามอะไร ? ถามถึงอนุปาทิเลสนิพพานธาตุ (นิพพานที่ไม่มีวิบากนามขันธ์กฎัตตารูปเหลืออยู่) อนึ่งสัจจะ 3 คือ ทุกขสัจจะ, สมุทัยสัจจะ, มรรคสัจจะ เป็นสังขตะ (ถูกปัจจัยปรุงแต่ง) มีความดับเป็นธรรมดา ส่วนนิโรธสัจจะ ชื่อว่า อสังขตะ (ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง) ในบรรดาสัจจะเหล่านั้น สมุทัยสัจจะถูกละในภูมิ 2 คือ ทัสสนภูมิ และภาวนาภูมิ. โสดาปัตติมรรคละ สังโยชน์ 3 คือ สักกายทิฏฐิ, วิจิกิจฉา, สีลัพพตปรามาส. มรรคเบื้องบน 3 ละสังโยชน์ 7 คือ กามฉันท์, พยาบาท, รูปราคะ, อรูปราคะ, มานะ, อุทธัจจะ, และ อวิชชา อย่างไม่มีเหลือ. ในธาตุ 3 (กามภูมิ, รูปภูมิ, อรูปภูมิ) มีสังโยชน์ 10 คือ สังโยชน์เบื้องต่ำ (โอรัมภาคิยะ) 5, สังโยชน์เบื้องสูง (อุทธัมภาคิยะ) 5 [12] ในบรรดาโอรัมภาคิยสังโยชน์ 5 และ อุทธัมภาคิยสังโยชน์เหล่านั้น สังโยชน์ 3 คือ สักกายทิฏฐิ, วิจิกิจฉา, สีลัพพตปรามาส ถึงอนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์แล้วย่อมดับ. สังโยชน์ 7 คือ กามฉันท์, พยาบาท, รูปราคะ, อรูปราคะ, มานะ, อุทธัจจะ และอวิชชา ถึงอัญญินทรีย์แล้วย่อมไม่มีเหลือ. อนึ่ง อรหัตตผลญาณ อันเป็นเหตุ (ของปัจจเวกขณญาณ) ให้รู้อย่างนี้ว่า “เราสิ้นการเกิดแล้ว” ชื่อว่า ขยญาณ. อรหัตตผลญาณ อันเป็นเหตุให้รู้โดยประกาศอย่างนี้ว่า “กิจคือการเจริญมรรคอย่างอื่นเพื่อประโยชน์แก่มรรคกิจ 16 ประการอย่างนี้ ย่อมไม่มีเหลือแก่เรา” ชื่อว่า อนุปปาทญาณ. ญาณทั้ง 2 เหล่านี้ ชื่อว่า อัญญาตาวินทรีย์ ในบรรดาอินทรีย์เหล่านั้น อินทรีย์เหล่านี้ คือ อนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์ และ อัญญินทรีย์ ย่อมดับแก่บุคคลผู้บรรลุอรหัตตผลซึ่งเป็นผลอันเลิศ ในบรรดาญาณเหล่านั้น ญาณทั้ง 2 เหล่านี้ คือ ขยญาณ และปนุปปาทญาณ เป็นอรหัตตผลปัญญาอันเดียวกัน ถึงแม้จะเป็นอรหัตตผลปัญญาอันเดียวกันก็ได้ชื่อ 2 อย่าง โดยชื่ออารมณ์ คือ ขยะ และ อนุปปาทะ. อรหัตตผลปัญญาของบุคคลผู้รู้ว่า “เราสิ้นการเกิดแล้ว” ได้ชื่อว่า ขยญาณ. ส่วนอรหัตตผลปัญญาของบุคคลผู้รู้ว่า “กิจคือการเจริญมรรคอื่นเพื่อประโยชน์แก่มรรคกิจ 16 ประการอย่างนี้ ย่อมไม่มีแก่เรา” ได้ชื่อว่า อนุปปาทญาณ. ปัญญาที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ด้วยกิจคือการปิดกั้นกระแสทั้งหลายนั้น ชื่อว่า ปัญญา ด้วยสภาพที่รู้โดยประการต่าง ๆ. สติที่พระองค์ตรัสไว้ด้วยกิจ คือการป้องกันกระแสทั้งหลายนั้น ชื่อว่า สติ ด้วยสภาพที่ไม่เลื่อนลอยหลงลืมอารมณ์ที่รับแล้วนั้น ๆ [13] ในบรรดาธรรมเหล่านั้น อุปาทานขันธ์ 5 ชื่อว่า นามรูป. ในบรรดาอุปาทานขันธ์ 5 เหล่านั้น หมู่ธรรมอันมีผัสสะเป็นที่ 5 ชื่อว่า นาม. อินทรีย์ 5 ที่เป็นรูป ชื่อว่า รูป. นามรูปทั้ง 2 นั้น สัมปยุตกับวิญญาณ. พระอชิตะเมื่อจะถามพระผู้มีพระภาคถึงการดับวิญญาณและนามรูปนั้น ได้กล่าวคาถาในปารายนสูตร อย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ปัญญาและสติ (ที่พระองค์ตรัสแล้ว) ก็ดี นามรูป (ที่นอกจาก 2 อย่างนั้น) ก็ดี ทั้งหมดนี้ย่อมดับสนิทในที่ไหน พระองค์อันข้าพระองค์ถามแล้ว ขอจงทรงตรัสบอกที่ดับนี้ (แก่ข้าพระองค์)1 1. ขุ. สุ. 25/1043/532, ขุ. จูฬ. 30/5/34 ในบรรดาธรรมที่กล่าวไว้ในคาถาปุจฉานั้น สติ และ ปัญญา จัดเป็นอินทรีย์ 4 สติ เป็นอินทรีย์ 2 คือ สตินทรีย์ และ สมาธินทรีย์. ปัญญา เป็นอินทรีย์ 2 คือ ปัญญินทรีย์ และ วิริยินทรีย์. ในบรรดาอินทรีย์ 4 เหล่านี้ การเชื่อผลของกรรม และความเชื่อที่หยั่งลงในพระรัตนตรัย ชื่อว่า สัทธินทรีย์ จิตเตกัคคตาที่มีศรัทธาเป็นใหญ่ ซึ่งเป็นไปในอินทรีย์เหล่านั้น ชื่อว่า ฉันทสมาธิ (สมาธิที่ทำฉันทะให้เป็นใหญ่) ฉันทสมาธินี้ ชื่อว่า วิกขัมภนปหาน เพราะเมื่อจิตตั้งมั่นแล้วก็ทำลายกิเลสทั้งหลาย โดยการข่มไว้ด้วยอำนาจการพิจารณาเนือง ๆ และด้วยอำนาจการเจริญกรรมฐาน. ในธรรมเหล่านั้น ลมหายใจออก หายใจเข้าก็ดี วิตกและวิจารก็ดี สัญญาและเวทนาก็ดี ธรรมที่โยคีบุคคลระลึกนึกถึง (โดยความเป็นกิจอย่างหนึ่ง) ก็ดี ชื่อว่า สังขาร. ฉันทสมาธิที่เรียกว่า วิกขัมภปหาน เพราะการข่มกิเลส ซึ่งกล่าวไว้ข้างต้นเช่นนั้นก็ดี วิริยสังขารเหล่านี้ก็ดี ทั้ง 2 อย่างนั้น ย่อมอบรมอิทธิบาทที่ประกอบด้วยฉันทสมาธิ และวิริยสังขาร ย่อมอบรมอิทธิบาทที่อาศัยวิเวก, อาศัยวิราคะ, อาศัยนิโรธ และแก่กล้าเพื่อประโยชน์แก่ปริจจาคโวสสัคคะและปักขันทนโวสสัคคะ.1 ในบรรดาธรรมเหล่านั้น จิตเตกัคคตา ที่มีวิริยะเป็นใหญ่ ชื่อว่า วิริยสมาธิ (สมาธิที่ทำวิริยะให้เป็นใหญ่) ... ในบรรดาธรรมเหล่านั้น จิตเตกัคตาที่มีจิตเป็นใหญ่ ชื่อว่า จิตตสมาธิ (สมาธิที่ทำจิตให้เป็นใหญ่). ในบรรดาธรรมเหล่านั้น จิตเตกัคคตาที่มีวิมังสาเป็นใหญ่ ชื่อว่า วีมังสาสมาธิ (สมาธิที่ทำวิมังสาให้เป็นใหญ่) วีมังสาสมาธินี้ ชื่อว่า วิกขัมภนปหาน เพราะเมื่อจิตตั้งมั่นแล้วก็ทำลายกิเลสทั้งหลาย โดยการข่มไว้ด้วยอำนาจการพิจารณาเนือง ๆ และด้วยอำนาจการเจริญกรรมฐาน ในธรรมเหล่านั้น ลมหายใจออก ลมหายใจเข้าก็ดี วิตกและวิจารก็ดี สัญญาและเวทนาก็ดี ธรรมที่ใยดีบุคคลระลึกนึกถึง (โดยความเป็นกิจอย่างหนึ่ง) ก็ดี ชื่อว่า สังขาร. วีมังสาสมาธิที่เรียกว่า วิกขัมภนปหาน เพราะข่มกิเลสที่กล่าวไว้ข้างต้นเช่นนั้นก็ดี สังขารเหล่านี้ก็ดี ทั้ง 2 อย่างนั้น ย่อมอบรมอิทธิบาทที่ประกอบวีมังสาสมาธิและวิริยสังขาร ย่อมอบรมอิทธิบาทที่อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ, อาศัยนิโรธ และแก่กล้าเพื่อประโยชน์แก่ปริจาคโวสสัคคะ และปักขันทนโวสสัคคะ 1 ในที่นี้ วิเวก มี 3 คือ ตทังควิเวก (สงบกิเลสชั่วขณะ) สมุจเฉทวิเวก (สงบกิเลสเด็ดขาด) และนิสสรณวิเวก (สงบกิเลสโดยการพ้นออกไป). วิราคะ มี 3 คือ ตทังควิราคะ (สำรอกกิเลสชั่วขณะ) สมุจเฉทวิราคะ (สำรอกกิเลสเด็ดขาด) และนิสสรณวิราคะ (สำรอกกิเลสโดยการพ้นออกไป). นิโรธมี 3 คือ ตทังคนิโรธ (ดับกิเลาชั่วขณะ) สมุจเฉนิโรธ (ดับกิเลสเด็ดขาด) และนิสสรณนิโรธ (ดับกิเลสโดยการพ้นออกไป). ปริจจาคโวสสัคคะ คือ การละกิเลสด้วย ตทังคปหานในขณะวิปัสสนา ละสมุจเฉทปหานในขณะแห่งมรรค. ปักขันทนโวสสัคคะ คือ การแล่นไปสู่นิพพานโดยการน้อมไปนิพพานในขณะวิปัสสนา และโดยการทำให้เป็นอารมณ์ในขณะแห่งมรรค [ 14 ] อิทธิบาทสมาธิทั้งปวง มีญาณเป็นมูล มีญาณนำหน้า คล้อยตามญาณ. (อิทธิบาทสมาธิ) คล้อยตามญาณในภพก่อนฉันใด ย่อมคล้อยตามญาณในภพหลัง (ภพที่เป็นอนาคต) ฉันนั้น. คล้อยตามญาณใน 7 วันหลัง (ที่เป็นอนาคต) ฉันใด ย่อมคล้อยตามญาณใน 7 วันก่อน (ที่เป็นอดีต) ฉันนั้น. คล้อยตามญาณในกลางวันฉันใด ย่อมคล้อยตามทิพพจักขุญาณในกลางคืนฉันนั้น. คล้อยตามทิพพจักขุญาณในกลางคืนฉันใด ย่อมคล้อยตามทิพพจักขุญาณในกลางวัน ฉันนั้น1 1. ขุ. เณร. 26/397/331 ย่อมอบรมจิตที่มีความสว่างด้วยจิตอันเปิดออก ไม่ถูกกิเลสพัวพ้นอย่างนี้. เมื่อจิตที่เกิดขึ้น อินทรีย์ 5 ที่เป็นกุศล เป็นไปร่วมกับจิตที่เกิดขึ้น. เมื่อจิตดับก็ดับด้วย แม้นามรูปที่มีวิญญาณเป็นเหตุ ก็เกิดเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย เหตุ (มี ตัณหา อวิชชา เป็นต้น) ของวิญญาณนั้นย่อมขาดไปด้วยมรรค วิญญาณที่ไม่มีเหตุ (ขาดเหตุ) ไม่มีความยินดีในอารมณ์ก็ทำให้ปฏิสนธิเกิดไม่ได้ จึงดับไปแม้นามรูปที่ไม่มีเหตุ (คือ วิญญาณ) ไม่มีปัจจัย (คือ วิญญาณ) ก็ไม่ทำให้ภพใหม่เกิดขึ้น ปัญญา สติ และ นามรูป ย่อมดับไปเพราะวิญญาณดับโดยนัยที่กล่าวมาฉะนี้ เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า (ดูก่อนอชิตะ) เราจะตอบปัญหาที่ถามนั้นแก่เธอ นาม และรูปย่อมดับสนิทอย่างไม่เหลือในที่ใด หมู่นามรูปทั้งปวง ย่อมดับสนิทด้วยการดับแห่งวิญญาณในที่นั้น2 2. ขุ. สุ. 25/1044/532, ขุ. จูฬ. 30/6/35 พระอชิตะทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ บุคคลที่มีธรรมอันพิจารณาแล้วโดยความไม่เที่ยงเป็นต้น และบุคคลที่ยังต้องศึกษาศีลสิกขาเป็นต้น มีอยู่มากในโลกนี้ พระองค์ผู้เป็นบัณฑิตอันข้าพระองค์ถามแล้ว ขอจงตรัสบอกข้อปฏิบัติของบุคคลเหล่านั้น แกข้าพระองค์ 1 1 ขุ. สุ. 25/1045/532 [ 15 ] ประโยชน์เหล่านั้นมีปัญหา 3 ข้อ. เพราะเหตุไรจึงมีปัญหา 3 ข้อ ? เพราะประกอบคำถาม (ตั้งคำถาม) เกี่ยวกับเสกขบุคคล อเสกขบุคคล และการละกิเลสที่มีวิปัสสนานำหน้า ดังคำที่พระอชิตะกล่าวไว้เช่นนั้น ท่านถามถึงความเป็นอรหันตบุคคลด้วยคำว่า “เย จ สงฺขาตธมฺมา เส (บุคคลที่มีธรรมอันพิจารณาแล้วโดยความไม่เที่ยงเป็นต้น)”. ถามถึงเสกขบุคคลด้วยคำว่า “เย จ เสกฺขา ปุถู อิธ (และบุคคลที่ยังต้องศึกษาศีลสิกขาเป็นต้น)”. ถามถึงการละกิเลสที่มีวิปัสสนานำหน้าด้วยคำว่า “เตสํ เม นิปโก อิริยํ, ปุฏฺโฐ ปพฺรูหิ มาริส (พระองค์ผู้เป็นบัณฑิตอันข้าพระองค์ถามแล้ว ขอจงตรัสบอกข้อปฏิบัติของบุคคลเหล่านั้นแก่ข้าพระองค์)”. คำวิสัชนาในปัญหา 3 ข้อนั้น พึงทราบดังนี้ :- พระผู้มีพระภาคตรัสว่า (ดูก่อนอชิตะ) เสกขบุคคลไม่พึงติดในวัตถุกามทั้งหลาย, พึงเป็นผู้มีใจไม่มัวหมอง (ด้วยกิเลส), อเสกขบุคคลผู้ฉลาดในธรรมทั้งปวง มีสติสมบูรณ์ พึงเป็นผู้ถึงภาวะอันประเสริฐดำรงอยู่ 2 2 ขุ. สุ. 25/1046/532, ขุ. จูฬ. 30/8/38 กายกรรมทั้งปวง, วจีกรรมทั้งปวง, มโนกรรมทั้งปวงของพระผู้มีพระภาค มีญาณนำหน้า คล้อยตามญาณ ทรงมีญาณทัสสนะ (การเห็นด้วยญาณ) ที่ไม่ติดขัดในส่วนอดีต อนาคต และ ปัจจุบัน ก็ความขัดข้องแห่งญาณทัสสนะจะมีในอารมณ์ไรเล่า ? ความไม่รู้ไม่เห็นในอนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา เป็นความขัดข้องแห่งญาณทัสสนะ เปรียบเหมือนคนในโลกนี้ เห็นดวงดาวทั้งหลายได้ แต่ไม่สามารถนับดวงดาวเหล่านั้นได้. นี้เป็นความขัดข้องแห่งญาณทัสสนะ. ส่วนพระผู้มีพระภาคทรงมีญาณทัสสนะอันไม่ติดขัด. แท้จริงพระพุทธเจ้าผู้มีบุญญาธิการทั้งหลาย ทรงมีญาณทัสสนะอันไม่ขัดข้อง. ในบรรดาเสกบุคคล และอเสกขบุคคลเหล่านั้น เสกขบุคคลพึงรักษาจิตในธรรม 2 อย่าง คือ รักษาจิตไม่ให้ติดในอารมณ์ที่น่ายินดี และไม่ให้ขัดเคืองในอาฆาตวัตถุที่ชวนประทุษร้าย. ในบรรดาความยินดีและความขัดเคืองเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเมื่อจะทรงห้ามความอยากได้ ความลุ่มหลง ความปรารถนา ความรักใคร่ ความสนุกสนาน จึงตรัสอย่างนี้ว่า “กาเมสุนาภิคิชเฌยฺย (ไม่พึงติดในวัตถุกามทั้งหลาย)”. พระองค์ตรัสการทำลายปริยุฏฐานกิเลสด้วยคำว่า “มนสานาวิโล สิยา (พึงเป็นผู้มีใจไม่มัวหมอง)”. จริงอย่างนั้น เสกขบุคคลเมื่อติด (ในอารมณ์ที่น่ายินดี) ย่อมก่อกิเลสที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น และทำกิเลสที่เกิดแล้วให้เจริญขึ้น. ส่วนเสกขบุคคลใดมีความดำริที่สะอาดหมดจด ไม่ติด (ในอารมณ์ที่น่ายินดี) ย่อมขวนขวาย. (ขวนขวายอย่างไร ? ). เสกขบุคคลนั้นยังกุศลฉันทะให้เกิดขึ้น ขวนขวาย เพียรพยายาม ประคองจิต รักษาจิต เพื่อไม้ให้บาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดนั้นเกิดขึ้น. เสกขบุคคลนั้นยังกุศลฉันทะให้เกิด ขวนขวาย เพียรพยายาม ประคองจิต รักษาจิต เพื่อให้กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วตั้งมั่น ไม่เสื่อมสูญ เพิ่มพูน แผ่ขยาย เจริญงอกงาม บริบูรณ์ [ 16 ] บาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เป็นไฉน ? คือ กามวิตก, พยาบาทวิตก, วิหิงสาวิตก. เหล่านี้ชื่อว่าบาปอกุศลที่ยังไม่เกิด. บาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วเป็นไฉน ? คือ อกุศลมูลทั้งหลายที่เป็นอนุสัย. เหล่านี้ชื่อว่าบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว. กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เป็นไฉน ? คือ อินทรีย์ทั้งหลายมีสัทธาเป็นต้น ของโสดาบันบุคคล. เหล่านี้ชื่อว่ากุศลธรรมที่ยังไม่เกิด. กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นไฉน ? คือ มรรคอินทรีย์ทั้งหลายของบุคคลผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค ที่ปฏิบัติเพื่อให้แจ้งประจักษ์โสดาปัตติผล. เหล่านี้ชื่อว่ากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว. ในบรรดาอินทรีย์ที่ป้องกันกามวิตก ชื่อว่าสตินทรีย์. อินทรีย์ที่ป้องกันพยาบาทวิตก ชื่อว่า สมาธินทรีย์. อินทรีย์ที่ป้องกันวิหิงสาวิตก ชื่อว่า วิริยินทรีย์. อินทรีย์ที่ละทำให้หาย ทำให้สิ้น ทำให้ไม่เกิดอีก ทำให้ตั้งอยู่ไม่ได้ ซึ่งบาปอกุศลธรรมทั้งหลาย ชื่อว่า ปัญญินทรีย์. ความเชื่อ ความเลื่อมใส ในอินทรีย์ทั้ง 4 เหล่านี้ ชื่อว่า สัทธินทรีย์ ในบรรดาอินทรีย์เหล่านนั้น พึงทราบ (จดจำ) สัทธินทรีย์ได้ในที่ไหน ? ในเหตุแห่งการถึงกระแส คือ กุศล. พึงทราบวิริยินทรีย์ได้ในที่ไหน ? ในสัมมัปปธาน 4. พึงทราบสตินทรีย์ได้ในที่ไหน ? ในสติปัฏฐาน 4. พึงทราบสมาธินทรีย์ได้ในที่ไหน ? ในฌาน 4. พึงทราบปัญญินทรีย์ได้ในที่ไหน ? ในอริยสัจ 4. เสกขบุคคลผู้ไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งปวงอย่างนี้ อันพระผู้พระภาคตรัสแล้ว โดยความเป็นผู้ไม่มีใจมัวมอง เพราะฉะนั้นพระองค์จึงตรัสว่า “มนสา นาวิโล สิยา (พึงเป็นผู้มีใจไม่มัวหมอง)” [ 17 ] ในคำว่า “กุสโล สพฺพธมฺมานํ (อเสกขบุคคลเป็นผู้ฉลาดในธรรมทั้งปวง)” นี้ชื่อว่า โลก มี 3 อย่าง คือ กิเลสโลก, ภวโลก และ อินทรีย์โลก. ในบรรดาโลก 3 อย่างนั้น ภวโลกเกิดขึ้นมาด้วยกิเลสโลก. บุคคลผู้ตั้งอยู่ในมหัคคตธรรมนั้นย่อมยังอินทรีย์ มีสัทธา เป็นต้นให้เกิดขึ้น. เมื่อผู้นั้นเจริญอินทรีย์ มี สัทธา เป็นต้นแล้ว ย่อมมีการกำหนดรู้ธรรมที่ควรรู้. ปริญญา (การกำหนดรู้) นั้น ควรพิจารณาโดย 2 ประการ คือ ทัสสนปริญญา (ญาตปริญญา) และ ภาวนาปริญญา (ตีรณปริญญา). ขยายความว่าในเวลาที่เสกขบุคคลกำหนดธรรมที่ควรรู้นั้น ธรรมที่ควรรู้ก็เป็นอันกำหนดรู้แล้วด้วยสัญญามนสิการ อันเป็นไปพร้อมด้วยความเบื่อหน่าย. เสกขบุคคลนั้นย่อมได้รับวิปัสสนาธรรม 2 อย่าง ที่ถึงความฉลาด ซึ่งเป็นทัสสนโกสัลละ กล่าวคือ ปฐมมรรคญาณ และเป็นภาวนาโกสัลละ กล่าวคือ มรรคญาณเบื้องบน. พึงทราบว่าญาณนั้นมี 5 ประการ คือ อภิญญา ปริญญา ปหาน ภาวนา และ สัจฉิกิริยา. ในบรรดาญาณเหล่านั้น อภิญญาเป็นไฉน ? ญาณในการกำหนดรู้ลักษณะของธรรมทั้งหลาย คือ ธรรมปฏิสัมภิทา และ อรรถปฏิสัมภิทา ชื่อว่า อภิญญา. ในบรรดาญาณเหล่านั้น ปริญญาเป็นไฉน ? การกำหนดรู้ว่า “นี้เป็นกุศล, นี้เป็นอกุศล, นี้เป็นโทษ, นี้ไม่มีโทษ, นี้เป็นธรรมดำที่เศร้าหมอง, นี้เป็นธรรมขาวสะอาดหมดจด, สิ่งนี้ควรเสพ, สิ่งนี้ไม่ควรเสพ, ธรรมเหล่านี้ที่บุคคลถือเอาโดยลักษณะอย่างนี้ (มี อนิจจะ เป็นต้น) แล้วทำให้เกิดผล (มี อุทยัพพยะ เป็นต้น) นี้การรู้สัจจะทั้งหลายนี้ แห่งอุทยัพพยะเป็นต้นเหล่านั้น ซึ่งบุคคลถือเอาอย่างนี้เป็นผล” แห่งบุคคลผู้รู้อย่างนี้แล้วดำรงอยู่ นี้ชื่อว่า ปริญญา. ธรรม 3 อย่าง คือ ธรรมอันควรละ ธรรมอันควรเจริญ และ ธรรมอันควรทำให้แจ้งประจักษ์ ย่อมเหลือแก่บุคคลที่กำหนดรู้อย่างนี้แล้วดำรงอยู่. ในบรรดาธรรม 3 ประการเหล่านั้น ธรรมที่ควรละเป็นไฉน ? คือ อกุศล. ในบรรดาธรรม 3 ประการเหล่านั้น ธรรมที่ควรเจริญเป็นไฉน ? คือ กุศล. ในบรรดาธรรม 3 ประการเหล่านั้น ธรรมอันควรทำให้แจ้งประจักษ์เป็นไฉน ? คือ นิพพานอันเป็นอสังขตธรรม. บุคคลที่รู้อย่างนี้ ท่านเรียกว่า ผู้ฉลาดในอรรถ ผู้ฉลาดในบาลี ผู้ฉลาดในความเป็นคนดี ผู้ฉลาดในความเป็นอรหัตตผล ผู้ฉลาดในความเจริญ ผู้ฉลาดในความเสื่อม ผู้ฉลาดในฐานุปปัตติเหตุ (เหตุที่เกิดขึ้นโดยฐานะอันสมควร) ผู้สมบูรณ์ด้วยความเป็นผู้ฉลาดอันประเสริฐ เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “กุสโล สพฺพธมฺมานํ (อเสกขบุคคลเป็นผู้ฉลาดในธรรมทั้งปวง)” เป็นต้น ส่วนคำว่า “สโต ภิกฺขุ ปริพฺพเช (มีสติสมบูรณ์ พึงเป็นผู้ถึงภาวะอันประเสริฐดำรงอยู่)” ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะอยู่ ในเวลาก้าวไปข้างหน้า ถอยกลับข้างหลัง แลดู เหลียวดู คู้ เหยียด ครองสังฆาฏิบาตรและจีวร ฉัน ดื่ม ขบเคี้ยว ลิ้มรส ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ เดิน ยืน นอน ตื่น พูด อยู่นิ่ง ๆ. พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตข้อปฏิบัติ 2 อย่างนี้ คือ ข้อปฏิบัติอันหนึ่ง สำหรับบุคคลผู้หมดจดแล้ว ข้อปฏิบัติสำหรับบุคคลที่กำหลังหมดจดอยู่. บุคคลเหล่าไหนชื่อว่าหมดจดแล้ว คือ พระอรหันต์ทั้งหลาย. บุคคลเหล่าไหนชื่อว่ากำลังหมดจด คือ พระเสกขะทั้งหลาย. แท้จริงอินทรีย์ทั้งหลายของพระอรหันต์กระทำกิจเสร็จแล้ว. ธรรมที่ควรรู้มี 4 ประการ โดยอภิสมัย คือ การกำหนดรู้ทุกขสัจจะ อภิสมัย คือ การละสมุทัยสัจจะ อภิสมัย คือ การเจริญมรรคสัจจะ และ อภิสมัย คือ การทำให้แจ้งประจักษ์นิโรธสัจจะ บุคคลที่รู้สัจจะที่ควรรู้ 4 อย่างเช่นนี้ ท่านเรียกว่าเป็นผู้มีสติก้าวไปข้างหน้า เป็นผู้มีสติถอยกลับหลัง เพราะสิ้นราคะ สิ้นโทสะ สิ้นโมหะ เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “สโต ภิกฺขุ ปริพฺพเช (มีสติสมบูรณ์ พึงเป็นผู้ถึงภาวะอันประเสริฐดำรงอยู่)”. เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า (ดูก่อนอชิตะ) เสกขบุคคลไม่ควรติดในวัตถุกามทั้งหลาย, ควรเป็นผู้มีใจไม่มัวหมอง, อเสกขบุคคลฉลาดในธรรมทั้งปวง มีสติสมบูรณ์ พึงเป็นผู้ถึงภาวะอันประเสริฐดำรงอยู่ 1 พึงปุจฉาอย่างนี้ พึงวิสัชนาอย่างนี้ พึงนำมาซึ่งสุตตันตเทศนาอื่นอันสมควร แก่สังวัณเณตัพพสูตร โดยอรรถและศัพท์. จริงอย่างนั้นศัพท์ที่ปราศจากอรรถ เป็นถ้อยคำที่ไม่มีประโยชน์ แม้อรรถของบทวากยะที่ตั้งไว้ไม่ดีก็รู้ได้ยาก2 1. ขุ. สุ. 25/1046/532, ขุ. จูฬ. 30/8/38 2. องฺ. ทุก 20/20/58 เพราะฉะนั้นควรสังคายนาสูตรที่สมบูรณ์ด้วยอรรถและสภาวนิรุตติ และควรเลือกเฟ้นสูตร. สูตรนี้คือสูตรอะไร ? ควรเลือกเฟ้นสูตรอย่างนี้ คือ สูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เอง สูตรที่สาวกทั้งหลายกล่าวไว้ สูตรที่มีอรรถอันรู้ได้โดยตรง สูตรที่มีอรรถอันนำคำอื่นมาอธิบายแล้วจึงรู้ได้ สูตรที่เป็นส่วนสังกิเลส, สูตรที่เป็นส่วนวาสนา, สูตรที่เป็นส่วนนิพเพธะ, สูตรที่เป็นส่วนอเสกขะ. พึงตรวจดูสัจจะทั้งหลายของสูตรนี้ในที่ไหน ? พึงตรวจดูในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด. พึงเลือกเฟ้นสูตรอย่างนี้ เพราะฉะนั้น พระมหากัจจายนเถระจึงกล่าวว่า “ยํ ปุจฺฉิตญฺจ วิสฺสชฺชิตญฺจ, สุตฺตสฺส ยา จ อนุคีติ (การพิจารณาคำถามก็ดี การพิจารณาคำตอบก็ดี การพิจารณาการกล่าวโดยสมควรกับคำถามของสูตรก็ดี)” วิจยหาระ ท่านยกจากพระบาลีมาประกอบแล้ว 3. ยุตติหารวิภังค์ |